นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ระหว่างวันที่ 12 ม.ค.-12 ก.พ.2566 ทั้งนี้ คาดว่าจะออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ภายในไตรมาสแรกปี 2566
ขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่เปิดรับสมัครจนถึงให้ ธปท.คัดเลือกจะใช้เวลา 6 เดือนและกระทรวงการคลังอีก 3 เดือน โดยจะประกาศรายชื่อที่ได้รับการจัดตั้งไม่เกิน 3 รายในไตรมาส 2 ปี 2567 และให้เวลา 1 ปีในการเตรียมความพร้อม คาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ในไตรมาส 2 ปี 2568 หรือกลางปี 2568
แนวคิดจัดตั้งธนาคารไร้สาขาของ ธปท.มาจากแนวคิดใหม่ที่ต้องการให้งานบริการธนาคารหลุดรูปแบบเดิม ธนาคารไร้สาขาจะให้บริการบนดิจิทัล ไม่มีสาขา ไม่มีตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆได้มากขึ้น ทั้งสินเชื่อและเงินฝาก หรือธุรกรรมการเงินบนดิจิทัลอื่นๆ เชื่อว่า Virtual Bank จะเป็นธนาคารพาณิชย์ให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม จะช่วยให้รายย่อยและเอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อได้จากการใช้ข้อมูลทางเลือก นอกจากนี้ Virtual Bank ยังสามารถจับมือพันธมิตร เช่น ไปรษณีย์ไทย ร้านสะดวกซื้อ หรือธนาคารอื่นๆ เพื่อให้คนไทยสามารถได้ใช้เงินสดคู่กับดิจิทัลไปด้วยกัน
ทางด้านนางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ที่สนใจจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา คือต้องจดทะเบียนจัดตั้งในไทย มีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท และมีคุณสมบัติ 7 ด้าน คือต้องมีแผนธุรกิจทั้งด้านขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน, มีธรรมาภิบาล, มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล สามารถออกแบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า, มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันต้องมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงิน สามารถดำเนินธุรกิจธนาคารไร้สาขาได้อย่างยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย และต้องมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถสนับสนุนให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เปิดกว้่างให้ผู้สนทั้งรายใหม่และธนาคารรายเก่า และนอนแบงก์ รวมทั้งต่างชาติที่จดทะเบียนในประเทศเข้ามาร่วมทุนได้ โดยในช่วงแรกจะออกใบอนุญาตให้ไม่เกิน 3 ราย และจะติดตามประเมินผลก่อน หากผลตอบรับดีจึงจะขยายเพิ่มในอนาคต
ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.ยังให้ข้อมูลด้วยว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกรรมดิจิทัลในไทยเติบโตก้าวกระโดด มีคนใช้ 18 เท่า จำนวนบัญชีโมบายแบงก์กิ้งเติบโต 3 เท่า แสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากมีความพร้อมในการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล โดยธปท.คาดหวังมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน