เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่ม 0.5% เดือนม.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% และสูงกว่าเมื่อเดือนธ.ค. ที่เพิ่มขึ้น 0.1%
ขณะที่เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 6.4% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2%
อัตราค่าเช่าบ้าน อาหาร และพลังงาน ที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ดันดัชนี CPI ให้เพิ่มขึ้น หลังจากเงินเฟ้อแสดงสัญญาณปรับตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
รายงานระบุว่าค่าเช่าบ้านและที่พักอาศัย ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ในดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนม.ค.เมื่อเทียบกับเดือนธค. และเพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 2% และ 8% ตามลำดับ ขณะที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 0.5% และ 10.1% ตามลำดับ
แม้การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าและอื่นๆ ได้บรรเทาลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ข้อมูลของเดือนม.ค.สะท้อนว่าเงินเฟ้อยังมีอยู่ในเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งที่ธนาคารกลาง (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยมา 8 ครั้งตั้งแต่เดือนมี.ค. 2565 ในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี
นักวิเคราะห์มองว่าดัชนี CPI ล่าสุดเปิดทางสำหรับการเข้มงวดนโยบายต่อไป แน่นอนว่าเฟดจะไม่ตัดสินใจด้วยรายงานเพียงชิ้นเดียว แต่ชัดเจนว่ามีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะไม่ลดลงเร็วมากพอที่เฟดคาดไว้
นักลงทุนในตลาดคาดหมายว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 2 นัดต่อไปในเดือนมี.ค.และพ.ค. อันจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีเวลามากพอประเมินผลกระทบโดยรวมทางเศรษฐกิจจากการคุมเข้มนโยบายการเงิน ก่อนตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร
จีนโวยสหรัฐขึ้นบัญชีดำ 6 องค์กร
กระทรวงพาณิชย์จีนคัดค้านการที่สหรัฐเพิ่ม 6 องค์กรของจีน เข้าไว้ในบัญชีดำทางการค้า หลังจากพบบอลลูนจีนเหนือน่านฟ้าสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและยิงตก
กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า จีนหวังว่าสหรัฐจะเลิกกดขี่องค์กรจีนอย่างไม่สมเหตุผล และดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ขององค์กรจีน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำองค์กรของจีน 6 แห่ง ประกอบด้วยบริษัท 5 แห่งและสถาบันวิจัย 1 แห่ง ในข้อหาให้การสนับสนุนความพยายามที่จะปรับปรุงกองทัพจีนให้ทันสมัย โดยเฉพาะโครงการอวกาศ ซึ่งรวมถึงเรือเหาะและบอลลูน
การขึ้นบัญชีดำจะทำให้องค์กรเหล่านี้ไม่สามารถจัดหาเทคโนโลยีจากสหรัฐ โดยรายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า บอลลูนจีนที่ถูกยิงตกในสหรัฐ มีชิ้นส่วนประกอบของชาติตะวันตก
สำหรับองค์กรที่ถูกคว่ำบาตรนั้น รวมถึงบริษัทปักกิ่ง หนานเจียง แอโรสเปซ เทคโนโลยี และสถาบันวิจัยลำดับที่ 48 ของไชนา อิเลกทรอนิกส์ เทคโนโลยี กรุป คอร์ปอเรชัน
โตโยต้าชู”เล็กซัส” นำทัพรถ EV เจนใหม่
ว่าที่ซีอีโอโตโยต้า เผยเตรียมปล่อยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ภายใต้แบรนด์ “เล็กซัส” ภายในปี 2569 อันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ใหม่ด้านการพัฒนา เพื่อเอาชนะปัญหาเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตรถอีวีที่ต้องใช้เวลาและต้นทุน
นอกจากนั้น โตโยต้ายังจะขยายไลน์รถอีวี ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยโตโยต้า bZ4X หรือรถในกลุ่มคอมแพ็ก ครอสโอเวอร์ SUV และ Subaru Solterra รถอีวีที่พัฒนาขึ้นบนแพลทฟอร์ม e-TNGA ของโตโยต้า โดยเล็กซัสยังไม่ได้เปิดตัว RZ 450e SUV ที่ใช้แพลทฟอร์มเดียวกัน
โคจิ ซาโตะ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานเล็กซัส จะเข้ารับหน้าที่ต่อจากอากิโอะ โตโยดะ ในฐานะประธานและซีอีโอโตโยต้าในวันที่ 1 เม.ย. ซาโตะระบุว่ายานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่นับว่ามีความสำคัญทางธุรกิจเป็นอันดับแรก และถึงเวลาที่เหมาะสมในการพัฒนารถอีวีภายใต้ทีมใหม่ทันทีที่เข้าทำหน้าที่ในเดือนเม.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
การเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากมีเสียงวิจารณ์ว่าโตโยต้า ล่าช้าในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยอาจยังพอใจกับความสำเร็จของรถใช้น้ำมันและรถไฮบริด ทั้งยังถูกดึงความสนใจไปที่การพัฒนายานยนต์พลังไฮโดรเจน ขณะที่บรรดาคู่แข่งเร่งขยายคอนเซปต์ของการออกแบบรูปร่างและขนาดตามความต้องการใช้งาน ไปยังผลิตภัณฑ์อื่นในไลน์ อย่างบริษัทจีเอ็มที่พัฒนา Ultium หรือระบบการจัดการแบตเตอรี่แบบไร้สายที่ได้รับการออกแบบให้สามารถปรับขนาดได้
ซาโตะระบุว่า โตโยต้าจะใช้ดำเนินท่าทีแบบ”รอบทิศทาง” อันสะท้อนว่าจะยังเดินหน้าธุรกิจไฮบริด ด้วยเหตุผลว่าอยากต่อติดกับลูกค้าทั่วโลกและนำเสนอทางเลือกที่หลากหลาย
“เวียดเจ็ต”เปิดขายตั๋ว 0 ด่อง
สายการบินเวียดเจ็ตแห่งเวียดนาม เปิดขายตั๋วหลายแสนใบ เริ่มต้นที่ราคา 0 ด่อง สำหรับเที่ยวบินตรงระหว่างนครโฮจิมินห์ซิตี้กับเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเปิดศักราชของการขยายเครือข่ายเที่ยวบิน ครอบคลุมทั้ง 5 ทวีปในปีนี้
การเปิดขายมีขึ้นในช่วง “โกลเดนวีค” ตั้งแต่วันที่ 14 -20 ก.พ. โดยตั๋วที่เริ่มต้นราคา 0 ด่องนั้นไม่รวมค่าภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ และเปิดขายทางเว็บไซต์ vietjetair.com รวมถึงบนแอป โดยมีระยะเวลาการบินตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 29 ต.ค. 2566
เที่ยวบินตรงเที่ยวแรกจากเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ไปยังเมลเบิร์น จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. โดยมีสัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน
ผู้โดยสารสามารถเลือกตั๋วหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ SkyBoss Business, Skyboss, Deluxe ไปจนถึง Eco ที่มาพร้อมบริการกระเป๋าโหลดใต้เครื่องได้ถึง 60 กก. , อาหารออร์แกนิก, ประกันการเดินทางฟรี และอื่นๆ
ญี่ปุ่นเสนอ “คาซูโอะ อุเอดะ” ผู้ว่าการบีโอเจ
รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอชื่อคาซุโอะ อุเอดะ นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลาง (บีโอเจ) คนใหม่ คาดเป็นที่จับตาของบรรดาผู้นำในแวดวงการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ ก่อนที่อุเอดะจะปรากฏตัวต่อสภาปลายเดือนนี้ เพื่อนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายการเงิน
หากอุเอดะได้รับการยืนยันหลังจากการเสนอชื่อ ก็จะรับหน้าที่เป็นเวลา 5 ปีต่อจากฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 เม.ย.หลังจากดำรงตำแหน่งมา 10 ปี
สำหรับผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรองผู้ว่าการบีโอเจ คือ เรียวโซะ ฮิมินะ อดีตผู้กำกับดูแลสำนักงานบริการการเงิน และชินิจิ อูชิดะ ผู้อำนวยการบริหารบีโอเจ
หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่าได้พิจารณาเลือกผู้ที่จะสามารถประสานการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับรัฐบาล ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจ ราคาสินค้า และสภาพทางการเงินที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพราะหลังจากวิกฤตการเงินโลกปี 2551 เป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นที่ผู้ว่าการบีโอเจต้องสามารถร่วมมือกับผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศอื่นๆ และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงเลือกอุเอดะ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ และมีความรู้กว้างขวางในเรื่องการเงิน
ขณะที่อุเอดะให้ความเห็นว่า นโยบายการเงินต้องอิงกับแนวโน้มเศรษฐกิจและราคาสินค้า ดังนั้นในขณะนี้จึงมีความจำเป็นต้องผ่อนคลายทางการเงินต่อไป
ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ไม่ได้ตกสู่ภาวะถดถอย แต่ดีดตัวขึ้นน้อยกว่าที่คาดไว้ ผลจากการลงทุนภาคธุรกิจซบเซา อันเป็นภารกิจที่ท้าทายธนาคารกลางในการค่อยๆ ผ่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ขยายตัว 0.6% เมื่อไตรมาส 4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้