HomeBT Newsย่อข่าวธุรกิจในประเทศ 14 มิถุนายน 2566

ย่อข่าวธุรกิจในประเทศ 14 มิถุนายน 2566


สัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลาย พ.ค.66 เพิ่มเพียง 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในประเทศไทย พอใจสัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลายและต่ำที่สุดในอาเซียน โดยล่าสุดข้อมูลกระทรวงพาณิชย์รายงานระบุดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ค. 2566 เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 106.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน

- Advertisement -


สาเหตสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้ง ราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือน พ.ค. 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อ ในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูล เม.ย. 2566) โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม


กระทรวงการคลังส่งเสริม ‘เอทานอล’ ในอุตสาหกรรมพลาสติก ลดการปล่อยคาร์บอน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 รับทราบแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อันจะเป็นการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ทั้งนี้ เพื่อรองรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 กระทรวงการคลังจึงกำหนดแนวทางการส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงลดการใช้ปิโตรเคมีจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตเม็ดพลาสติก


SME D Bank เปิดตัวสินเชื่อวงเงินกู้สูง ผ่อนสบาย หนุน SMEs 3 จังหวัดชายแดนใต้

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ เปิดตัว “สินเชื่อเพื่อ SMEs 3 จังหวัดชายแดนใต้” สนับสนุนผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงพื้นที่ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย ให้มีเงินทุนนำไปใช้ได้ทั้งเสริมสภาพคล่องธุรกิจ ลงทุน ขยายกิจการ หรือหมุนเวียนในธุรกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น ยกระดับศักยภาพเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ


ทั้งนี้ เป็นการขานรับนโยบายภาครัฐ ที่มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 อนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับดำเนินธุรกิจ เกิดความมั่นใจในการประกอบกิจการและมีเงินลงทุนต่อเนื่อง วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสินเป็นผู้จัดสรรวงเงินโครงการให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ นำไปปล่อยกู้ต่อแก่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ดังกล่าว โดย SME D Bank ได้รับจัดสรรวงเงินมาจำนวน 630 ล้านบาท


กระทรวงอุตฯ ชวนผู้ประกอบการปักหมุดตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมปทุมธานี เพื่อหารือกับตัวแทนผู้ประกอบการในจังหวัดปทุมธานี พร้อมกับนำเสนอแนวทางในการประกอบธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน


โดยได้แนะนำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม นำนโยบาย 4 มิติ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 1. ความสำเร็จทางธุรกิจ 2. การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างรับผิดชอบและเป็นมิตร 3. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก กำกับ ควบคุม และดูแลด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคม และ 4. การกระจายรายได้ให้กับประชาชนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันได้ย้ำถึงมาตรการและข้อแนะนำต่าง ๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางไว้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้มากขึ้น


ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย ‘เติบโตต่อเนื่อง’ คาดปี 2570 มูลค่ากว่าแสนล้านบาท

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทยคาดว่า ในปี 2570 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย จะมีมูลค่ากว่า 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าแสนล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 8.1% ในช่วงระหว่างปี 2562 – 2570 ขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% และคาดว่าจะมีมูลค่า 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2570


งานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาพบว่า ปี 2565-2566 มูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เติบโตเฉลี่ย 5.0-7.0% ต่อปี และมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เป็นผลมาจากอัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จำนวนผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการโรงพยาบาล มีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง กระแสการใส่ใจสุขภาพและการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรเพิ่มขึ้นทั่วโลก ประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีความต้องการต่อเนื่อง นโยบายสนับสนุนการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์/นวัตกรรมการแพทย์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News