แม้ปี 2566 จะมีพรรคการเมือง ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งมากถึง 49 พรรค แต่นโยบายที่ประชาชนมองเห็นและได้ยิน ล้วนมาจากพรรคใหญ่ๆ “บิสิเนสทูเดย์” พาไปส่องนโยบายเศรษฐกิจ 5 พรรคเล็ก ซึ่งก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเลย
เร่มต้นที่พรรค “กรีน” กับสโลแกน ต้นไม้เป็นทรัพย์สิน ที่ทำกินถูกต้องเป็นธรรม เกษตรกรรมสุขภาพจัดทำนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว ซึ่งมีวิธีการดำเนินด้วยมาตรการ ประกอบด้วย 1. ต้นไม้เป็นทรัพย์สิน : สร้างบัตรแสดงความมีทรัพย์สินจากมูลค่าต้นไม้ (TAC) Tree Asset Card ให้ประชาชนเจ้าของต้นไม้ โดยการผลักดัน พรบ. ธนาคารต้นไม้ เพื่อรับรองต้นไม้ของประชาชนให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์ขณะที่มีชีวิต 2. ที่ทำกินถูกต้องเป็นธรรม : ออกมาตรการทำที่ดินทำกินทุกตารางนิ้วในประเทศให้ชอบด้วยกฎหมาย 3. เกษตรกรรมสุขภาพ : จัดทำเขตเกษตรกรรมสุขภาพ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองวิถีเกษตรอินทรีย์ เกษตรเพื่อสุขภาวะ และเกษตรพึ่งตนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 4. สันติภาพยั่งยืน : สร้างแนวทางปรองดอง โดยการเสนอนโยบายสาธารณะให้ทุกพรรคและสังคมส่วนรวม
พรรคครูไทยเพื่อประชาชน นโยบายหลักคือ “แก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ ลดดอกเบี้ยไม่เกิน ร้อยละ 3 ” ผลักดันให้สภาฯตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สวัสดิการและเสริมสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ นโยบาย ” สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล เต็มรูปแบบ” กระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษา ให้สถานศึกษาทุกด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านการบริหารบุคคล ด้านงบประมาณ และด้านการบริหารทั่วไป สถานศึกษา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา สามารถพิจารณาสรรหาเพื่อบรรจุแต่งตั้งครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ตรงตามความต้องการ จำเป็นและขาดแคลน งบประมาณทุกประเภทรัฐต้องโอนตรงถึงโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนได้บริหารจัดการตรงตามความต้องการจำเป็นจริงๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีอิสระในการบริหารจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามเป้าหมายอย่างแท้จริง ให้หน่วยงานต้นสังกัดมีหน้าที่นิเทศ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลคุณภาพการศึกษา เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการจัดการศึกษา นโยบาย “คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานครูทุกด้าน” โดยการให้ทุกโรงเรียนมีเจ้าหน้าที่การเงิน พัสดุ ธุรการ นักการ รปภ. ครูไม่ต้องอยู่เวรกลางคืน ยกเลิกโครงการ/กิจกรรมที่เพิ่มภาระครู และไม่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทิ้งทั้งหมด ให้ครูได้ดูแลและสอนนักเรียนเต็มเวลา เต็มความสามารถ
พรรคพลังสังคมใหม่ กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น 1.ทุนกู้วิกฤตธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย (เฒ่าแก่น้อย)ให้เข้าถึงแหล่งทุนในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ต่อ 1 ผู้ประกอบการ ลดปัญหาเงินกู้นอกระบบ 2.รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) ได้รับเงินเดือนๆ ละ 3,000 บาท เพื่อแก้ปัญหาความยากจน 3. นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ติดเครดิดบูโร (แบล็คลิสต์) ออกจากระบบโดยให้ทุกคนสามารถข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย 4. ทารกแรกเกิดได้สิทธิ์รับเงินอุดหนุน 4,000 บาทต่อเดือน จนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ 5.ไซโล 1 จังหวัด เพื่อเก็บพืชผลทางการเกษตรก่อนแปรรูป ให้เป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดเพื่อแก้ปัญหาพืชผลการเกษตรล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำและประกันราคาพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด 6. ส่งเสริมจัดสรรที่ดินของรัฐที่ว่างเปล่าให้ประชาชนทุกครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกิน เช่น เช่าที่ดินทหาร ที่ราชพัสดุ ที่ป่าอนุรักษ์เสื่อมโทรม ฯลฯ หรือที่ดินที่ประชาชนครอบครองอยู่แล้ว เช่น ภบท.5-6-11 สปก.4-01 ฯลฯ โดยออกโฉนดที่ดินนำมาจัดสรรใหม่ในปริมาณที่เหมาะสมต่อครัวเรือน 7. ผลักดันและส่งเสริมให้ออก พรบ. อนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองและนำไก่ชน ไก่สวยงาม ส่งออกไปขายต่างประเทศ 8.แยกกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นออกจากกระทรวงมหาดไทย ยกฐานะเป็นกระทรวงส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การกระจายอำนาจสู่ อปท.โดยสภาท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ช่วยคิดช่วยทำในระบบ บ้าน วัด ชุมชน 9. ส่งเสริมพัฒนาการกีฬาและการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ
พรรคแรงงานสร้างชาติ ชูนโยบายหลัก คือ 1.จัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อผู้ใช้แรงงานกู้ง่าย ปลอดดอกเบี้ย 5 ปี 2.เงินบำเหน็จบำนาญผู้ประกันตน ต้องเลือกได้ ไม่ต้องรออายุครบ 55 ปี และ 3.จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม เป้าหมายคือทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจถึงบทบาททางการเมืองและประชาธิปไตย โดยเฉพาะในกลุ่มฐานล่าง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเดือนร้อนในเรื่องของเศรษฐกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุด คือ คนไทยทุกภาคส่วนต้องมีสุขภาพดี มีเงินใช้ และ มีความสุข รวมถึงนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-69 ปีแต่ยังทำงานได้ ต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชนและรัฐบาลมีการจ้างงานมากขึ้น รวมทั้งดำเนินการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นขั้นบันได เริ่มต้น 1,500 บาท/เดือนไปจนถึง 4,500 บาทเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณส่วนนี้ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี 2.ปรับโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า โดยมีการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ และตัวเลข GDP ประเทศ พร้อมแก้กฎกระทรวงแรงงานให้สถานประกอบการต้องปรับค่าจ้างประจำปีอัตโนมัติ 3.ปรับแก้ให้กองทุนข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ไม่มีความเหลื่อมล้ำในหมู่คนไทย
พรรคเสมอภาค เสนอนโยบายสร้างเศรษฐกิจฐานราก เริ่มต้นจากการที่เข้าไปแก้ปัญหาต้นเหตุที่เกษตรกรถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาผลผลิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยพรรคเสมอภาคได้ศึกษาโมเดล พ.ร.บ. อ้อย และน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถช่วยให้เกษตรกรชาวสวนอ้อยมีส่วนแบ่งรายได้ที่ยุติธรรม จึงนำกฎหมายฉบับนี้มาเป็นต้นแบบเพื่อออกกฎหมายสนับสนุนให้ตัวแทนเกษตรกรอื่นๆ ร่วมกําหนดราคาขายผลผลิตคู่กับพ่อค้า ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน และสามารถสร้างการหมุนเวียนแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ภาคการเกษตรไปจนถึงภาคการผลิต โดยเน้นเกษตรไร้พิษเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม พรรคยังมีนโยบายจัดตั้ง “กระทรวงการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย” พร้อมผลักดันแนวคิด “หนึ่งครอบครัว หนึ่งสวนสมุนไพร” เป็นการต่อยอดเพื่อยกระดับการแพทย์แผนไทยและตำรับยาสมุนไพรไทยสู่ระดับสากล ซึ่งจะสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่คนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้ประเทศไทยจะสามารถยืนหยัดได้ด้วยขาของตนเอง ด้วยการส่งเสริมการปลูก การแปรรูป และจัดจำหน่ายตำรับยาแผนไทยไปทั่วโลก ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศนับล้านล้านบาท อีกหนึ่งนโยบายที่น่าสนใจของพรรคเสนอภาค คือ การตั้งสภาผู้ขับแท๊กซี่ สภาผู้ขับจักรยานยนต์รับจ้าง สภาผู้ขับรถบรรทุก เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรโดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่งนโยบายนี้จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการและผู้ขับรถรับจ้างมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีความน่าเชื่อถือ สามารถขอสินเชื่อต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตได้ และจะมีการต่อยอดไปยังกลุ่มอาชีพอิสระอื่นๆ ในอนาคต