ค่าเงินบาทเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ก.ย. ปิดตลาดช่วงเย็นที่ระดับ 30.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติการแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่ มิ.ย. 2556 เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย เงินบาทแข็งค่าที่สุด 0.41%
ขณะที่ค่าเงินไต้หวันแข็งค่า 0.54% , หยวนจีนแข็งค่า 0.4% , เปโซฟิลิปปินส์แข็งค่า 0.37% , ริงกิตมาเลซียแข็งค่า 0.3% , ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่า 0.3% ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่า 0.02% และรูเปียห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า 0.47%
“บาทแข็ง” เพราะจีน-สหรัฐฯ ส่อแววสงบศึก
“น.ส.รุ่ง สงวนเรือง” ผู้อำนวยการ ผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในวันนี้แข็งทำสถิติใหม่ในรอบ 6 ปีกว่านับจากมิ.ย.56 หลังจากที่จีนและสหรัฐฯถอยคนละก้าวในเรื่องการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศทำให้สถานการณ์สงครามทางการค้าคลี่คลายในระยะสั้นทำให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยแข็งค่าทันที
โดยแนะนำผู้ส่งออกและนำเข้าต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือการใช้สกุลเงินท้องถิ่นทำการค้าขายแทนสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้องกันค่าเงินที่ผันผวน และลดต้นทุนจากการใช้สกุลกลางอย่างดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันต้องติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคด้วย
“คลัง” ชี้แบงก์ชาติดูแลใกล้ชิด
“นายอุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในรอบกว่า 6 ปีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการตามข้อเท็จจริง โดยได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการส่งออกของทุกประเทศด้วยเช่นกัน
“พาณิชย์”ชี้เงินบาทแข็ง แต่กระทบส่งออกน้อยกว่าคู่แข่ง
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าที่สำคัญและของไทย พบว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงวันที่ 30 ส.ค.2562 อยู่ที่ 31.39 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งและคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งส่วนมากค่าเงินอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น
เกาหลีใต้ อ่อนค่า 6.5% , สหภาพยุโรป อ่อนค่า 6.3% , อังกฤษ อ่อนค่า 6.2% , จีน อ่อนค่า 5.3% , อินเดีย อ่อนค่า 5.1% , ไต้หวัน อ่อนค่า 4.0% , มาเลเซีย อ่อนค่า 4.0% , และเวียดนาม อ่อนค่า 2.1%
โดยหากประเมินในด้านการส่งออก พบว่า ไทยยังทำได้ดีกว่าประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกลดลง 1.9% ส่วนเกาหลีใต้ ลด 8.9% อังกฤษ ลด 3.5% ไต้หวัน ลด 2.9% และมาเลเซีย ลด 4.8% ดังนั้น การแข็งค่าของค่าเงินบาทแม้ว่าจะทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง แต่ในภาพรวมส่งผลกระทบต่อการส่งออกยังอยู่ในวงที่จำกัด
สินค้าเกษตรกลุ่มเสี่ยง จากบาทแข็ง
สำหรับสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแข็งค่าของค่าเงิน พบว่า แม้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิดจะหดตัว แต่การส่งออกไปบางตลาดยังขยายตัวได้ดี เช่น การส่งออกข้าว 7 เดือน ลดลง 18.5% แต่ส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่ม 13.9% มีสัดส่วน 13.8% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 6.9% แต่การส่งออกไปญี่ปุ่น เพิ่ม 3.2% มีสัดส่วน 10.6% การส่งออกข้าวโพด ลด 20.7% แต่การส่งออกไปเวียดนาม เพิ่ม 29.2% มีสัดส่วนร้อยละ 23.2
นอกจากนี้ การส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง เพิ่ม 2.3% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เพิ่ม 16.5% และ 10.4% ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกผลไม้สด/แช่แข็ง ที่มีความนิยมสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงถึง 44.9% สะท้อนการส่งออกสินค้าเกษตรยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการส่งออก เช่น ความต้องการสินค้า และคุณภาพสินค้า เป็นต้น
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าไลฟ์สไตล์หลายชนิดที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 15.3% , 13.3% , 12.6% , 3.3% และ 1.3% ตามลำดับ
คาดบาทยังมีโอกาสแข็งต่อ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2562 สนค. คาดว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 30.0-31.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยหลักที่อาจจจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบด้วยการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของประเทศสำคัญของโลก อย่างสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป แนวทางการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit และความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น
ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อรองรับผลกระทบจากการความผันผวนและค่าเงินที่อาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2562