รัฐบาลหนุนสิทธิ FTA ดันส่งออกไทย ยอดใช้สิทธิ 4 เดือนแรกกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม – เมษายน) ของปี 2566 ซึ่งมีมูลค่ารวม 25,831.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA สูงถึง 74.75% โดยเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ได้เจรจายกระดับ FTA เดิม และจัดทำ FTA เพิ่มเติมกับประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพ เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทย ผลักดันมูลค่าการค้าและการลงทุนให้ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ไทยมีจำนวนถึง 14 คู่ภาคี FTA

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการส่งออกภายใต้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 กับประเทศคู่ภาคีจำนวน 12 FTA มีมูลค่ารวม 25,831.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 มีจำนวน 4 กรอบ ได้แก่
1) อาเซียน-จีน (ASEAN – China Free Trade Area: ACFTA) เพิ่มขึ้น 6.98% กลุ่มสินค้าสำคัญคือ ทุเรียนสด 2) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN – Australia – New Zealand Free Trade Area: AANZFTA) ที่มีการส่งออกไปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 12.76% กลุ่มสินค้าสำคัญคือ รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ 3) ไทย-เปรู (Thailand-Peru Closer Economic Partnership: TPCEP) เพิ่มขึ้น 2.16% กลุ่มสินค้าสำคัญคือ ด้ายผสมกับฝ้าย และ 4) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เพิ่มขึ้น 106.72% กลุ่มสินค้าสำคัญคือ น้ำมันหล่อลื่น ขณะที่ภาพรวมการส่งออกของไทย 4 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 92,003.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง และหดตัวในอัตราที่น้อยกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค
ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนรัฐร่วมเอกชน นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่างระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. ….

ซึ่งสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับ การร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจ ร่วมลงทุนกับเอกชน เกี่ยวกับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- ระเบียบนี้ใช้บังคับแก่ (1) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (2) หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์ด้านการวิจัย และนวัตกรรมตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติกำหนด (3) หน่วยงานอื่นของรัฐตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กำหนด
- วัตถุประสงค์การร่วมลงทุนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (1) สร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เชิงสังคมหรือเชิงสาธารณประโยชน์ (2) สร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน หรือสร้างให้เกิดธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่
- รูปแบบการร่วมลงทุน (1) ร่วมลงทุนกับเอกชนจัดตั้งบริษัทร่วมทุน
(2) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (3) รูปแบบอื่นนอกจาก (1) และ (2) ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานเจ้าของโครงการ (4) หน่วยงานเจ้าของโครงการอาจจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน ให้ดำเนินการร่วมลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์ ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ - วิธีการคัดเลือกเอกชน มาร่วมลงทุน (1) คัดเลือกจากเอกชนอย่างน้อย 3 ราย ที่เข้ายื่นข้อเสนอ ร่วมลงทุน โดยยึดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมกับเอกชนทุกรายที่เข้ายื่นข้อเสนอ เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติ ประสบการณ์ ความพร้อม และความสามารถในการเข้าร่วมลงทุนเหมาะสม ตามเกณฑ์ที่กาหนด (2) ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการเชิญชวนเฉพาะเอกชนซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดรายใด รายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ
16 ก.ค.นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรี กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง–คงคา พร้อมตั้งสภาธุรกิจ 6 ชาติ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ครั้งที่ 12 (Joint Ministerial Statement of the 12th Mekong – Ganga Cooperation Ministerial Meeting) โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมในการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา

ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ในรูปแบบการประชุมแบบผสมผสาน ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา (Mekong – Ganga Cooperation: MGC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ซึ่งริเริ่มโดยอินเดีย ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และอินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอนุภูมิภาคน้ำโขงใน 10 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1)การท่องเที่ยว (2)วัฒนธรรม (3)การศึกษา (4)สาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม (5)การเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง (6) คมนาคมและการสื่อสาร (7)วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม (8)การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (9)วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (10)การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้างศักยภาพ
รัฐบาลร่วมวงประชุมรัฐมนตรีอาเซียน อินโดเป็นเจ้าภาพ 11-14 ก.ค.นี้ พร้อมรับรองเอกสาร 15 ฉบับ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จำนวน 15 ฉบับ ซึ่งจะมีการลงนามและรับรองร่างเอกสารต่างๆ

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 ระหว่างวันที่ 11 -14 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา โดยสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ สำหรับเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 15 ฉบับ แบ่งเป็น 1)ร่างเอกสารที่จะร่วมรับรอง (adopt) จำนวน 12 ฉบับ และ 2)ร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 3 ฉบับ สรุปได้ดังนี้
ฉบับที่ 1 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 ภายใต้หัวข้อหลัก “อาเซียนเป็นศูนย์กลางสรรค์สร้างความเจริญ” โดยมีหัวข้อสำคัญ ได้แก่
1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน เป็นการส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในภูมิภาค อาทิ การสร้างความเข้มแข็งในการฟันฝ่าพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน
2.ประชาคมอาเซียน เป็นการแสดงเจตนารมณ์ถึงการสานต่อและเพิ่มพูนความร่วมมือทั้งสามเสาของอาเซียน ดังนี้
เสาที่ 1 ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน อาทิ รักษาภูมิภาคอาเซียนให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทุกประเภท ต่อสู้กับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและอาชญากรรมข้ามชาติ ส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์
เสาที่ 2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการรวมตัวทางเศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนการจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังการระบาดของโรคโควิด–19 ผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค สร้างระบบการชำระเงินข้ามแดน สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของ MSMEs
เสาที่ 3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน อาทิ จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยสุขภาพหนึ่งเดียว สร้างทักษะที่จำเป็นแก่เยาวชนเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต รับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างต่อเนื่อง
นางสาวรัชดา กล่าวว่า เอกสารฉบับที่ 2 คือ ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสะท้อนถึงการครบรอบ 20 ปี ของการภาคยานุวัติเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของจีน ซึ่งเป็นเอกสารแสดงถึงความสำคัญของการครบรอบ 20 ปี ที่ทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันปฏิบัติตามพันธกรณีสนธิสัญญา TAC โดยเสริมสร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมความร่วมมือในทุกสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สนธิสัญญา TAC จัดทำขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค ได้แก่ (1)การเคารพในอำนาจอธิปไตย ความเสมอภาค และบูรณภาพแห่งดินแดน (2)การไม่แทรกแซงกิจการภายใน (3)การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี (4)การไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง และ (5)การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน
สำหรับร่างเอกสารฉบับที่ 3 – 6 ประกอบด้วย ฉบับที่ 3 ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน – อาโอทีอาโรอา นิวซีแลนด์ว่าด้วย ความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด – แปซิฟิก ฉบับที่ 4 ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและรัสเซียในวาระครบรอบ 5 ปี ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – รัสเซีย ฉบับที่ 5 ร่างภาคผนวกของแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน – อินเดีย เพื่อสันติภาพ ความก้าวหน้า และความรุ่งเรืองร่วมกัน (ค.ศ. 2021-2025) ฉบับที่ 6 ร่างภาคผนวกของแผนปฏิบัติการอาเซียน – สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2021-2025 ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ทั้ง 4 ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเชื่อมโยงกับความร่วมมือสามเสาของอาเซียน คือ 1.ด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น เสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่าง ๆ ส่งเสริมความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเล 2.ด้านเศรษฐกิจ เช่น เสริมสร้างความร่วมมือด้านการวางกฎเกณฑ์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 3.ด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น จัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น
นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ร่างเอกสารฉบับที่ 7 -12 มีสาระสำคัญ ดังนี้
ฉบับที่ 7 ร่างแนวทางการเร่งการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพและมีเนื้อหาที่ครอบคลุมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เช่น กำหนดระยะเวลาการเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้เสร็จภายใน 3 ปี จัดประชุมเป็นประจำ 4 ครั้งต่อปี เป็นต้น
ฉบับที่ 8 ร่างแผนการดำเนินงานของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) เพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาภายใต้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ.2024-2028 โดยดำเนินการผ่านกลไกที่มีอยู่ของอาเซียน ซึ่งจะต่อยอดการดำเนินความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เช่น ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข เป็นต้น
ฉบับที่ 9 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของการประชุม ARF เป็นร่างเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินการตามมาตรการและข้อริเริ่มที่ได้ตกลงกันไว้ โดยพิจารณาถึงบทบาท ความสำเร็จ และความท้ายทายของการประชุม ARF ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ฉบับที่ 10 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ครั้งที่ 30 ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลในรูปแบบใหม่ เช่น การป้องกันและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเล
ฉบับที่ 11 ร่างแถลงการณ์การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการลดความเสี่ยงทางนิวเคลียร์ ผ่านความร่วมมือและมาตรการที่ทำได้จริง เช่น ส่งเสริมมาตรการลดความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ พัฒนาช่องทางการสื่อสาร
ฉบับที่ 12 ร่างแผนงานการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ค.ศ.2023-2025 โดยมีกรอบดำเนินงานในประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1)ยาเสพติด 2)สารเคมี ชีวภาพ วัตถุกัมมันตรังสีและนิวเคลียร์ 3)การป้องกันและการต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง และ 4)การค้ามนุษย์
นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ร่างเอกสารที่จะลงนามอีก 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 13 – 15 เป็นร่างหนังสือที่รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะลงนามเพื่อให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ของสหรัฐเม็กชิโก สาธารณรัฐปานามา และราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ เอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามทั้ง 15 ฉบับ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งไม่เป็นการกระทำที่มีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เนื่องจากเป็นร่างเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาในการส่งเสริมความร่วมมือและต่อยอดการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
SME D Bank จัดสัมมนา ‘เปิดประตูสู่โลกการค้าตะวันออกกลาง’ หนุนเอสเอ็มอีไทย 18 ก.ค. 66
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย จับมือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) จัดงานสัมมนาพิเศษแห่งปี “เปิดประตูสู่โลกการค้าตะวันออกกลาง” (MIDDLE EAST GATEWAY) วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น. ณ ห้องประชุมแก้ววิเชียร สำนักงานใหญ่ SME D Bank อาคาร SME Bank Tower (BTS อารีย์ ทางออก 2) มอบความรู้และชี้โอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ในการเดินหน้าธุรกิจ นำเสนอสินค้า เพื่อขยายตลาดสู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และดูไบ ซึ่งมีกำลังซื้อสูงมาก

พบเคล็ดลับการทำธุรกิจในตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จากวิทยากรและกูรูตัวจริง เช่น นายอภิชาติ ประเสริฐสุด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน และ นายปิติชัย รัตนนาคะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองดูไบ เป็นต้น