HomeBT NewsBusiness Today Thai Politics 14 กันยายน 2566 / ภาคบ่าย

Business Today Thai Politics 14 กันยายน 2566 / ภาคบ่าย


“นายกฯ” เข้ากราบสมเด็จพระสังฆราชเป็นศิริมงคลหลังรับตำแหน่ง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พวงเพ็ชร ชุนละเอียด เข้าเฝ้าถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม โดยนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงในเวลา 08.42 น. จากนั้นได้วางพวงมาลัย ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเดินเข้าสู่พระตำหนักอรุณ ถือเป็นธรรมเนียนประเพณีปฏิบัติของนายกรัฐมนตรีทุกคน หลังได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

- Advertisement -


ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ยังได้เดินทางต่อไปยังวัดไตรมิตรวิทยาราม เพื่อไปถวายเครื่องสักการะสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี จากนั้นจะเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นประธานการประชุมพิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณปี 2567

เมื่อนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ได้มีแฟนคลับ มารอมอบพวงมาลัย และพระหลวงพ่อทันใจให้นายกรัฐมนตรี พร้อมกล่าวให้กำลังใจว่า “ขอให้ท่านโชคดี และขออนุโมนาบุญด้วย”


“เศรษฐา” แจงจ่ายเงินเดือน 2 หนเป็นทางเลือกไม่บังคับ

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเตรียมจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวด ว่า ปัจจุบันจ่ายเดือนละหนเดียวการแบ่งจ่าย 2 หน เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของคนที่มีหนี้สิน สามารถจ่ายหนี้สินคืนได้เร็วขึ้นส่วนคนที่เป็นหนี้แบ่งจ่ายเป็น2งวดก็ได้


จริงๆ แล้วมีบางท่านบอกว่าเป็นเรื่องของกระแสเงินสด รัฐบาลมีปัญหา ไม่ใช่เลย เราจ่ายเร็วขึ้น จ่ายวันที่15 จ่ายทุกๆ ครึ่งเดือน แล้วก็จ่ายปลายเดือน ถ้าใครไม่มีหนี้ก็สามารถเอาไปทำประโยชน์อื่นได้ ไปลงทุน ฝากธนาคาร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงให้เป็นทางเลือก มันมีแต่เสมอตัวกับดีขึ้นผมเข้าใจครับว่า การที่เราเสนอทางเลือกใหม่ก็มีคนชอบและคนไม่ชอบ แต่ว่ารัฐบาลเราบริหารจัดการประเทศ โดยมีงบประมาณจำกัด เราคำนึงถึงทุกมิติของการออกนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตรงนี้” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า อะไรที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ ตรงนี้ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นแค่รีโปรแกรมใหม่เท่านั้นเองว่าจะจ่ายเงินเมื่อไหร่อย่างไร เราก็คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย มีหลายท่านโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เพิ่งเข้ามา ก็อาจจะมีปัญหาด้านภาระการเงิน หากต้องมีการแบ่งจ่าย ชักหน้าไม่ถึงหลังเท่านั้นเอง และทางกรมบัญชีกลางจะทำเป็นออฟชั่นให้เลือกว่าจะเอาแบบไหน เพราะฉะนั้น ตรงนี้ใจเย็นๆ นิดนึง เราก็มีการศึกษาและถามทุกระดับ

ผมก็หวังว่าหลายๆ บริษัทก็น่าจะไปลองให้เป็นทางเลือก ทางเลือกเป็นทางเลือกที่ดี ผมใช้คำนี้ดีกว่า พูดไปแล้วว่าเป็นทางเลือก ไม่ปรับครับ แบ่งจ่าย2หน หรือจะจ่ายหนเดียวก็ได้ ถ้าใครไม่ชอบก็อย่างเดียวก็ได้ ใครอยากได้2หนก็ได้ มันมีแต่ดีขึ้นกับเสมอตัว ถ้าไม่ชอบก็เอาแบบเก่าบางคนอยากได้จ่าย2หน ก็สามารถทำได้เรื่องจ่ายหนี้ครูก็สามารถแบ่งจ่าย2งวดได้เหมือนกันสามารถพูดคุยได้กับสถาบันการเงิน


“หมอมิงค์” แจงนายกฯให้ “ภูมิธรรม” คุมเกษตรฯไม่ใช่รอยร้าวรัฐบาล

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซต์ไทยแลนด์ ถึงกรณีการแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ใต้กำกับดูแลของภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แทนที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ


จนมีกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มีการสั่งรื้องานประมงเดิมของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ เพื่อหวังผลทางการเมืองกรณีIUU ให้รองนายกฯจากพลังประชารัฐ รับผลที่จะตามมา หากถูกลดอันดับและยังให้บางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำและที่ดินขึ้นกับรองนายกฯ จากเพื่อไทย ท่ามกลางการจับตากลุ่มร.อ.ธรรมนัส เตรียมย้ายไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ว่า คำสั่งแบ่งงานเป็นวาระสุดท้ายของการประชุมครม. เมื่อวานนี้ และเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่จะแบ่งให้รองนายกฯ คนใด มีการหารือกันมาแล้ว แต่ละพรรคโดยรัฐมนตรีก็มีการหารือในส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ทางพลังประชารัฐ ก็เป็นทางพรรคเขาจัดการมา

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เหตุผลที่พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ เพราะงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นเรื่องของยุทธศาตร์ เป็นเรื่องธรรมดา สมัยที่ตนทำงานกับนายทักษิณ ชินวัตรก็มีการข้ามกระทรวงกัน ไม่มีปัญหา เพราะเราเป็นรัฐบาลของประชาชน มีอะไรข้ามกันได้หมดแต่นี่เป็นเพียงแต่แบ่งที่จะดูแลกำกับ ถ้ามีอะไรที่ขัดข้องเราช่วยกันได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน เที่ยวนี้เรามีนโยบายชัดเจนจะแปลงพื้นที่มีกรรมสิทธิ์ให้เกษตรกร ในคณะทำงานก็มีระดับรัฐมนตรีรวมกันอยู่ ทิศทางต่างๆของนโยบายเราชัดเจน ดังนั้น เรื่องเกษตรที่ดิน และน้ำ เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการผลิต เราคิดว่าต้องให้รวมไปที่การดูแลการผลิตบวกกับกระทรวงพาณิชย์


“รทสช.” หวังค่าครองชีพลดตามนโยบาย “พีระพันธุ์” ลดราคาพลังงาน

อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลดค่าไฟฟ้า-น้ำมันว่า พรรครวมไทยสร้างชาติได้ประกาศนโยบายในการหาเสียงว่า จะลดค่าครองชีพประชาชน เมื่อได้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ในฐานะรมว.พลังงานได้เสนอนโยบายลดราคาเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าได้รับความเห็นชอบจากครม.ทางพรรครวมไทยสร้างชาติต้องขอบคุณครม.ที่ได้อนุมัติมาตรการที่นายพีระพันธุ์เสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน


อัครเดช กล่าวด้วยว่า จากนี้ไปก็ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมถึงภาคเอกชนทุกภาคส่วนได้ช่วยกันลดราคาสินค้าให้กับพี่น้องประชาชนด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เมื่อราคาน้ำมันดีเซลลดลงซึ่งถือเป็นต้นทุนในการขนส่ง ก็จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงด้วย กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนก็ต้อง ช่วยกันสนับสนุนการลดราคาสินค้าให้กับประชาชนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ มาตรการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และลดไฟฟ้าคงไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะทำ หลังจากนี้กระทรวงพลังงานยังมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนให้ได้ทุกกลุ่ม ตามที่นายพีระพันธุ์ได้ประกาศไว้ เช่น การช่วยเหลือเกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง นายพีระพันธุ์เพิ่งทำงานวันแรกหลังจากนี้จะทยอยมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเรื่อย ๆขอให้ประชาชน ติดตามมาตรการต่าง ๆที่รัฐบาลจะทยอยประกาศออกมา

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ต่อมาตรการดังกล่าวว่า รัฐบาลนี้มาจากประชาชน ผ่านการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศอะไรที่ได้หาเสียงไว้ก็ถือเป็นความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชน เมื่อแต่ละพรรคการเมืองได้เข้าไปบริหารในแต่ละกระทรวง ก็จะนำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไปขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ตระหนักดีว่า เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชนเอาไว้


“ภูมิธรรม” ตั้งคณะกรรมการเคลื่อนงานแก้รัฐธรรมนูญ

ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ตลอด 4 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 8 ร่าง แต่ที่สุดก็ไม่ผ่าน ในที่สุดไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และตัดสินว่าอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้อำนาจประชาชน ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องไปถามประชาชนก่อนถึงจะแก้ได้ ทางปฏิบัติจึงต้องถามประชาชนก่อนว่าจะแก้หรือไม่แก้ ซึ่งถ้าแก้จะแก้ด้วยกระบวนการแบบไหน อย่างไร ดังนั้นถ้าไม่เคลียร์ให้จบก่อน แต่ละกระบวนการค้างไม่คืบหน้า


รัฐบาลปัจจุบันยึดมั่นในพันธสัญญา อะไรที่พูดแล้วรับปากแล้วต้องทำให้ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมอบให้ตนดูแลเรื่องนี้ก็มีการประสานงานกันบ้างแล้ว และจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ โดยต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจะไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 1 และ 2 แต่ปัญหาที่มีอยู่คือเรื่องเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจในระบบประชาธิปไตย ได้มาอย่างไร และทำให้กระบวนการเอื้ออำนวยต่อการบริหารประเทศ ต่อการรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน

ภูมิธรรม กล่าวอีกว่า จะให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้มีความคิดเห็นที่หลากหลายในการช่วยกันคิดให้กระบวนการเดินหน้าไปได้ หาจุดที่พอดี ค่อยๆแก้ไปที่ละเปลาะ นำไปสู่การที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เราต้องเริ่มจากความเป็นจริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้แก้ได้ยาก ส่วนจะทำวิธีการไหน จะเป็นการประนีประนอมของทุกฝ่ายเพื่อแกะที่ละปม โดยหลังจากนี้จะเร่งตั้งคณะกรรมการที่มีมาจากทุกฝ่ายตามที่นายกฯได้สั่งการให้ดึงการมีส่วนร่วมของทุกคนเข้ามาและให้รายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News