“สมศักดิ์” สั่งรับมือน้ำท่วมภาคใต้ หลังพบปริมาณในเพิ่ม
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ว่า จากการคาดการณ์ฝนภาคใต้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – เมษายน 2567 พบว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง กุมภาพันธ์ 2567 มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณฝนตกจำนวนมาก คือ พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่จังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วนปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่นั้น ปัจจุบันภาคใต้มีปริมาณน้ำใช้การรวม 3,620 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% โดยแยกเป็น อ่างเก็บน้ำรัชชประภา มีปริมาณน้ำ 3,055 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% อ่างเก็บน้ำบางลาง มีปริมาณน้ำ 565 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48%

หากสถานการณ์น้ำเริ่มวิกฤติ จะมีการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ตามที่ตน ได้มีนโยบายบูรณาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยให้มีหน้าที่บูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ รวมถึงปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก จะได้สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ได้ทัน นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและอุทกภัยในพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในการดำเนินการจะมีการประชุมประเมินสถานการณ์ทุกวันเพื่อสรุปข้อมูลและให้คำแนะนำ รวมถึงประกอบการตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำ และติดตามและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกับทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทำให้ขณะนี้ สทนช. ได้วางมาตรการรับมือฤดูฝน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมจัดทำเป็นรายงานสถานการณ์น้ำประจำวันทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์ส่วนหน้า ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการทำฝาย และธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงสามารถช่วยช่วงน้ำแล้งได้อีกด้วย
รัฐนำร่องบัตรประชาชนใบเดียว ใช้รักษาทุกรพ. 4 จังหวัด
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดระบบสุขภาพกำชับการทำงาน และยินดีความสำเร็จในการนำร่องนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งจะเปิดให้ประชาชน “ใช้บัตรประชาชนใบเดียว” เข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะเริ่มใช้งานในวันที่ 8 มกราคม 2567 นี้ ซึ่งได้คัดเลือก 4 จังหวัดนำร่องแล้ว ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการให้บริการที่จะเริ่มนำร่อง ตามมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีทั้งหมด 5 บริการ ประกอบด้วย
- การใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการรับบริการได้ทุกที่ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ การเขียนใบส่งตัวจึงไม่จำเป็น ซึ่งขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของระบบข้อมูล และคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้
- การรักษามะเร็งครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเด็ก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม หากตรวจพบก็จะถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป
- การเข้าถึงบริการในเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม. โดยได้ทยอยเพิ่มหน่วยบริการ เช่น แขวงทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง ซึ่งเป็นจุดที่หน่วยบริการยังมีน้อย รวมทั้งการประสานร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเชิญเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการมากขึ้น ทั้งร้านยา แลปเอกชน คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกพยาบาล
- สถานชีวาภิบาล หรือการดูแลระยะสุดท้าย ซึ่งเดิมจะดูแลในโรงพยาบาล แต่พบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ประสงค์อยากกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งการดูแลระยะท้ายจะต้องดูแลโดยมีหลักวิชาการ ทั้งด้านแพทยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยจะบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานทางสังคม เช่น วัดในชุมชน ร่วมกับโรงพยาบาล
- การดูแลสุขภาพจิต ซึ่งจะมีการพัฒนาและขับเคลื่อนลงไปในระดับชุมชน ขณะเดียวกัน สปสช. มีสายด่วน 1330 อยู่เดิม ซึ่งเป็นตัวกลางในการประสานงาน รวมทั้งมีช่องทางเฟสบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ Line OA สปสช.
โดยความคืบหน้าการทำงานทั้งหมดนี้คืบหน้าแล้วกว่า 80% หลังจากทดลองระบบในรอบแรก และจะมีการทดลองระบบเป็นระยะ ๆ อีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566
“อนุสรณ์” โต้ “จุรินทร์” ปมดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ ปชป.ไปหาหัวหน้าพรรคก่อน
อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ รัฐบาลกลืนน้ำลายตัวเอง เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และเป็นจุดเริ่มต้นของการล้มละลายทางความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายจุรินทร์ ถือเป็นสิทธิ์ แต่อาจเป็นประโยชน์มากกว่านี้หากนายจุรินทร์ ได้ศึกษาและทำความเข้าใจวิวัฒนาการในการทำงานของรัฐบาล คนที่วิจารณ์ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ตรงปก อาจไม่ค่อยเข้าใจสถานการณ์ รัฐบาลพยายามมุ่งตอบโจทย์กระตุ้นเศรษฐกิจ ตอบโจทย์คนทุกคน ทุกกลุ่ม ไม่มีการละทิ้งกลุ่มใด โจทย์ใหญ่เร่งด่วนของรัฐบาล คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังประเทศเกิดวิกฤตินานหลายปี แต่เพราะระหว่างทาง มีข้อเสนอ ข้อแนะนำ เกิดขึ้นมากมาย

รัฐบาลไม่รับฟังไม่ได้ รัฐบาลยินดีรับฟังเพื่อให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้เดินหน้าและสามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็ว น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่านี้ หากนายจุรินทร์ ได้เสนอแนะในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้าโครงการ มากกว่าการตั้งข้อสังเกตเพื่อด้อยค่ารัฐบาล จนอาจส่งผลกระทบกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายจุรินทร์ เป็นผู้ใหญ่ มีประสบการณ์ทางการเมือง ควรเป็นคอมเมนเตเตอร์ที่แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและประชาชน
นอกเหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ถ้านายจุรินทร์พอจะมีเวลา ควรแบ่งเวลาไปหาวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคให้ได้ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นภารกิจหลักที่ต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
“ก้าวไกล” บุก สตช.ค้านแนวคิดให้ตำรวจจีนมาดูแลนักท่องเที่ยวในไทย
รังสิมันต์ โรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะฯ กล่าวภายหลังเข้าประชุมร่วมกับ พล.ต อ ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ต่อกรณีมีการประสานงานให้ตำรวจจีนเข้ามาดูแลนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยว่า แนวคิดดังกล่าวไม่มีทางเกิดขึ้น และได้รับการยืนยันแล้วว่าทุกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการนำตำรวจจีนเข้ามาในราชอาณาจักร เพราะมีผลกระทบในหลายมิติ

หากเริ่มต้นนำตำรวจจีนเข้ามาในประเทศไทยในวันนี้ อนาคตก็จะต้องให้ตำรวจจากชาติอื่นๆเข้ามาด้วย และตำรวจไทยก็จะไม่มีบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสม
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องช่วยกันพัฒนาศักยภาพของตำรวจไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวได้
แต่กระแสข่าวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเข้าใจผิดในการสื่อสาร ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน คณะกรรมาธิการจัดทำหนังสือขอให้รัฐบาลชี้แจงประเด็นดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่ายในการปฏิบัติ
“พวงเพ็ชร” จับมือ “สาธารณสุข” ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ พบอาพาธกว่า 1 หมื่นรูป
พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หารือร่วมกันกรณีพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด หรือ พระ อสว.) รวมถึงการให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์อาพาธ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รายงานว่า ปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์ ทั้งหมดจำนวน 288,956 รูป อาพาธทั่วประเทศประมาณ 10,000 รูป ซึ่งบางรูปไม่ได้รับการรักษาตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของ สปสช. บางรูปไม่มีผู้ดูแล พศ. จึงจัดทำโครงการในการให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ ประกอบด้วย โครงการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการสังฆาภิบาลเพื่อพระสงฆ์อาพาธ (โครงการเฉลิมพระเกียรติถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 72 พรรษา) งบประมาณ 5 ล้านบาท โครงการกุฏิสงฆ์อาพาธร่วมกับโรงพยาบาลสงฆ์ โดยจัดให้มีพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด
นอกจากนี้ พศ. ยังสร้างกลไกความร่วมมือในการจัดบริการดูแลพระสงฆ์ ทำสถานชีวาภิบาลสำหรับองค์กรพระพุทธศาสนา รวมถึงให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ตามข้อกำหนดของ สปสช.
การได้มาพูดคุยกับทางกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคณะสงฆ์ และถือเป็นครั้งแรกที่ พศ. และกระทรวงสาธารณสุขได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ แม้เบื้องหลังจะมีการประสานงานอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าจากจำนวนพระสงฆ์กว่า 2 แสนรูปทั่วประเทศ มีจำนวนกว่า 100,000 รูป ที่ยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงหนังสือสุทธิ ทำให้การรับการรักษากับสถานพยาบาลเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากการสืบค้นข้อมูลว่าเป็นพระจริงหรือไม่ ต้องใช้เวลา จึงอยากขอความร่วมมือพระภิกษุสงฆ์ทำบัตรประชาชน เพื่อใช้ในการตรวจสอบสิทธิ์ กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล