HomeBT Newsก.ล.ต.ขยับคุม Libra "ตัวแทนในไทย"ต้องขออนุญาต

ก.ล.ต.ขยับคุม Libra “ตัวแทนในไทย”ต้องขออนุญาต

ความตื่นตัวในสินทรัพย์ดิจิทัลมีมากขึ้น แม้ไทยจะมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว แต่ความสนใจมีมากขึ้น เมื่อเฟซบุ๊คประกาศจะออก “Libra”ในปีหน้า ขณะที่ก.ล.ต.เตรียมขยับคุม ใครเป็นตัวแทนต้องขออนุญาต

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) จัดเสวนา “4 รู้กับสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยมี สุภา ธรรมธิติวัฒน์ ผอ.ฝ่ายกำกับตลาด ,สาริกา อภิวรรธกกุล ผอ.ฝ่าส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด , อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผอ.ฝ่ายฟินเทค และ สุนิสา ธรรมภิบาล ผู้ช่วย ผอ.ฝ่ายกฏหมายและพัฒนา เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยสกับสินทรัพย์ดิจิทัลและการลงทุนในโลกดิจิทัลให้กับประชาชน

4 รู้ : รู้เข้า รู้เรา รู้ระวัง รู้จัก ก.ล.ต.

- Advertisement -

อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผอ.ฝ่ายฟินเทค ระบุว่า ต้องมองว่าจริงๆแล้วสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นมานานแล้ว และแนวคิดของสินทรัพย์ดิจิทัลคือ การเงินแบบเก่ามีการทำธุรกรรมแบบเก่าที่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลเกิดจากความไม่ต้องการ การพึ่งพาส่วนกลางในการบริการ เช่น ธนาคาร ซึ่งเมื่อมีสกุลเงินดิจิทัล เป็นการสร้างการโอนเงินระหว่างกัน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมให้ใครและรวดเร็ว

ขณะที่อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดสกุลเงินดิจิทัล คือเรื่องของความน่าเชื่อถือ ช่วงที่สกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้นในต่างประเทศ สถาบันทางการเงินประสบปัญหา เนื่องจากการลงทุนผิดพลาดทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยมาก ว่า ทำไมต้องเอาภาษีของตนเองไปอุดหนุนสถาบันการเงินเหล่านั้น ที่ลงทุนผิดพลาดเพราะเมื่อสถาบันทางการเงินเหล่านั้นล้มหายตายจากไป รัฐบาลเกรงกลัวว่าจะทำเศรษฐกิจประสบปัญหาตามมา

ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเอาภาษีประชาชนเข้ามาโอบอุ้มสถาบันดังกล่าว เมื่อระบบสกุลเงินดิจิตอลไม่ผ่านตัวกลาง(ธนาคาร)ที่มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อ “บล็อกเชน(Blockchain)” เข้ามา เพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลที่ตรงกันและไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อมูลได้เพราะข้อมูลทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ทำให้สร้างความน่าเชื่อถือในสกุลเงินนั้นๆ

ในยุคถัดมาในการสร้างการระดมทุนในรูปแบบ ICO (Initial Coin Offering) การระดมทุนจากประชาชนไปพัฒนาสิ่งต่างๆและแลกกับสิ่งที่เรียกว่า “โทเคน(Token)” เพื่อนำเหรียญดังกล่าวมาบริการในแพลตฟอร์มนั้นๆ

หากมองกลับมาในโลกแห่งความจริงแล้ว หากมีใครสักคนหนึ่ง มีไอเดียต้องการจะสร้างโปรเจกต์ดังกล่าวขึ้นมา แต่หากเป็นการจัดตั้งบริษัท นำเข้าสู่ตลาดหุ้น และผ่านการทดสอบต่างๆก็จะทำให้เสียเวลาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการระดมทุนแบบ ICO ซึ่งเมื่อโอนสกุลเงินดิจิทัลเข้าไปยังเจ้าของโปรเจกต์ แล้วก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า Token หรือเหรียญที่จะให้ผลตอบแทนในอนาคต โดยไม่ผ่านตัวกลางและไม่มีขั้นต่ำ จากทั่วโลก

สำหรับหนึ่งสิ่งที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้คือความเสี่ยงของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งหากมองมายังผู้เล่นหุ้นปั่นในตลาดหุ้นถือว่าเป็นเรื่องที่เด็กๆมากสำหรับการเล่นสกุลเงินดิจิทัลเพราะเมื่อลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลแล้วความผันผวนสูงกว่าตลาดหุ้นมาก เช่น เมื่อคืนที่ผ่านมาพอร์ตของเรามีเงินลงทุนอยู่มูลค่า 300,000 บาท แต่เมื่อตื่นมาอาจเหลือ 30 บาท

สาเหตุความผันผวนเนื่องจาก ราคา bitcoin ขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทาน ดังนั้น ก็จะมีกลุ่มผู้ที่ถือ bitcoin เป็นจำนวนมากคอยสร้างความผันผวนและสร้างกำไรให้กับตนเองอีกทั้งการระดมทุนแบบ ICO ก็มีสิทธิ์ที่จะล้มเหลวได้ในชั่วพริบตาเพียงเพราะโปรเจกต์ นั้นไม่ได้เป็นที่น่าสนใจหรือมีประสิทธิภาพอีกแล้ว

รู้ระวัง : เมื่อเงินยังอยู่ในกระเป๋าเรายังเป็นพระเจ้า แต่เมื่อเราไปฝากเงินไว้ในกระเป๋าคนอื่นเรายังเป็นพระเจ้า หรือ ยาจก ?

สุภา ธรรมธิติวัฒน์ ผอ.ฝ่ายกำกับตลาด ระบุว่า บางครั้งก็จะมีกลุ่มวิชาชีพที่อาศัยความประสบความสำเร็จของสกุลเงินดังกล่าวหรือโปรเจกต์ ดังกล่าวเข้ามาหลอกประชาชน เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะต้องตระหนักคือเมื่อเราเรียนเรายังคงเป็นพระเจ้าแต่เมื่อเงินเราไปอยู่ในกระเป๋าคนอื่นเราไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป

บางที่ก็บอกว่าสามารถให้ผลตอบแทนได้ทุกวันสม่ำเสมอสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องตระหนักถึงคือมีธุรกิจใดบนโลกนี้หรือไม่ ที่สามารถทำได้แบบนั้น เส้นทางมองดูความผันผวนของสกุลเงินดิจิตอลที่ผันผวนเหมือนกับรถไฟเหาะจะยังคงสามารถที่จะให้ผลตอบแทนได้ตามที่โฆษณาหรือไม่ ? แล้วคนชวนเป็นใคร ? สถาบันทางการเงินที่มีความมั่นคงยังให้คำตอบแทนอยู่ที่ ร้อยละ 4 ต่อปี แต่บางที่มีการหลอกประชาชนว่าเมื่อระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิตอลแล้วจะได้กำไรคืนมาถึง ร้อยละ 10 ต่อเดือนซึ่งต้องมองว่ามีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ?

ที่สำคัญคือ เราเอาเงินส่วนไหนมาลงทุนในส่วนนี้เราพร้อมที่จะรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ? ถ้าเป็นเงินที่เราเก็บมาตลอดชีวิตเพื่อใช้ เริ่มแก่แล้วมันหายไปเราพร้อมที่จะเสี่ยงแบบนี้จริงๆหรือไม่

ก.ล.ต.แค่หน่วยกำกับตามพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

สุนิสา กล่าวว่าเดิมในช่วงปี 2561 ต่างๆมีความคล้ายคลึงระหว่างการเป็นสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ต่างๆ ดังนั้นจึงมีการออกเป็นกฎหมายใหม่ ชื่อ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แหล่งสินทรัพย์ที่เช่าออกเป็น 2 ประเทศนั่นคือสกุลเงินดิจิทัล(Cryptocurrency) และโทเคนเพื่อการลงทุน(Invesment Token) หรือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์(Ulitary Token)

สินทรัพย์ดิจิทัล หรือหลายคนที่เรียกว่าเงินเสมือนจริงเมื่อมี พ.ร.ก. ดังกล่าวแล้วไม่ได้แปลว่าจะเป็นสกุลเงินที่สามารถนำมาใช้ชำระหนี้สินได้ เพราะตามกฎหมายของประเทศเกือบทั่วทั้งโลก เป็นการระบุว่า เงินของประเทศนั้นจะต้องมีการผลิตเป็นธนบัตรหรือกษาปณ์เพื่อใช้ชำระหนี้สิน ซึ่งออกโดยรัฐบาลเท่านั้น

สำหรับกิจกรรมที่ ก.ล.ต. กำกับดูแลภายใต้พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล คือการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิตอล และบริษัทที่จะเปิดการระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) เพื่อให้รองรับตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ในการตรวจสอบ ประวัติของบริษัทเหล่านั้นและรับรองให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเมื่อบริษัทดังกล่าวล้มเลิกแล้วจะได้มีการคืนมูลค่าทรัพย์สินที่มีการลงทุนไป “และอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น”

อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผอ.ฝ่ายฟินเทค กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เขียนลงในกระดาษหรือที่เรียกว่า White Paper อ่านเขียนไม่เหมือนกับ Digital Contract ซึ่งหากเข้าใจง่ายๆ Digital Contract เป็นสิ่งที่ถูกเขียนไว้ในระบบคอมพิวเตอร์แต่ White Paper เป็นสิ่งที่เขียนไว้ให้คนอ่านซึ่งบางครั้งการระดมทุนแบบ ICO ก็มีการซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้ ใน White Paper เขียนสวยหรู แต่ให้ผลตอบแทนใน Digital Contract กลับไม่เหมือนกัน

ขณะที่ในกฎหมายมีการบังคับไม่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กลงทุนประชาชนลงทุนจนมากเกินไปดังนั้นจึงมีการบังคับไม่ให้ลงทุนเกิน 3 แสนบาทต่อราย และวิธีการกำหนดข้อมูลขั้นต่ำของ White Paper ว่าจะต้องมีอะไรบ้าง และระบุความคืบหน้าของโครงการ

“อย่างไรก็ตามหน้าที่ของ ก.ล.ต. จะไม่ทำหน้าที่ควบคุม Bitcoin แต่จะทำหน้าที่กำกับตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ขณะเดียวกันหากคนไทยจะมีการสร้างสกุลเงินดิจิทัลและมีสิทธิประโยชน์ที่มีลักษณะขายฝันจนมากเกินไปก็ทำให้ ก.ล.ต. ต้องเข้ามากำกับดูแลในส่วนนี้” คุณอาจารีย์ ศุภพิโรจน์ กล่าว

แล้ว Libra อยู่ตรงไหน ? ตัวแทนต้องขออนุญาตก.ล.ต.

อาจารีย์ กล่าวอีกว่าแนวคิดของสกุลเงินดิจิทัลนี้คือการนำเงินในสกุลต่างๆบนโลกความจริงนำมาใส่ไว้ในตะกร้าเดียวกันเพื่อทำให้สกุลเงินดิจิทัลนี้มีเสถียรภาพ เพื่อให้เป็นสกุลเงินมาตรฐานของโลก เมื่อมี Facebook เป็นตัวตั้งและพันธมิตรอีก 28 บริษัท โดยตั้งเงินลงทุนบริษัทละ 300 ล้านบาท ขณะที่ตัว Libra เองก็มีกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับบริษัทที่จะเข้ามาร่วมทุน

สำหรับประเทศไทย คนที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนของสกุลเงิน Libra ไปไทยก็จำเป็นที่จะต้องเข้ามาขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. และผู้ใช้จะนำเงินบาทไทย ไปแลกเปลี่ยนกับตัวแทนแลกเงินที่ขึ้นตรงกับตัวแทนของสกุลเงิน Libra ในประเทศไทย แต่กฎหมายไม่ได้เข้าไปกำหนดบังคับตัวสกุลเงินดังกล่าว

ชวนชาวบ้านลงทุน Libra ในปี 2019 = หลอกลวง(Scam)

“ขณะที่สกุลเงินนี้ จะเริ่มใช้ได้เร็วที่สุดในปี 2020 แต่ในขณะนี้สภาคองเกรสของสหรัฐได้เข้ามาตรวจสอบการทำสกุลเงินนี้ก่อน ดังนั้นหากใครประกาศรับแลก-ลงทุนใน Libra ตอนนี้ เท่ากับหลอกลวง” อาจารีย์ กล่าว

ด้านสุภา ธรรมธิติวัฒน์ ระบุว่า การที่ก ก.ล.ต. เข้ามากำกับดูแลและรองรับสกุลเงินดิจิทัล และ Token ต่างๆ ไม่ได้แปลว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่ล้มเหลว แต่เป็นการรับรองว่าไม่ใช่การหลอกลวง(Scam)เงินของลูกค้า และบริษัทเหล่านั้นตั้งใจที่จะทำธุรกิจจริงๆ

แล้ว สกุลเงินดิจิทัล ชำระหนี้ตามกฏหมายได้หรือไม่ ?

อาจารีย์ กล่าวอีกว่าเงินที่ชำระหนี้ตามกฏหมายในประเทศไทย มีเพียงสกุลเงินเดียวคือ “เงินบาทไทย(THB)” และเมื่อมีสถานะเป็นเงินที่ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ นั่นหมายถึงเมื่อลูกหนี้นำธนบัตรหรือกษาปณ์ในสกุลเงินบาทไปชำระหนี้ เจ้าหนี้จะปฏิเสธไม่ได้

แต่ในขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าตามกฎหมาย ซึ่งหากเจ้าหนี้ไม่ยอมรับการชำระหนี้ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลก็สามารถปฏิเสธได้ เช่น เรานำก๋วยเตี๋ยวไปแลกกับ Bitcoin ซึ่งในส่วนนี้ตามกฎหมายไม่ได้สั่งห้ามแต่เป็นการตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News