ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อมาตรการ ชิม ช้อป ใช้” พบว่า มีประชาชน 34.7% ที่เข้าร่วมลงทะเบียน ในขณะที่ส่วนใหญ่ 65.3% ไม่ได้เข้าร่วมลงทะเบียน
เมื่อถามว่าจะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในเรื่องใด ส่วนใหญ่ 71.4% จะนำไปซื้อของใช้ภายในบ้าน รองลงมา 50.8% จะนำไปซื้อของกิน ไปใช้ในร้านอาหาร และ 10.3% จะนำไปใช้เป็นค่าโรงแรม ค่าที่พัก
เมื่อถามว่า “อยากให้ภาครัฐมีการขยายเวลาและเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียน มาตรการ ชิม ช้อป ใช้ หรือไม่” ส่วนใหญ่ 55.7% อยากให้เพิ่ม เพราะจะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ 44.3% ไม่อยากให้เพิ่ม เพราะคิดว่าไม่ช่วยอะไร เปลืองภาษีประชาชน
ส่วนความคิดว่าเห็นด้วยหรือไม่หากภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบนี้อีกในปีหน้า ส่วนใหญ่ 50.4% เห็นด้วย ขณะที่ 40.2% ไม่เห็นด้วย และ 9.4% ไม่แน่ใจ

รมว.คลัง เผยเอง 12 วัน เงินหมุนเวียน 4.2 พันลบ. กทม.ยอดใช้จ่ายสูงสุด
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า ได้รับรายงาน ในช่วง 12 วันแรกของมาตรการชิมช้อปใช้ มีผู้ใช้สิทธิ์แล้วจำนวน 4,535,561 ราย เกิดเป็นเงินหมุนเวียนในระบบรวม 4,296 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 4,254 ล้านบาท

โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช็อป” ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ 2,416 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่าย 583 ล้านบาท ร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่าย 55 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป มียอดใช้จ่าย 1,200 ล้านบาท ส่วนการใช้จ่ายผ่านร้านค้าขนาดใหญ่นั้น มีจำนวนเงินประมาณ 817 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 19% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด

ขณะที่การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 15,027 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 42 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 2,782 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ภายใน 5 วัน โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” 27 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” มียอดใช้จ่าย 9 ล้านบาท และร้าน “ใช้” มียอดใช้จ่าย 6 ล้านบาท
โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) กรุงเทพฯ 536 ล้านบาท (2) ชลบุรี 297 ล้านบาท (3) สมุทรปราการ 184 ล้านบาท (4) ปทุมธานี 135 ล้านบาท (5) พระนครศรีอยุธยา 130 ล้านบาท (6) ระยอง 114 ล้านบาท (7) นครปฐม 108 ล้านบาท (8) ลำพูน 105 ล้านบาท (9) เชียงใหม่ 101 ล้านบาท และ (10) นนทบุรี 101 ล้านบาท
“ผมยืนยันวัตถุประสงค์เดิมของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” คือ การกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจฐานราก เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการายย่อย ร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้นหากพบการกระทำที่ไม่เหมาะสม ในมาตรการ “ชิมช็อปใช้” พี่น้องประชาชน สามารถร้องเรียนได้ผ่าน กรมบัญชีกลาง โทร 02 2706400 กด 7 เพื่อให้มาตรการนี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ตามที่รัฐบาลไว้กำหนดเป้าหมายเอาไว้”
กรมบัญชีกลาง โอนเงินให้ล้านค้าแล้ว
ด้าน นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้โอนเงินค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ ชิมช้อปใช้ แล้วกว่า 4,295.5 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นร้านค้าที่ได้สิทธิ กระเป๋าสิทธิ ชิมช้อปใช้ (G-Wallet 1) 1,000 บาท จำนวน 4,253.7 ล้านบาท และร้านค้า กระเป๋า G-Wallet 2 จำนวน 41.8 ล้านบาท
ขณะนี้มีร้านค้าลงทะเบียนแล้วจำนวน 92,036 ร้านค้า โดยเป็นร้านค้าที่อยู่ในส่วนกลาง คือ กรุงเทพมหานคร 13,448 ร้านค้า และกระจายอยู่ในส่วนภูมิภาคอีก 78,588 ร้านค้า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนให้ความสนใจมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว