HomeBT Newsสงครามค่าเงิน EP2 เปิดศึก ดอลลาร์ vs หยวนดิจิตอล

สงครามค่าเงิน EP2 เปิดศึก ดอลลาร์ vs หยวนดิจิตอล

หลังซุ่มเงียบมานานในที่สุดประเทศจีนก็แสดงความพร้อมที่จะเปิดตัว หยวนดิจิตอล อย่างเต็มตัวในรูปแบบของสกุลเงินดิจิตอลของธนาคารกลาง (CBDC) ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯเจ้าของสกุลเงินทรงอิทธิพลของโลกอย่าง “ดอลลาร์” ยังลังเลที่จะเข้าสู่สนามนี้ ไม่แน่ว่าสงครามค่าเงินในบทที่สองอาจจะย้ายสนามแข่งมาบนโลกดิจิตอล

หากเป็นเช่นนั้นจริง ทางฝั่งเงินหยวนของจีนอาจกุมความได้เปรียบบนสงครามค่าเงินนี้เพราะชิงพื้นที่ลงมาก่อนและมีแพลตฟอร์มที่พร้อมจะรองรับและขยายอิทธิพลของ หยวนดิจิตอล อย่างเต็มที่ผ่านเครือข่ายของ Alipay หรือ WeChat Pay ที่มีผู้ใช้งานกว่าพันล้านราย

สัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงว่าจีนเตรียมตัวที่จะนำเงินหยวนที่หวงแหนมานานไม่ให้ออกไปโลดแล่นบนเวทีการเงินระดับโลกเข้าสู่โลกดิจิทัลคือการออกมาประกาศสนับสนุนเทคโนโลยีบล็อกเชนให้เป็นสาระสำคัญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

- Advertisement -

รวมถึงการประกาศรับรองกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี Cryptography ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและนำเงินดิจิตอลไปใช้งาน ผลจากการประกาศครั้งนั้นทำให้ราคาบิทคอยน์ถูกเก็งกำไรปรับตัวขึ้นแรงกว่า 30% ภายในวันเดียว 

นับตั้งแต่จีนประกาศแบนเงินดิจิตอลทั้งหมดในปี 2017 ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดเวบซื้อขายเงินดิจิตอล แบนการระดมทุนแบบไอซีโอทั้งหมด รวมถึงสั่งห้ามการทำธุรกรรมเงินเงินดิจิตอลที่เกี่ยวข้องกับเงินหยวนทั้งหมด หลายฝ่ายคาดการณ์อยู่แล้วว่าจีนน่าจะมองเห็นถึงโอกาสและคุณสมบัติที่เงินดิจิตอลมีเทียบกับ Fiat Currency แบบดั้งเดิมและน่าจะมีการสร้างสกุลเงินดิจิตอลของตัวเองจึงได้สั่งปิดกั้น Cryptocurrency จากภายนอกทั้งหมด 

จนกระทั่งธนาคารกลางและแห่งชาติจีน (PBOC) ได้ออกมาประกาศว่ากำลังพัฒนาเงิน หยวนดิจิตอล ของตัวเองในรูปแบบที่ธนาคารกลางใช้หรือ Central Bank Digital Currency  (CBDC)  ซึ่งเป็นเงินดิจิตอลในรูปแบบปิดหรือ Private Blockchain กล่าวคืออยู่บนคนละแพลตฟอร์มกับ Public Blockchain ที่บิทคอยน์และเงินดิจิตอลื่นๆใช้งานอยู่

เป็นไปตามแนวทางเดียวกับธนาคารกลางอื่นๆทั่วโลกที่ให้ความสนใจในการพัฒนาเงินดิจิตอลและบล็อกเชนของตัวเองเพื่อลดต้นทุนทางด้านการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมการเงิน เช่น ประเทศไทยที่มีโครงการอินทนนท์ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่ใช้เฉพาะระบบธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแล

IBM ได้เปิดเผยการวิจัยที่ทำร่วมกับ The Official Monetary and Financial Institutions Forum (OMFIF) คาดว่าภายในห้าปีข้างหน้าธนาคารกลางทั่วโลกจะมีการเปิดตัวและใช้งานสกุลเงินดิจิตอลของธนาคาร (CBDC)

ผลสำรวจจากผู้บริหารธนาคารทั่วโลก 73% ต้องการให้ธนาคารกลางออกเหรียญ CBDC และการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารธนาคารกลาง 50% มีความกังวลต่อโครงการรูปแบบเดียวกับ Libra ของ Facebook เนื่องจากจะเข้ามาทำให้เสถียรภาพทางการเงินของประเทศสูญเสียไป

ทั้งนี้เงินดิจิตอลของธนาคารกลางที่จะออกมาจะทำหน้าที่เหมือนกับ Fiat Currency ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพียงแต่อยู่ในรูปของดิจิทัลเท่านั้นโดยจะเข้ามาแทนที่การใช้ธนบัตรและเหรียญเงิน

ยังมีคำให้สัมภาษณ์จากผู้บริหารของธนาคารประชาชนจีนด้วยว่าเงินดิจิตอลของจีนนั้นมีรูปแบบคล้ายกับสกุลเงิน Libra ที่พัฒนาขึ้นโดย Facebook โดยมีคุณสมบัตินำไปใช้จ่ายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทนเงิน Fiat Currency แบบดั้งเดิม

การแสดงตัวอย่างชัดเจนของจีนที่ต้องการจะก้าวเข้ามาในโลกของเงินดิจิตอล แม้ทางฝั่งสหรัฐฯคู่ปรับสำคัญบนเวทีระดับโลกจะยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะนำเงินดอลลาร์ที่มีอยู่มาพัฒนาให้เป็นเงินดิจิตอล และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯก็ไม่เคยให้ความสนใจกับเงินดิจิตอลมาก่อน 

แต่ล่าสุดได้มีการคำกล่าวของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook ได้กล่าวกับกรรมาธิการด้านการเงินของสภาครองเกรส ในโอกาสที่เข้าชี้แจงถึงการเปิดตัวสกุลเงิน Libra ว่าสหรัฐฯจำเป็นต้องส่งเสริมให้ Libra เกิดขึ้นเพื่อให้เงินดอลลาร์และสหรัฐฯยังคงความเป็นผู้นำทางการเงินของโลกและแข่งขันกับจีนได้

“สกุลเงิน Libra มีสัดส่วนของเงินดอลลาร์อยู่ถึง 50% สหรัฐฯต้องสร้างนวัตรกรรมใหม่ๆทางการเงินเพื่อที่จะแข่งขันกับจีนและคู่แข่งอื่นๆได้ อนาคต6 ใน 10 ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกอาจจะเป็นของจีนก็เป็นได้”  นี่คือประโยคที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวไว้กับสภาครองเกรสสหรัฐฯไม่นานมานี้

ถึงตอนนี้ยังไม่มีท่าทีใดๆจากฝั่งสหรัฐฯในการที่จะพัฒนาเงินดิจิตอลของตัวเอง แต่หากสภาครองเกรสอนุมัติให้ Libra เกิดขึ้นได้จริง นี่คือเงินดิจิตอลที่จะเป็นตัวแทนจากฝั่งสหรัฐฯไปขับเคี่ยวกับหยวนดิจิตอลของจีนบนเวทีระดับโลก ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 2,300 ล้านรายทั่วโลก สามารถแข่งขันกับ Alipay และ WeChat Pay ที่มีฐานผู้ใช้ส่วนใหญ่อยุ่ในจีนและเอเชียได้อย่างสูสี

แม้ตอนนี้พันธมิตรของสมาคม Libra โดยเฉพาะฝั่งทางด้านผู้ให้บริการทางการเงินอย่าง Visa,Mastercard และ Paypal จะถอนตัวออกไปแล้วเนื่องจากความไม่ชัดเจนทางด้านกฎระเบียบ แต่หาก Libra ได้รับการอนุมัติจากทางการ ก็เป็นไปได้ว่าพันธมิตรที่เคยถอนตัวก็อาจจะกลับมาร่วมอีกครั้ง

ขณะที่ฝากฝั่งยุโรปซึ่งมีท่าทีต่อต้านสกุลเงิน Libra อย่างชัดเจน แต่ก็มีเสียงสะท้อนมาจากสมาคมธนาคารเยอรมันว่าธนาคารกลางยุโรปสมควรที่จะพัฒนาเงินดิจิตอลสกุลยูโรของตัวเองเช่นกัน 

รัฐมนตรีคลังเยอรมัน Olaf Scholz ยังกล่าวสนับสนุนให้เกิดสกุลเงินดิจิตอลยูโรเนื่องจากระบบการชำระเงินดิจิตอลที่มีต้นทุนต่ำและสามารถนำไปใช้งานได้อย่างแพร่หลายจะเป็นผลประโยชน์ของชาวยุโรปทั้งหมด

แม้แต่ Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรปยังเคยกล่าวด้วยว่า 

“ยุโรปไม่ควรจะตามหลังจีน รัสเซีย สหรัฐฯรวมถึงภาคเอกชนในการผลักดันให้เกิดสกุลเงินดิจิตอล”

ต้องจับตาการขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐฯและจีน บนสงครามทางด้านเทคโนโลยีรวมถึงสงครามค่าเงินในยกที่สองที่ยกระดับสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ฝั่งพญาอินทรีย์ในฐานะผู้นำเดิมที่มีเงินสกุลดอลลาร์ที่ได้รับการยอมรับมายาวนานและมีแม่ทัพคือยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีอย่าง Facebook,Google,Microsoft 

ขณะที่ฝั่งจีนเป็นผู้ท้าชิงหน้าใหม่ที่จะผลักดันเงิน หยวนดิจิตอล เข้าสู่เวทีระดับโลกขนาบข้างโดยยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Alibaba,Tencent,Huawei เรียกได้ว่าขุมกำลังไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน 

ท้ายสุดแล้วใครจะเป็นผู้ชนะน่าจับตาอย่างยิ่ง

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : Libra ไปต่อหรือรอก่อน? เมื่อ Facebook ถูกตั้งคำถาม

ลงทุนบิทคอยน์” 4 ปีให้ผลตอบแทน 595%

ขณะที่เงินดิจิตอลของธนาคารกลางซึ่งถูกควบคุมโดยภาครัฐกำลังเดินหน้าเปิดตัว แต่เงินดิจิตอลที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้นั่นคือบิทคอยน์ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลาครบ 11 ปีพอดีในวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา การเติบโตของการใช้งานเงินดิจิตอลสกุลนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาจะมีความผันผวนก็ตาม

Coinbase ซึ่งเป็นเวบซื้อขายเงินดิจิตอลจากสหรัฐฯเปิดเผยว่านับตั้งแต่มีการเปิดเผย White Paper ของ บิทคอยน์ มาเป็นเวลา 11 ปี ปีนี้ผลตอบแทนของเงินดิจิตอลดังกล่าวสามารถทำได้ดีกว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2013

ในแง่การลงทุนถ้าหากค่อยๆสะสมซื้อบิทคอยน์แบบ Dollar Cost Average (DCA) เดือนละ 10 เหรียญทุกๆเดือนๆเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน  ถึงเวลานี้จะได้รับผลตอบแทน 595% คิดเป็นตัวเลขมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 3,337 เหรียญ จากฐานทุน 480 เหรียญ

บิทคอยน์ ยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นหากสถานการณ์เศรษฐกิจหรือความไม่แน่นนอนทางการเมืองของประเทศนั้นๆเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากกรณีของประเทศเวเนซูเอล่า อาร์เจนติน่า รวมถึงฮ่องกง ซึ่งสามประเทศนี้เกิดความผันผวน ทำให้ปริมาณบิทคอยน์ที่ซื้อขายเพิ่มสูงขึ้น 

สะท้อนว่าบิทคอยน์สามารถเป็นที่พึ่งพาได้ยามที่สถานการณ์ไม่สงบ โดยสามประเทศดังกล่าวมีการซื้อขายบิทคอยน์กับเงินสกุลท้องถิ่นรวมกัน 600 ล้านเหรียญ

ในแง่ของการใช้ทดแทนเงินตรา บิทคอยน์ยังมีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนสูงทั้งในแง่ของต้นทุนที่ลดลงและความเร็วในการทำธุรกรรม ทำให้ผู้คนบางส่วนหันมาใช้บิทคอยน์แทนเงิน

เดือนธันวาคม 2017 ปริมาณการทำธุรกรรมโอนบิทคอยน์ระหว่างกันบนบล็อกเชนมีมูลค่าอยู่ที่  48,700 ล้านเหรียญ ล่าสุดเดือนมิถุนายนปีนี้มีมูลค่า 21,000 ล้านเหรียญ

นอกเหนือจากสงครามค่าเงินในยุคดิจิตอลระหว่างสหรัฐฯและจีนแล้ว อาจจะมีมือที่สามนั่นคือบิทคอยน์ที่ขับเคลื่อนบนบล็อกเชนสาธารณะในฐานะสกุลเงินดิจิตอลของมวลมนุษย์ชาติทั้งหมดไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลใดขึ้นมาแข่งขันด้วยก็เป็นได้ 

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News