ดัชนีผู้บริโภคดีขึ้นต่อเนื่อง คาดท่องเที่ยวฟื้นดันดัชนีพุ่งอีก
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีและพอใจผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.7 เป็น 56.7 โดยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น จะมีการใช้จ่าย และการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเมื่อพิจารณา ปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะพบว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท.วางเป้าหมายปี 2567 การท่องเที่ยวฟื้นตัว 100% เท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด คาดว่าจะสร้างรายได้รวมการ ท่องเที่ยว 3,098,606 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเชื่อมั่นว่า ปัจจัยดังกล่าวจะฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลเปิดช่องทางส่งออกปลาหิมะเพิ่มตลาดรับซื้อปลาหิมะไทย
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (11 กรกฎาคม 2566) มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้อธิบดีกรมประมง หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นผู้ลงนามในเอกสาร Letter of application for cooperating status และส่งให้คณะกรรมาธิการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตทางทะเลของมหาสมุทรแอนตาร์กติก (The Commission for the Conservation of Antarctic Marine Living Resources : CCAMLR)

โดยที่หนังสือจาก CCAMLR นี้เพื่อขอความร่วมมือให้ไทยพิจารณาเข้าร่วมเป็นประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกแต่ให้ความร่วมมือ (Cooperating Non – Contracting Party : CNCP) ผ่านการยื่นหนังสือแสดงความจำนงในการให้ความร่วมมือตามมาตรการอนุรักษ์ 10 – 05 (Conservation Measure 10 – 05) กำหนดให้จัดทำใบรับรองการจับสัตว์น้ำสำหรับปลาหิมะ และการบันทึกข้อมูลการนำเข้า – ส่งออกปลาหิมะ (Toothfish) ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของ CCAMLR เพื่อป้องกันยับยั้ง และขจัดการทำประมงปลาหิมะที่ผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และสามารถตรวจสอบย้อนกลับปลาหิมะได้
อินเตอร์เนชันแนลลีฟวิง จัดไทยติดท็อป 9 ประเทศ ค่าครองชีพเหมาะใช้ชีวิตหลังเกษียณปี 2023
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและยินดีที่นิตยสารอินเตอร์เนชันแนลลีฟวิง ที่เผยแพร่ดัชนีการเกษียณอายุทั่วโลกประจำปี ของประเทศเกษียณอายุชั้นนำจัดอันดับ ประเทศไทยติดกลุ่ม 9 ประเทศที่มีค่าครองชีพถูกเหมาะแก่การใช้ชีวิตหลังเกษียณปี 2023 ดังนี้ 1.โปรตุเกส 2.เม็กซิโก 3.ปานามา 4.เอกวาดอร์ 5.คอสตาริกา 6.สเปน 7.กรีซ 8.ฝรั่งเศส 9.อิตาลีและประเทศไทย

โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวในทวีปเอเชีย เคียงคู่กับประเทศอิตาลี ทั้งนี้ อินเตอร์เนชันแนลลีฟวิง ระบุว่าประเทศไทยไม่ได้เหมาะสมแค่กลุ่มวัยเกษียณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนที่อยากหาเมืองที่ถูกที่สุดเพื่ออยู่อาศัย แม้ไม่ต้องทำงานก็สามารถอยู่ได้สบายด้วย และยิ่งในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น อันเนื่องมาจากแรงหนุนทั้งจากภาคการผลิตและบริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง บวกกับการที่ประเทศมีทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางภูมิภาค จึงยิ่งเอื้อให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศมากขึ้นไปอีก
“วราวุธ” หนุนท่องเที่ยวรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Environment Situation for Tourism ในหลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 4 ประจำปี 2566 (Tourism Management Program for Executives: TME4) จัดโดยศูนย์พัฒนาวิชาการด้านตลาดการท่องเที่ยว (TAT Academy)

โดยมีผู้บริหารในแวดวงการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมรับฟัง ณ โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และผลกระทบของทรัพยากรธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งภาคการท่องเที่ยว เป็นภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล ต่างต้องพึ่งพาและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โอกาสและทางรอดของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน คือ การมุ่งสู่ความยั่งยืน ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจับมือกับหลายหน่วยงานในการยกระดับการท่องเที่ยวแบบลดโลกร้อน เพื่อเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวในตลาดสากล ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ คือ แนวทางที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยก้าวไปสู่ความยั่งยืน
ซึ่งการแก้ไขปัญหา Climate Change ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกองค์กร ทุกกระทรวง ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาครัฐที่จะต้องมีมิติในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การท่องเที่ยวที่ส่งเสริมการอนุรักษ์และรักษาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด คือ หัวใจที่สำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนไปสู่ลูกหลานต่อไป
กรมการขนส่งทางรางติดตามการก่อสร้าง รถไฟทางคู่สายใต้ เล็งเดินรถปลาย ก.ย. 66 นี้
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ที่สถานีคลองวังช้าง สถานีปะทิว สถานีสะพลีและย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) สะพลี สถานีชุมพร รวมถึงโรงรถจักรชุมพร

โดยมี ดร.อรรถพล เก่าประเสริฐ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้าง ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง และนายวัชรเกียรติ สุทธิวรรณา ผู้ช่วยวิศวกรโครงการฯ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยกลุ่มที่ปรึกษา CSCS และผู้รับจ้างกลุ่ม STTP Joint Venture (บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม) รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร มีระยะทางรวม 167 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่เพิ่ม 1 ทาง ขนานเส้นทางรถไฟเดิม ขนาดทางกว้าง 1 เมตร เป็นโครงสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินทั้งหมด ประกอบด้วย สถานีสร้างใหม่ 5 สถานี สถานีอนุรักษ์ 5 สถานี ที่หยุดรถ 5 แห่ง ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) 1 แห่ง ที่สถานีนาผักขวง สะพานรถไฟ 78 แห่ง รวมถึงก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) 25 แห่ง และถนนกลับรถยกระดับรูปตัวยู (U-Turn) 25 แห่ง มีความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 93.510 และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย – ชุมพร ระยะทาง 79 กิโลเมตร
เป็นโครงสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินทั้งหมด ประกอบด้วย สถานีสร้างใหม่ 10 สถานี ที่หยุดรถ 3 แห่ง ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) 1 แห่ง ที่สถานีสะพลี สะพานรถไฟ 68 แห่ง รวมถึงก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) 4 แห่ง ถนนกลับรถยกระดับรูปตัวยู (U-Turn) 13 แห่ง และทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) 16 แห่ง มีความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 96.523