“TIME” ยก “พิธา” ติด 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลอนาคต
นิตยสารไทม์ (TIME) เปิดเผยรายชื่อ “100 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต” ประจำปี 2023 โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่ ศิลปิน (Artist) ผู้สร้างปรากฏการณ์ (Phenoms) ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovators) ผู้นำ (Leaders) และผู้สนับสนุน-ผลักดันการเปลี่ยนแปลง

โดยในปี 2023 นี้พบว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ ขึ้นแท่น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพล หรือ “TIME100 Next 2023” โดย พิธาเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกในปีนี้
นิตยสารไทม์ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่าทึ่งกว่าชัยชนะอันล้นหลามจากการเลือกตั้งของพิธาเมื่อครั้งที่ผ่านมา คือความพยายามในการผลักดันประเด็นวาระต่างๆ ให้ถึงเป้าหมาย
พรรคก้าวไกลที่นำโดยพิธา ผู้เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้รับคะแนนเสียงกว่า 38 เปอร์เซ็นต์จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยมีนโยบายสำคัญอย่างการปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ทว่า เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของพรรคก้าวไกลกลับถูกขัดขวางโดยสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งความท้าทายทางกฎหมายอื่นๆ อีกมากมาย
“ครม.” ตั้ง “ภูมิธรรม” สร.2 ดูงานแทนนายกฯหลายด้าน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 229/2566 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ภูมิธรรม ถือเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 หรือ สร.2 ที่จะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีไม่อาจปฏิบัติราชการได้
โดยภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ กำกับดูแลงานในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
มีอำนาจในการลงนามเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย การสถาปนาพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ สมนศักดิ์ การแต่งตั้งในกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฏีกา ศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม เอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ กงสุล และกรรมการที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ การพระราชทานยศทหาร ตำรวจ ชั้นนายพล การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมศานุวงศ์และการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการประกาศใช้ความตกลงระหว่างประเทศ เรื่องที่สำคัญที่เคยมีประเพณีปฏิบัติให้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม
“เศรษฐา”ตั้ง “นลินี” เป็นผู้แทนการค้าไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552

นายกรัฐมนตรี จึง มีคำสั่งแต่งตั้ง นลินี ทวีสิน ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ นางนลินี ทวีสิน เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล
“ศิริกัญญา” ค้าน “เศรษฐา” แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวดต่อเดือน เริ่มใช้ต้นปีหน้า ว่า ตนเข้าใจว่า ก็อาจจะเป็นความหวังดี ที่อยากจะสร้างสภาพคล่องให้กับข้าราชการได้มีเงินเดือนออก 2 ครั้งต่อเดือน เหมือนในรูปแบบที่ตามโรงงานมักจะทำกัน คือ ออกเป็นรายสัปดาห์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่รีบออก และไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ที่ไม่มีเวลาเตรียมการอาจจะประสบปัญหาได้ เพราะต้องแลกระหว่างได้เงินก้อนกับสภาพคล่อง หลายคนอาจมีหนี้สินที่ต้องจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ในช่วงต้นเดือนอยู่แล้ว ต้องไปปรับตัว ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากกับข้าราชการค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกัน ตนก็คิดว่า ถ้าอยากจะช่วยข้าราชการจริงๆ สิ่งที่สามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ข้าราชการได้เลย คือ เรื่องตัดหน้าซองหนี้จะดีกว่า
ศิริกัญญา กล่าวว่า แต่ละคนมีหนี้สินไม่เหมือนกัน บางคนมีสหกรณ์ออมทรัพย์ เขาก็ยังให้สหกรณ์ตัดเขาทีละครึ่งได้ แต่หากเป็นหนี้สถาบันการเงิน เช่น การเช่าซื้อรถยนต์ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจ ดังนั้น หลายคนมีปัญหาแน่นอนว่าจะช็อตเงินกะทันหัน ถ้าเงินออกทีละครึ่งเดือน น่าจะทำให้เหลือเงินไม่พอที่จะใช้มากกว่าที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ตนขอให้ลองคิดทบทวน ซาวเสียงดูว่าข้าราชการตัวจริงคิดเห็นอย่างไร
“เศรษฐา” พบทูตฯญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือสองชาติทุกมิติ
นาชิดะ คาซูยะ (H.E. Mr. Nashida Kazuya) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความร่วมมือกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติอย่างเต็มที่ พร้อมหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการหารือกันระหว่างผู้นำระดับสูงมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีวางแผนเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก เพื่อจะได้หารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถึงความร่วมมือในทุกมิติ
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสอันดีในการหารือถึงแนวทางความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดและร่วมมือในทุกมิติและทุกระดับ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นพร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมประกาศเมื่อปี 2565 ในโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และพร้อมสานต่อความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมสีเขียว การเกษตร การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ สนามบิน รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันหารือเพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญของไทยมานาน ญี่ปุ่นจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยรัฐบาลมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ยินดีส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น พร้อมเชิญชวนญี่ปุ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และลงทุนในสาขาที่ญี่ปุ่นเชี่ยวชาญ
ด้าน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ กล่าวว่า การลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด จึงมุ่งหวังให้มีการกระชับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านการพบปะหารือหรือสัมมนาระหว่างผู้นำของไทยกับภาคเอกชนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ จึงขอเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit ณ กรุงโตเกียว ในปลายปีนี้ด้วย