ดอยซ์แบงก์ประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่มีต้นทุนมากกว่า 7,400 ล้านยูโร พร้อมปลดพนักงาน 18,000 คนภายใน 3 ปี โดยจะมีการปรับลดขนาดธนาคารลง จากการเตรียมถอนตัวออกจากการลงทุนและการซื้อขายในตลาดหุ้นโลก เพื่อให้สามารถทำรายได้กลับคืนมาอย่างมีประสิทธิภาพ
ดอยซ์แบงก์ เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ถึงแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ซึ่งจะมีการปรับลดพนักงานลง 18,000 คน เหลือ 74,000 คนภายในปี 2022 รวมทั้งแผนการปรับลดสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วน 40% ที่เป็นสินทรัพย์ของธุรกิจที่ประสบปัญหา
ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของดอยช์แบงก์ต้องประสบกับภาวะขาดทุนถึง 2,800 ล้านยูโรในไตรมาส 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์จะไม่จ่ายเงินปันผลในปี 2019 และ 2020
การประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของดอยช์แบงก์เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างดอยซ์แบงก์ และคอมเมิร์ซแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารคู่แข่ง และเป็นธนาคารอันดับ 3 ประสบความล้มเหลว โดยที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลเยอรมนีจะให้การสนับสนุน และต้องการผลักดันให้ภาคธนาคารแข็งแกร่งมากขึ้น
ในแผนการปรับโครงสร้างดอยช์แบงก์จะมีการจัดตั้ง Bad Bank เพื่อบริหารจัดการกับหนี้เสียที่มีมูลค่า 74,000 ล้านยูโร หรือ 83,060 ล้านดอลลาร์ จากสินทรัพย์เสี่ยงที่มีจำนวนทั้งหทด 288,000 ล้านยูโร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018
นอกจากนี้ ดอยซ์แบงก์ยังจะปรับลดขนาดให้เล็กลง จากที่เคยเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยการถอนตัวเองออกจากตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะการปิดแผนกซื้อขายหุ้นในสหรัฐด้วย
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ดอยช์แบงก์ได้ถูกศาลในสหรัฐสั่งปรับเป็นวงเงิน 7,200 ล้านดอลลาร์ กรณีให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการลงทุนในการซื้อตราสารที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ จนกระทั่งเกิดฟองสบู่แตกในวิกฤตการณ์ซับไพรม์สหรัฐช่วงปี 2007 และยังต้องจ่ายเงินค่าปรับกับหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐและอังกฤษกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าทำการปั่นอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารการเงิน
อย่างไรก็ตาม ดอยช์แบงก์จะยังคงจุดแข็งในการเป็นผู้เชี่ยวชาญทำธุรกิจด้าน Private banking ด้วยการเตรียมจ้างบุคลากรใหม่ 300 คนในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการลงทุนภายในปี 2021 และเป็นที่คาดว่า ดอยช์แบงก์จะมีต้นทุนในการผ่าตัดโครงสร้างครั้งใหญ่ครั้งนี้เป็นจำนวนถึง 17,000 ล้านยูโร
รวมถึงการขยายบทบาทในการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มูลค่า 213,000 ล้านยูโร โดยยังคงติดอันดับ 1 ใน Tup 10 ทั่วโลก เมื่อสิ้นปี 2018
สำหรับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของดอยช์แบงก์หนนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยเฉพาะเกิดจากทิศทางความไม่แน่นอนในนโยบายการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ล่าสุด มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจชื่อดังสหรัฐ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกลงต่ำสุดรอบ 5 ปี พร้อมกับให้คำแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นโลกอยู่ในระดับ underweight เนื่องจากที่มีความเสี่ยงจากการที่เฟดดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเกินไป
โดยก่อนหน้านี้วาณิชธนกิจชั้นนำในสหรัฐหลายแห่งมีการคาดการณ์ว่า การพุ่งขึ้นทำนิวไฮของดัชนีหุ้น S&P 500 ซึ่งเป็นตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดในสหรัฐในขณะนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับฐานลงได้อีก 10% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้