ยอดตัวเลขผู้ประกันตนในระบบ”ประกันสังคม”เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นว่าคนทำงานและอาชีพอิสระ เริ่มตระหนักถึงสิทธิในระบบประกันสังคมมากขึ้น จากตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้นกว่า 86,000 ราย ยอดรวมทั้งระบบ 16.24 ล้านคน นั่นเท่ากับว่าคนไทยราว 20% เข้าระบบประกันสังคม
จากข้อมูล ณ เดือนมิ.ย. 62 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีทั้งสิ้น 16,246,365 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ต. 62 กว่า 86,000 ราย แบ่งเป็น
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างที่ทํางานในสถานประกอบการ จํานวน 11,590,381 คน
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 ผู้ประกันตนภาคสมัครใจที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน จํานวน 1,622,988 คน
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 ผู้ประกันตนประกอบอาชีพอิสระ จํานวน 3,032,996 คน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 , 39 และ 40 คืออะไร ?
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนภาคบังคับ คือ ลูกจ้างที่เข้าทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี วันเข้าทำงาน ถือว่าเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม
ผู้ประกันตนตามมาตร 39 หรือ ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ คือ ผู้ที่เคยประกันตนตามมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนภาคบังคับมาแล้ว แต่ได้ลาออก เกิน 6 เดือน และ เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และขอสมัครเข้าใช้สิทธิ์ประกันสังคมตามมาตรา 39 โดยจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคม ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเช่นกัน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือผู้ประกันตนภาคความสมัครใจ ผู้ประกันตนประเภทนี้ ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้าตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี เช่น พ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ ฟรีแลนซ์