HomeBT Newsบล.กสิกร ปรับเป้าSET Index ที่ 1,755 จุด รับทิศทางดอกเบี้ยขาลง

บล.กสิกร ปรับเป้าSET Index ที่ 1,755 จุด รับทิศทางดอกเบี้ยขาลง

บล.กสิกร ปรับเป้าหมาย SET Index ล่วงหน้า 12 เดือนเพิ่มเป็น 1,755 จาก 1,725 จุด สอดรับท่าทีธนาคารกลางทั่วโลกลดดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมแนะหุ้นเด่น DTAC, TRUE,  AMATA, TFFIF, KTB, SCB, CK, STEC, CPF และ CPALL

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บล.กสิกร ยังคงมุมมองเป็นบวกต่อตลาดโดยรวม และปรับเพิ่มเป้าหมาย SET Index ล่วงหน้า 12 เดือนเป็น 1,755 จาก 1,725 จุด เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบเชิงบวกจากถ้อยแถลงที่ใช้ให้เห็นถึงท่าทีจะลดดอกเบี้ยนโยบายจากกลุ่มธนาคารกลางสำคัญๆ และผลกระทบเชิงบวกจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ลดลง”

ทั้งนี้ บล.กสิกร คาดถึงระดับการซื้อขายในระยะใกล้ของ SET Index ในกรอบ 1,600 – 1,760 จุด หลังจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของไทยปรับลดลง ซึ่งทิศทางอัตราดอกเบี้ยและถ้อยแถลงของกลุ่มธนาคารกลางหลักๆ คือปัจจัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม เพราะการกลับลำของธนาคารกลาง

- Advertisement -

เมื่ออิงจากการวิเคราะห์ของ บล.กสิกร จะพบว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ที่ลดลง 32bps ในช่วงวันที่ 10 พ.ค. และ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้น 68 จุด ซึ่งทำให้ค่า PER ของตลาดปรับเพิ่มเป็น 16.22 เท่า และที่น่าสนใจที่สุดคือส่วนต่างผลตอบแทนตลาดยังคงอยู่ที่เดิมในระดับ 4.22%

บล.กสิกร ยังคาดถึงผลลัพธ์ในเชิงบวกจากการประชุม G20 และคาดว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ว่าจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีภายในเดือน ก.ค.นี้ และรัฐบาลใหม่จะเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน เช่นมาตรการช่วยเหลือด้านรายได้สำหรับผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการผลิตของภาคการเกษตร เป็นต้น แต่ไม่คาดว่าการปรับค่าแรงจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนนี้

ขณะที่ค่าเงินบาทไทยยังคงแข็งแกร่งอยู่ เพราะคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ต่อไป ขณะที่ธนาคารกลางหลักในภูมิภาคได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่ภายในเดือนนี้จะมีการประชุมและคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 6% มาอยู่ที่ 5.75%

ปัจจัยที่สำคัญต่อตลาดหุ้นโดยรวม ทั้งต่างประเทศและในประเทศช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คือการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ท่าทีเชิงลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED) ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลงจากจุดสูงที่มากกว่า 3% ในไตรมาส 4 ปี 61 สู่ระดับต่ำกว่า 2.1% ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เผชิญกับสภาวะตึงตัวของโลก และผลกระทบจากข้อพิพาทสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรณัฐบาลที่ลดลงสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ลง 50bps ในครึ่งหลังของปี 62 และ 25-50bps ในครึ่งแรกของปี 63 โดยเราเชื่อว่ามุมมองของตลาดเป็นการมองภาพรวมแบบล่วงหน้าเพราะแผนภาพประมานการอัตราดอกเบี้ยล่าสุดชี้ให้เห็นถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ลงเพียง 50bps ในปี 63

นอกจากนี้เมื่ออิงข้อมูลจาก Bloomberg พบว่าอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าของธนาคารกลางสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ 100% ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค.นี้

ขณะที่ค่าเงินบาทแตะจุดสูงสุดในรอบ 6 ปีในระดับที่ต่ำกว่า 31 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยมีสาเหตุมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศและต่างประเทศที่หดตัวแคบลง และจากบัญชีเดินสะพัดที่มีสภาวะเกินดุล และหนี้สินในสกุลเงินต่างประเทศที่ต่ำในช่วงที่สถานการณ์โลกค่อนข้างผันผวน

ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณถึงท่าทีเชิงผ่อนคลายมากขึ้นในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25/50 bps YTD

อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในระยะสั้นด้วยสาเหตุดังนี้

1.ท่าทีลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

2.คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งเป็นอย่างน้อยในปี 62

3.คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 1.75% เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย และรักษาเสถียรภาพทางการเงินเอาไว้

นอกจากนี้ด้วยการที่ตลาดมองว่าไทยเป็นแหล่งเงินทุนปลอดภัยในบรรดากลุ่มประเทศเกิดใหม่ จึงคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่หดตัวแคบลง จะดึงดูดกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ บล.กสิกร เพิ่งปรับลดประมาณการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ สำหรับปี 62 เป็น 31.40 บาท/ดอลลาร์ จาก 31.80 บาท/ดอลลาร์ และสำหรับปี 63 เป็น 31.60 บาท/ดอลลาร์ จาก 32.10 บาท/ดอลลาร์

สำหรับกลุ่มหุ้นที่แนะนำในช่วงนี้มีดังต่อไปนี้

กลุ่มพาณิชย์ แนะนำ CPALL เพราะเชื่อว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล

กลุ่มสินค้าเกษตร แนะนำ CPF เพราะเป็นหุ้นที่มีกำไรแข็งแกร่งในปี 62 และมีราคาสุกรที่แข็งแกร่งในปี 62 หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคอะหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในเวียดนาม

กลุ่มรับเหมาโยธา แนะนำ CK และ STEC เนื่องจากมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากการประมูลโครงการรัฐบาล

กลุ่มธนาคาร แนะนำ KTB และ SCB เพราะคาดว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ จะยังปรับลดอย่างต่อเนื่อง ขระที่การก่อตัวของหนี้เสียใหม่ปรับลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 61

กลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แนะนำ TFFIF ซึ่งมีอายุกองทุนเหลือ 29 ปี มีกระแสรายได้ที่มั่นคง ความผันผวนต่ำ และยังมีโอกาสอัดฉีดสินทรัพย์โดยรัฐบาล

กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แนะนำ AMATA เพราะจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของต่างชาติ ที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ และจากการย้ายฐานโรงงานจากจีน

กลุ่ม ICT แนะนำ DTAC และ TRUE รายได้ของอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสเติบโตสูงขึ้น หลังจากมีการแข่งขันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง ซึ่งมีผู้ให้บริการรายหลักแค่ 3 เจ้าใหญ่เหมือนเดิม

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News