HomeBT News“บัณฑูร ล่ำซำ” ซีอีโอหัวใจ “สตาร์ทอัพ”

“บัณฑูร ล่ำซำ” ซีอีโอหัวใจ “สตาร์ทอัพ”

อีกไม่นานแล้วที่ “บัณฑูร ล่ำซำ” ตำนานนายธนาคารไทยจะก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอ ธนาคารกสิกรไทย พร้อมส่งไม้ต่อให้ “ขัตติยา อินทรวิชัย” บริหารต่อ ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่กสิกรไทย เขาได้ฝากผลงานในฐานะผู้นำของวงการธนาคารไทยไว้จำนวนมาก

แม้ปี 2535 ซึ่งบัณฑูรนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของธนาคารกสิกรไทยครั้งแรกและต่อมาปี 2545 ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เวลานั้นวงการธุรกิจยังไม่รู้จักคำว่า “สตาร์ทอัพ” หรือฟินเทค แต่ บัณฑูร ถือเป็นซีอีโอที่มีแนวคิดแบบสตาร์ทอัพอย่างแท้จริงตั้งแต่สามสิบปีที่แล้ว

เริ่มด้วยแนวคิด “รีเอ็นจิเนียริ่ง” ในปี 2537 ที่มีแนวคิดสำคัญคือการรื้อโครงสร้างการบริหารเพื่อลดขั้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แท้จริงแล้วเป็นแนวคิดที่ใกล้เคียงกับหลักการ “Lean Startup” ของ Eric Ries นั่นคือการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้มีความกระชับ ลดความสูญเปล่า เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด

- Advertisement -

ขณะที่ปี 2548 กสิกรไทยได้เปิดยุทธศาสตร์ K Hero ซึ่งเป็นการผนึกรวมธุรกิจการเงินในเครือทั้งหกให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกันโดยให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นเครือข่ายหลักในการขายโปรดักต์การเงินของทั้งเครือ ผลคือรายได้จากค่าธรรมเนียมเติบโตขึ้นและเป็นต้นแบบให้ธนาคารอื่นๆใช้แนวคิดของการรวมกลุ่มการเงินในเวลาต่อมา

บริหารคนแบบสตาร์ทอัพ 

ในด้านการบริหารคน บัณฑูร ก็นำแนวคิดของ Agile Methodology ซึ่งเป็นหลักการบริหารแบบสตาร์ทอัพมาใช้โดยปี 2553 ได้แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการรวดเดียวกัน 4 คนถึงสองยุค คือยุคของกฤษดา ล่ำซำ ,ปรีดี ดาวฉาย,ธีรนันท์ ศรีหงส์ และ  สมเกียรติ ศิริชาติไชย และยุคที่สองในปี 2559 คือ ปรีดี ดาวฉาย รวมถึง พิพิธ เอนกนิธิ, พัชร สมะลาภา และ ขัตติยา อินทรวิชัย 

แนวคิดของ Agile Methodology คือการวางผังองค์กรในรูปแบบ “แนวระนาบ” นั่นคือมีผู้บริหารที่ต่างสายงานมาร่วมงานกัน โฟกัสกับภารกิจของตัวเอง และผู้นำในแต่ละส่วนมีอำนาจการตัดสินใจในตัวเอง ลดความล่าช้าในเรื่องขั้นตอนการบริหาร แต่ขณะเดียวกันต้องรายงานความคืบหน้าและสื่อสารการทำงานให้ทีมอื่นด้วย 

บัณฑูร ถือเป็นผู้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและไม่สามารถหาใครขึ้นมาเป็นผู้นำเดี่ยวได้ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดบริหารที่ล้ำ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เป็นที่รับรู้กันว่า บัณฑูร ได้ผันตัวไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดน่าน โดยย้ายสัมนาประชากรไปอยู่ที่จังหวัดเล็กๆแห่งนั้นตั้งแต่ปี 2553 แต่เขาไม่ได้มาเพียงแค่เปิดธุรกิจโรงแรม “น่านฟ้าภูคา” แต่ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนจังหวัดที่แทบไม่เคยได้รับความสนใจให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย

นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มแนวคิด “น่านแซนด์บ๊อกซ์” หรือโมเดลทดลองให้ภาครัฐและเอกชนของจังหวัดน่านมาแก้ไขพื้นที่ทำกินร่วมกัน ถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นที่หากประสบความสำเร็จก็จะนำไปต่อยอดในภาคปฎิบัติจริงต่อไป

ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพย่อมรู้จักคำว่า “แซนด์บ๊อกซ์” อยู่แล้ว คือแนวคิดของการทดลองทำสิ่งใหม่ร่วมกันระหว่างผู้ดูแลกับผู้อยู่อาศัย ถ้าในเชิงของสตาร์ทอัพก็คือหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยกับผู้ประกอบธุรกิจฟินเทค 

ไม่นับวิสัยทัศน์ของการนำธนาคารกสิกรไทยมุ่งหน้าสู่องค์กรด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว รองรับกระแสของ Digital Disruption ที่ถาโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้ง KBTG ขึ้นมารับผิดชอบงานด้าน Transformation องค์กร ,การนำ Big Data มาใช้ในธุรกิจ ตลอดจนการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพอย่างใกล้ชิด

แม้จะส่งไม้ต่อให้ “ขัตติยา อินทรวิชัย” นั่งซีอีโอในเร็วๆนี้ แต่ชื่อ “บัณฑูร ล่ำซำ” จะถูกจดจำในฐานะผู้นำองค์กรธุรกิจที่มีแนวคิดทันสมัยที่สุดคนหนึ่งของไทยอย่างแน่นอน 

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : เปิดเบื้องหลัง “ขัตติยา อินทรวิชัย” ซีอีโอ “หญิงเดี่ยว” รอบ 9 ปีของกสิกรไทย

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News