หนึ่งในปัญหาหลักของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยนั่นคือเรื่องของแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนค่อนข้างสูงรวมถึงโอกาสในการเข้าถึงการสนับสนุนทางด้านการเงินที่น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและสนับสนุนตลาดทุนอย่างสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ผลักดันแพลตฟอร์ม คลาวด์ฟันดิ้ง ให้เกิดขึ้นเพื่อเปิดทางให้เอสเอ็มอีได้มีโอกาสใช้กลไกของตลาดทุนในการเสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจ
ฮอง ซิน CEO สินวัฒนา ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม คลาวด์ฟันดิ้ง เปิดเผยว่า ย้อนกลับไปในปี 2555 ตนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.จึงมีความสนใจในการระดมทุนแบบคลาวด์ฟันดิ้ง ซึ่งน่าจะประสบความสำเร็จในไทยได้ เนื่องจากไทยมีโอกาสในการเติบโตสูง
ขณะเดียวกันการระดมทุนแบบคลาวด์ฟันดิ้งต่างจากการระดมทุนประเภทอื่น ซึ่งวิธีการระดมทุนแบบคลาวด์ฟันดิ้ง เริ่มต้นจากคนรู้จัก ญาติพี่น้อง แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อาจต้องการคนนอกเข้ามาช่วยในการระดมทุน เมื่อถึงจุดนั้นจะเป็นจุดสำคัญให้เห็นว่าธุรกิจของผู้ประกอบการจะสามารถเติบโตต่อไปได้หรือไม่
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการในการเริ่มเข้ามาระดมทุนแบบคลาวด์ฟันดิ้ง คืออย่างเพิ่งยอมแพ้ และสูญเสียความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจง่าย ๆ และถ้ามีคนเข้ามาระดมทุนจำนวนมากขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยอมสละแนวคิดบางอย่างของตนเองออกไปบ้าง และนำความคิดคนอื่นเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจบ้าง นั่นอาจเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
นวลละออง ศรีชุมพล CEO แฮร์ริสันบุชเชอร์ ธุรกิจที่สามารถระดมทุนด้วย คลาวด์ฟันดิ้ง ได้สำเร็จ กล่าวต่อว่า จุดเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจแรกของตนเองใช้เงินลงทุน 4 แสนบาท เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ด้วยการใช้เงินทุนของตัวเอง หลังจากนั้นเมื่อกิจการใหญ่ขั้นได้เริ่มใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ โดยต้องมีผลการดำเนินงานและมีสินทรัพย์เพื่อค้ำประกันถึงจะสามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ได้
ต่อมาได้มีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ โดยมีเงินทุนจากต่างประเทศมาร่วมทุนด้วยกัน ผ่านการระดมทุนจากกองทุนของประเทศเดนมาร์ก ทำให้ธุรกิจของตนเองเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันได้เริ่มทำธุรกิจพลังงานทดแทน อย่างกังหันลม ทำให้ขนาดธุรกิจมีขนาดเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งการระดมทุนเปลี่ยนไปมีความซับซ้อนมากขึ้น
หลังจากนั้นตนเองได้กลับไปทำธุรกิจเกษตร โดยใช้เงินลงทุนของตัวเองอีกครั้ง ด้วยมูลค่าหลัก 10 ล้านบาท และมีการเปิดกิจการร้านอาหารขึ้นใหม่ โดยเริ่มชวนเพื่อนและคนรู้จักเข้ามาลงทุนในร้านอาหารของตนเองที่เปิดใหม่ 2 ร้าน โดยสาเหตุที่ชวนคนใกล้ตัวเข้ามาลงทุนในร้านอาหารของตนเอง
เนื่องจากต้องการสร้างความคิดให้ทุกคนที่เป็นผู้ถือหุ้นรู้สึกเหมือนได้เป็นเจ้าของธุรกิจด้วย ซึ่งการสร้างความคิดแบบนี้จะช่วยทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกมีส่วนร่วมกับธุรกิจ และเกิดการมีส่วนร่วมเช่นแนะนำร้านต่อ หรือโปรโมทร้าน จึงเริ่มเห็นว่าการระดมทุนในระบบคลาวด์ฟันดิ้งเริ่มมีข้อดีไม่น้อย
สำหรับการเตรียมตัวในการระดมทุนผ่านคลาวด์ฟันดิ้ง เอสเอ็มอีต้องรู้ตัวก่อนว่าจะระดมทุนไปเพื่ออะไร และคลาวด์ฟันดิ้งตอบโจทย์เอสเอ็มอีหรือไม่ และต้องเข้าใจว่านักลงทุนคาดหวังอะไรจากธุรกิจของเอสเอ็มอี และต้องพร้อมเปิดงบการเงิน และแผนการลงทุนให้คนนอกได้รับ
ขณะที่สิ่งเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามคือเอสเอ็มอีต้องทำให้พนักงานทุกคนมีความเข้าใจว่ากิจการของตนเองจะมีการระดมทุน เพื่อให้เกิดส่วนร่วมกับเป้าหมายขึ้น และบางทีพนักงานอาจซื้อหุ้นของเอสเอ็มอีเองด้วย เพราะเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพในการเติบโตธุรกิจ ซึ่งจะยิ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนภายนอกด้วย
นอกจากนี้ เอสเอ็มอีต้องมีความซื่อสัตย์และต้องมั่นใจว่าจะมีเงินไปคืนผู้ลงทุนได้จริง การลงทุนที่ดีผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนต้องมีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อใจซึ่งกันและกัน จะทำให้การระดมทุนในทุกวิธีสำเร็จ
“สิ่งสำคัญคือเอสเอ็มอีต้องสร้างหลักฐานให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างกำไรได้ และมีการเปิดบ้านเพื่อสื่อสารแผนงานให้นักลงทุนเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส ซึ่งการระดมทุนผ่านคลาวด์ฟันดิ้งใช้ระยะเวลาไม่นานนัก โดยกรณีของแฮร์ริสันบุชเชอร์ใช้ระยะเวลาเตรียมตัว 1 เดือนด่อนระดมทุน โดยใช้เวลาทั้งหมด 90 วันในการระดมทุนเสร็จสิ้น”
ธนพงษ์ ณ ระนอง นายกสมาคม TVCA ให้ความเห็นเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านคลาวด์ฟันดิ้งว่าธุรกิจที่จะเข้ามาระดมทุนใน คลาวด์ฟันดิ้ง ต้องทำให้ผู้ลงทุนเห็นว่าธุรกิจนั้นทำงานอย่างไร และต้องทำให้นักลงทุนเห็นภาพที่ชัดเจนได้ว่าธุรกิจดังกล่าวตอบสนองความต้องการในการลงทุน และสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างไร
“ขณะเดียวกันถ้าเป็นเอสเอ็มอีที่มีกระบวนการทำงานของธุรกิจที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนถือว่าตอบโจทย์ที่จะเข้ามาระดมทุนในคลาวด์ฟันดิ้งเป็นอย่างมาก”
ทั้งนี้ การมีคลาวด์ฟันดิ้งทำให้ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนเจอกันง่ายขึ้น แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเหล่าเอสเอ็มอี ต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และยังต้องมีแผนในการดำเนินกิจการระยะยาวให้ผู้ที่จะเข้ามาระดมทุนเห็นด้วย
สิ่งสำคัญคือต้องสร้างแฟนคลับให้กับธุรกิจให้ได้ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต สำหรับการสร้างตลาดที่ 3 ต่อจาก SET และ MAI เพื่อให้เกิดการระดมทุนถือเป็นข้อดีที่จะยกระดับตลาดทุนไทย โดยนักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าลงทุนในตลาดใหญ่อย่างหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับเอสเอ็มอีด้วยเช่นกัน
ด้าน สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ต้องการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น นอกจากการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานมาร่วมกันแก้ปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.พบว่าปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอีคือกระบวนการความคิดที่ไม่ค่อยอยากให้ใครมาแทรกแซงการดำเนินงานหรือมีส่วนร่วมในธุรกิจของตนเอง และมีความเข้าใจในตลาดทุนน้อย ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีคาราวานในการให้ความรู้ช่องทางการระดมทุนให้เอสเอ็มอี เป็นมาตรการแรก
นอกจากนี้ เอสเอ็มอียังมีปัญหาในด้านการระดมทุนในตลาดแรก ก.ล.ต. จึงได้จัดการระดมทุนผ่าน คลาวด์ฟันดิ้ง ผ่านหุ้น และหุ้นกู้ เพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์ให้การระดมทุนของเอสเอ็มอีเป็นเรื่องง่ายขึ้น ซึ่งคลาวด์ฟันดิ้งมีข้อดีในเรื่องการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่ไม่เข้มงวดเหมือนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจำกัดจำนวนคนที่จะเข้ามาลงทุนได้
ปัญหาสุดท้ายคือการขาดตลาดรองในการระดมทุน ก.ล.ต.จึงพยายามทำให้เกิดตลาดซื้อขายที่สามเพื่อให้เกิดการลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ฯได้ โดยมีการกำกับที่ผ่อนคลายกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จำกัดขนาดบริษัทที่จะเข้าไปได้ ซึ่งตั้งเกณฑ์ให้เป็นบริษัทขนาดกลางเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เอ็มเอไอ หรือนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาลงทุน ต้องมีพอร์ตการลงทุนมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อป้องกันความเสี่ยง
ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า ตลาดทุนไทยมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการตั้งตลาดรองอย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ เอ็มเอไอ สำหรับบริษัทขนาดกลางที่จะเข้ามาระดมทุน ขณะที่การจะทำเรื่องเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีความท้าทายในการเข้าถึงว่าจะมีความคุ้มครองผู้ระดมทุนอย่างไรให้เหมาะสม
ปัญหาของเอสเอ็มอีขณะนี้ คือมีความเข้าใจในการระดมทุนน้อย และมีการทำระบบบัญชีไม่เข้มงวด ซึ่งมีปัญหาเรื่องเครือข่ายที่ยังน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ โดยถ้าเอสเอ็มอีสามารถเพิ่มเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจได้ จะเป็นสิ่งสำคัญให้เอสเอ็มอีเติบโตขึ้น
ขณะที่ ตลท.พยายามดำเนินการร่วมกับพันธมิตรในเรื่องดังกล่าว โดยได้แนวทางด้วยการสร้างความสมดุลให้กลุ่มคนที่จะเข้ามาระดมทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ และต้องมีความรู้ในสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วย ด้านฝั่งเอสเอ็มอีต้องมีศักยภาพที่สามารถเติบโตได้ ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลที่ดีของระบบนิเวศ
อย่างไรก็ตาม ตลท. มีสิ่งที่อยากทำมากกว่านั้น คือต้องการสร้างให้เอสเอ็มอีมีความพร้อมในการเติบโต และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย โดยเริ่มจากการให้ความรู้เอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่ง ตลท.จะมีแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับให้ความรู้เอสเอ็มอีในการระดมทุนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ภายในช่วงไตรมาส 2/2563
ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะนำความรู้ด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับเอสเอ็มอีมาไว้ในแพลตฟอร์มดังกล่าวไว้ที่เดียว นอกจากนี้ ตลท.พยายามหาคนที่มีความพร้อมในการเข้ามาระดมทุนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ ตลท.จะทำควบคู่กันไป
นอกจากนี้ ตลท.จะมีการนำผู้รู้เข้ามาให้คำแนะนำในการยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเตรียมพร้อมเข้าตลาดทุนในอนาคต และทำการจับคู่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีความรู้กับเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถเติบโตควบคู่ไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ ตลท.พยายามทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้เกิดขึ้นจริงในระยะอันใกล้
ด้าน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เปิดเผยว่า ได้มีการดูแลเอสเอ็มอีทุกมิติ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมีการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีปรับตัวพัฒนาเทคโนโลยีรับเอาดิจิทัลเข้ามาใช้ในธุรกิจ ซึ่งหลายหน่วยงานมักมีโครงการดี ๆ มอบให้เอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีมักเข้าถึงข่าวสารได้ยาก สสว.จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มเอสเอ็มอีวัน ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงได้ในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งเป็นประโยชน์กับเหล่าเอสเอ็มอีอย่างมาก และเป็นการช่วยเอสเอ็มอีให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ สสว.ยังมีสำนักงานกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด โดยเอสเอ็มอีสามารถเข้าไปขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ สสว.ประจำสำนักงานในการดำเนินธุรกิจด้านต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ส่วน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เปิดเผยว่า ในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ดังนั้นเอสเอ็มอีต้องปรับตัวใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ สิ่งที่ DEPA พยายามทำอยู่ขณะนี้คือพยายามผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ และทำให้เอสเอ็มอีสามารถปรับตัวในยุคดิจิทัลดิสรัป ด้วยการส่งเสริมเอสเอ็มอีมีการปรับตัว ด้วยการประยุกต์นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการในด้านภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเป็นการยกระดับการดำเนินธุรกิจ
คลาวด์ฟันดิ้ง จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เอสเอ็มอีไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้ในที่สุด และถ้าเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งก้จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน นี่เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไม่ควรพลาด
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : ยักษ์ใหญ่ ไอที-อีคอมเมิร์ซ ต่อยอด Digital Banking สู่สนามการเงิน