นายกฯ ตรวจความพร้อม-ทดสอบการเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (10 ก.ค. 66) เวลา 13.30 น. ณ สถานีรถไฟฟ้ามีนบุรี (PK30) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาตรวจสอบความพร้อมก่อนทดสอบการเดินรถไฟฟ้า (Trial Run) โครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ระบบรถไฟฟ้ารางเดียว (Monorail) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ PPP Net cost ตามนโยบายรัฐบาล ยกระดับโครงข่ายคมนาคมทางราง เชื่อมต่อการเดินทางอย่างเป็นระบบ สู่ทุกจุดหมายสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีสอบถามถึงเส้นทางการเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ และจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ พร้อมกับเยี่ยมชมจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในอนาคต ก่อนร่วมทดสอบการเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เส้นทางสถานีมีนบุรี (PK30) – สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) – สถานีลาดปลาเค้า (PK18) ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
รัฐบาลผลักดันโอกาส เพิ่มการลงทุนผู้ประกอบการไทยในประเทศเพื่อนบ้าน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุน พร้อมเชื่อมโยงจุดผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 7 – 8 กรกฎาคม 2566 และได้หารือกับภาคเอกชนไทยถึงโอกาสการขยายการค้า และการลงทุนในสปป.ลาว โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมองว่า สปป.ลาว นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในธุรกิจกาแฟ เพราะสปป.ลาว เป็นแหล่งปลูกกาแฟใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวของสปป.ลาว ทำให้ธุรกิจคาเฟ่เติบโตสูง และ สปป.ลาว ยังมีแผนพัฒนาคุณภาพการผลิตกาแฟให้ได้มาตรฐานสากล จึงทำให้ไทยและสปป.ลาว มีโอกาสขยายความร่วมมือกัน เพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟกัน รวมทั้งการวิจัยเชิงวิชาการ การร่วมทุน และการใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรอบอาเซียน เพื่อการค้ากาแฟระหว่างกัน
รัฐบาลตั้งเป้าปี 66 ส่งเสริมคนพิการมีงานทำ 68,000 คน มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทุกมิติ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในทุกมิติของรัฐบาล โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนการมีงานทำของคนพิการตามกฎหมายรวมถึงการจ้างงานคนพิการ รวมถึงการสนับสนุนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ พบว่า ในปี 2565 มีสถานประกอบการทั่วประเทศ 14,444 แห่ง จ้างงานคนพิการแล้ว จำนวน 63,904 คน ขณะที่ การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ส่วนหนึ่งได้นำมาให้คนพิการกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมุ่งสานต่อนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในปี พ.ศ.2566 รัฐบาล โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งเป้าหมายการจ้างงานคนพิการ จำนวน 68,234 คน เพื่อเปิดโอกาส สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกทั้ง เพื่อสร้างคุณค่าให้กับคนพิการ ส่งเสริมให้คนพิการแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในการทำงาน
Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันนี้ (วันที่ 10 กรกฎาคม 2566) บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) Fitch คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.6 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.7 และร้อยละ 3.8 ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และคาดว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 29 ล้านคน จาก 11.2 ล้านคน ในปี 2565 ประกอบกับ การบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องภายใต้มาตรการสนับสนุนต่าง ๆ และมีสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ลดลง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการลดลงหรือชะลอตัวของอุปสงค์และเศรษฐกิจโลก และการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัวของประเทศที่พัฒนาแล้ว (Advanced Economies)
2) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) Fitch คาดว่า การขาดดุลการคลังของไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.4 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.4 ในปี 2566 และคาดว่าปี 2567 จะขาดดุลที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งการขาดดุลที่ลดลงสะท้อนถึงรายได้ภาษีที่แข็งแกร่งขึ้นและการสิ้นสุดของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไรก็ดี ภายในปี 2567 คาดว่า สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55.9 แต่ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Peers) และจะทยอยลดลงเนื่องจากมีการปรับภาวะทางการคลังให้เข้าสู่สมดุล (Fiscal Consolidation) นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังคงสามารถระดมทุนในประเทศได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ ส่งผลให้ หนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทและมีอายุคงเหลือที่ค่อนข้างยาว จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านการคลัง
3) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงแข็งแกร่งและยืดหยุ่น แม้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการเงินโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดย Fitch คาดว่า ปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 2.0 ของ GDP และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2567 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและสถานการณ์ราคาน้ำมันที่คลี่คลาย อีกทั้งปี 2566 คาดว่าประเทศไทยจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก คือ 7.3 เดือน ขณะที่คาดว่า BBB Peers และ A Peers จะมีค่ากลางอยู่ที่ 4.2 เดือน
4) ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Fitch ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ การลดลงของสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) การลดการขาดดุลตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีศักยภาพในระยะปานกลาง ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ Fitch มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ คือ การไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและส่งผลต่อการเติบโตหรือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญต่อการปรับมุมมองในระยะปานกลาง (Medium-term growth outlook) คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะส่งผลต่อแผนการปรับภาวะทางการคลังให้เข้าสู่สมดุล (Fiscal Consolidation)
“สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสม ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 122,830 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 ของเป้าหมายทั้งปี”
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 สคร. มีเป้าหมายในการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 (เงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ) จำนวน 149,600 ล้านบาท

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566) สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 122,830 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของเป้าหมายการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2566 ต่ำกว่าประมาณการสะสมจำนวน 573 ล้านบาท โดยเงินนำส่งรายได้แผ่นดินส่วนใหญ่มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารออมสิน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีงบประมาณ 2566 มีดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ลำดับที่ รัฐวิสาหกิจ เงินนำส่งรายได้แผ่นดิน
1 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 32,729
2 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 29,198
3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 11,507
4 ธนาคารออมสิน 11,055
5 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 8,637
6 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 5,075
7 การท่าเรือแห่งประเทศไทย 4,879
9 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 4,731
8 การไฟฟ้านครหลวง 3,804
10 การประปานครหลวง 2,387
11 อื่นๆ 8,828
รวม 122,830
หมายเหตุ : ข้อมูลเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง โดย สคร. จัดเก็บ ไม่รวมเงินนำส่งรัฐประเภทอื่น เช่น ภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ
ปีงบประมาณ 2566 เป็นการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากผลประกอบการในปี 2565 ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3 มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ สะสมต่ำกว่าประมาณการสะสม อย่างไรก็ดี สคร. จะกำกับติดตามการนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาผลประกอบการ มาตรการของภาครัฐ และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ เป็นไปตามเป้าหมายและเป็นกลไกในการช่วยรักษาเสถียรภาพทางการคลังต่อไป