CAT โชว์เน็ตบรอดแบนด์ 10 Gbps มองอนาคตไม่ต้องมีคอมแรง แต่ดึงข้อมูลผ่านคลาวน์แบบเรียลไทม์
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ระบุว่า ในอดีตกว่า 15 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตมีความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด จากส่งอีเมลธรรมดา ไปสู่การฟังเพลงออนไลน์ และก้าวไปสู่การถ่ายทอดสดต่าง ๆ ซึ่งอินเทอร์เน็ตเองก็มีส่วนในการขับเคลื่อนธุรกิจในหลายภาคส่วน เมื่ออินเทอร์เน็ตมีความเร็วและประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นไปอีกระดับ ก็จะทำให้เกิดพัฒนาการที่สำคัญกับการดำเนินธุรกิจและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม

ดร.ดนันท์ ระบุว่า “CAT ตั้งใจที่จะนำเสนอประสบการณ์ต่างๆ ในโลกแห่งอนาคต ว่าชีวิตเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ 10,000 Mbps หรือ 10 Gbps ไว้ใช้งาน เช่น เราจะไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์ที่เก็บข้อมูลจำนวนมากไว้ในเครื่อง เนื่องจากสามารถเรียกใช้โดยตรงจากคลาวด์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หรือเราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอนโซลเกม หรือการ์ดกราฟิกราคาแพงในการเล่นเกมที่มีความซับซ้อน ภาพคมชัดระดับ 8K หรือมีความสมจริงรายล้อม ตัวอย่างเช่น VR โดยทั้งภาพและเสียงเราสามารถดึงคอนเทนต์มาใช้งานได้ด้วย แบนด์วิดท์ระดับสูงนี้ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ในสาขาอาชีพต่างๆ อาทิ กลุ่ม Blogger/Vlogger ที่ต้องอัปโหลดคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ หรือการสตรีมมิ่ง/ส่งไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับวงการแพทย์เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคและเชื่อมโยงในขั้นตอนการรักษา ซึ่งการรับ – ส่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้จะถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้แบบเรียลไทม์ทันที โดย CAT จะนำเสนอประสบการณ์จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวไว้ที่ SPACE by CAT ในพื้นที่นี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดเฉพาะลูกค้าของ CAT เท่านั้น”
โดย CAT ต้องการนำประสบการณ์ของการใช้อินเทอร์เน็ตในอนาคตที่มีความเร็วสูงระดับวาร์ปสปีดหมื่นเม็ก (Warp Speed 10,000 Mbps) แรงสุดทะลุโลก มานำเสนอให้ประชาชนได้สัมผัสที่ SPACE by CAT ชั้น 7 โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัล เวิลด์
อย่างไรก็ตามบริการอินเทอร์เน็ตดังกล่าว ยังไม่ได้เปิดให้บริการจริงเชิงพาณิชย์ เพราะปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ CAT ยังเป็นกลุ่มองค์กรอยู่ ซึ่งหลังจากนี้ก็มีแผนที่จะวางเครือข่ายเจาะไปยังกลุ่มบุคคลธรรมดาเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยจะใช้ตัวรับ-ส่งที่รองรับความเร็ว 10 Gbps เป็นมาตรฐานการบริการ