“เศรษฐา” ปิ๊งไอเดียแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบในหนึ่งเดือน
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการช่วยเหลือปัญหาหนี้สินของข้าราชการ ว่าตนตระหนักดีถึงเรื่องกระแสเงินสด เงินในกระเป๋า เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ประชุมจึงมีดำริให้เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ เดือนละ 2 รอบ ส่วนในรายละเอียดก็จะแจ้งให้ทราบอีกทีนึง

โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะเป็นเดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป เพราะต้องมีการแก้ไขระบบอะไรหลายๆอย่างจึงยังทำอะไรไม่ได้ เรื่องนี้ตนเชื่อว่าจะเป็นเรื่องบรรเทาทุกข์ให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยได้พอสมควร ถ้ามีการจ่ายเงินเดือน 2 รอบจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ต้องคอยให้ถึงสิ้นเดือนก่อน ก็จะมีเงินแบ่งจ่ายออกมา
“เศรษฐา” นัดประชุมตั้ง ผบตร. คนใหม่ 27 ก.ย. นี้
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ (ช่วงบ่าย) วาระเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค.นี้

โดยนายกรัฐมนตรี จะพิจารณาและเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมต่อที่ประชุม ก.ตร.จากรายชื่อ รอง ผบ.ตร. 4 นาย ซึ่งหากเรียงลำดับอาวุโส ประกอบด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.,พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.
ทั้งนี้ ในการประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ก.ตร.มีมติให้ถอนการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ออกจากระเบียบวาระการประชุมตามที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. เสนอ เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลโดยให้นายกรัฐมนตรีใหม่ได้เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.
“สุทิน” มั่นใจเลิกเกณฑ์ทหารทำได้เร็ว พร้อมเพิ่มสวัสดิการทหาร
สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง แนวทางยกเลิกเกณฑ์ทหารว่า ต้องทำควบคู่กันไประบบสมัครใจและบังคับเกณฑ์ทหารยังคงต้องมีอยู่ แต่ควรไปกระตุ้นให้คนสมัครเยอะขึ้น หากครบตามที่กองทัพต้องการ ก็ไม่ต้องเกณฑ์ ทั้งนี้กองทัพได้ให้ความร่วมมืออยู่แล้ว และทำมาหลายปี

แต่เราจะเพิ่มความเร็ว ความแรง เหมือนอินเตอร์เน็ต 5 G โดยการสร้างแรงจูงใจพิเศษขึ้นมา ตนสั่งให้กองทัพกลับไปลดตัวเลขทหารเกณฑ์ จากเดิมประมาณ 90,000 -100,000 คน ลงอีกและ รณรงค์ให้คนสมัครใจ ด้วยการเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มเงินเดือน โดยไม่ต้องรบกวนงบประมาณของประเทศ
นอกจากนี้จะเพิ่มโอกาสให้คนที่มาสมัครใจเป็นทหารเกณฑ์ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นในการประกอบอาชีพ สามารถไปต่อเป็นนักเรียนนายสิบ โดยอยากจะทำให้ค่ายฝึกทหารเกณฑ์ คล้ายโรงเรียนนายสิบ หรือโรงเรียนนายสิบตำรวจ ช่วยสร้างแรงจูงใจได้ อีกประการหนึ่ง
ตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” รองประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
นายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ตามที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้เรื่อง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน มีอัตรา 20,000,000 ตำแหน่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก นายกรัฐมนตรีมีบัญชา ให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยเรื่อง Soft Power

โดยคณะกรรมการชุดนี้จะกำหนดยุทธศาสตร์ ว่าด้วยเรื่อง Soft Power ของประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะนั่งเป็นประธานเอง มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน นายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์ เป็นที่ปรึกษา นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการ และมี นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมด้วย
นายกฯรื้อคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการที่ไม่จำเป็น
น.สพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง สั่งการในที่ประชุม ให้แต่ละกระทรวงไปดูที่ผ่านมามีมติครม. อะไรบ้างที่ประกาศตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลต่างๆ โดยทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุมี 178 ชุด นายกฯ จึงให้ไปดูภายใน 25ก.ย.นี้ มีคณะกรรมการชุดใดที่ยังคุ้มค่าอยู่ควรจะมีต่อไป ให้เสนอมา พร้อมเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุที่ดียกเลิกทั้งหมด

นอกจากนั้นให้กระทรวง ทบวง กรม ในอดีตที่รับคำสั่งคสช. หรืออำนาจคสช. และยังต้องปฏิบัติตามนั้น ให้ไปทบทวนทั้งหมด ว่าบรรดาคำสั่งคสช.หรือหัวหน้าคสช. ทั้งหลาย มีอะไรจำเป็นต้องคงไว้หรือไม่ โดยต้อเสนอกลับมาภายใน9ต.ค. นี้ ถ้าไม่เสนอมาถือเป็นอันยกเลิกทั้งหมด
น.สพ.ชัย กล่าวว่า ถามว่าทำไมต้องมีคำสั่ง2ข้อนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ระบุว่า ประเทศไทยถ้าไม่มีกฎระเบียบที่ไปกดทับ การทำมาหากิน ทำธุรกิจจะสะดวกกว่านี้ จีดีพีจะเด้งทันทีไม่น้อยกว่า10-15% ขอเพียงอย่ามีกฎระเบียบหยุมหยิมมากเกินไป รัฐบาลตระหนักเรื่องซึ่งแทบไม่ต้องลงทุนอะไร เพียงแค่อย่าไปทำร้ายตัวเอง สร้างกฎระเบียบที่เกินความจำเป็น อันนี้จะเป็นคุณูปการมาก เป็นมาตรการเชิงรุกทางเศรษฐกิจ