HomeBT Newsเป็นเจ้าของหุ้น "เอสโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” ในราคาเดียวกับตระกูล “ภิรมย์ภักดี”

เป็นเจ้าของหุ้น “เอสโฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” ในราคาเดียวกับตระกูล “ภิรมย์ภักดี”

นอกเหนือจากมูลค่าระดมทุนที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการนำหุ้นไอพีโอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย AWC ยังถูกพูดถึงในแง่ของราคาเสนอขายที่ “แพง” ลิบลิ่ว แต่ในขณะที่หุ้น เอสโฮลเทล แอนด์ รีสอร์ท หรือ SHR นักลงทุนมีโอกาสซื้อได้ในราคาสมเหตุสมผลกว่า เพราะราคาที่เสนอขายนั้นแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ในราคาเดียวกับผู้ถือหุ้นเดิมนั่นคือกลุ่มภิรมย์ภักดี

หุ้น AWC เสนอขายในราคา 6 บาท โดยมีอัตราส่วนการเงินสำคัญคือค่า P/E Ratio 277.6 เท่า และค่า P/BV 5 เท่า ราคาพาร์ 1 บาท เปรียบเทียบกับค่า P/E ของกลุ่มโรงแรมที่ซื้อขายกันเฉลี่ยที่ 33 เท่า และ P/BV 3.8 เท่า 

ขณะที่ SHR เสนอขายในราคาหุ้นละ 5.20 บาท ราคาพาร์ 5 บาท ค่า P/E Ratio ที่ 162-174 เท่า และ Book Vaue 5.2 บาทต่อหุ้น 

- Advertisement -

เปรียบเทียบแบบนี้หมายความว่าผู้ที่จองหุ้นไอพีโอ SHR จะได้ซื้อหุ้นในราคาที่เป็นมูลค่าพื้นฐานของกิจการ เพราะ Book Vaue คือ 5.2 บาทต่อหุ้น แต่เสนอขายที่ 5.20 บาท เท่ากับ P/BV เท่ากับ 1 

หมายความว่าผู้ที่จองซื้อหุ้น SHR ในราคาไอพีโอเหมือนได้เป็นเจ้าของโรงแรม 39 แห่งใน 5 ประเทศในมูลค่าเดียวกับเจ้าของเดิมนั่นคือกลุ่มภิรมย์ภักดี

เทียบกับ AWC ที่ผู้เสนอขายในราคาแพงกว่ามูลค่าพื้นฐานของกิจการ (P/BV) ถึง 5 เท่า เพราะกลุ่มสิริวัฒนภักดีได้บวกพรีเมี่ยมเข้าไปในราคาจองซื้อ ทำนองว่า..อยากได้ของดีราคาแพงก็ต้องจ่ายแพง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยงต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะหุ้น SHR มีความเสี่ยงในการลงทุนดังนี้

สัดส่วนหุ้นของผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร ที่ไม่ติด silent period (สามารถขายหุ้นได้ในวันไอพีโอทันที) จำนวน 179,681,920 หุ้น คิดเป็น 5%  ไม่รวมจำนวนหุ้นของผู้มีส่วนร่วมในการบริหารที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมและมีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น

SHR เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์ Market Capitalization  เนื่องจากในงวด 6 เดือนของปี 2562 บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 201.9 ล้านบาทและบริษัทฯ คาดว่าในงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 บริษัทฯ จะยังคงมีผลขาดทุนสุทธิอยู่เช่นเดียวกัน

บริษัทฯ คาดว่าการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดโครงการ Crossroads เฟส 1 ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์ 

นอกจากนี้ยังผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคต่อผลการดำเนินงานของโรงแรมของบริษัทฯ ในสหราชอาณาจักร และผลกระทบของความแตกต่างของการรวมผลการดำเนินงานของโรงแรม Outrigger 

ตั้งเป้าเติบโต 2 เท่าภายในปี 2568

นริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ที่จะยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SHR  หลังเข้าตลาดหุ้น 58.8% กล่าวว่าการนำ SHR ซึ่งเป็นธุรกิจโรงแรม เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สำเร็จ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับ สิงห์ เอสเตท และตอกย้ำเป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็น โกลบอล โฮลดิ้ง คัมปานี

“ธุรกิจโรงแรมจึงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในระยะยาวเหมาะสมที่จะลงทุนขยายธุรกิจ อีกทั้งกลุ่มธุรกิจโรงแรมของ SHR ก็มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมจำนวน 39 แห่ง 4,647 ห้อง ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก เช่น สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ สาธารณรัฐมอริเชียส สหราชอาณาจักร และประเทศไทย”

เดิร์กอังเดรลีน่า คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสโฮเทล แอนด์รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR กล่าวว่า SHR มีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจโรงแรมอีกกว่าเท่าตัว จากจำนวนโรงแรมและรีสอร์ท 39 แห่ง เป็น 80 แห่ง ภายในปี 2568 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย15% ต่อปี

ชัยรัตน์ศิวะพรพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัทเอสโฮเทลแอนด์รีสอร์ทจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินที่ได้จากการระดมทุน IPO จะถูกนำไปใช้ในการขยายธุรกิจโรงแรมและลงทุนในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเงินที่ระดมทุนมานั้น จะนำไปชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกิจการทั่วไป ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงการและค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงห้องพักและพื้นที่ส่วนกลาง

นักวิเคราะห์มอง AWC ภาษีดีกว่า

นายประกิตติ สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยว่า หุ้น AWC และ SHR มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมากในแง่การทำธุรกิจ เนื่องจากมีการลงทุนในธุรกิจโรงแรม หรือการให้เช่าอาคารสำนักงานด้วยกันทั้งคู่ 

แต่ความแตกต่างของหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ คือขนาดของหุ้นที่มีความใหญ่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก AWC เป็นหุ้นที่มีอัตราส่วนทางการเงินที่จะแสดงถึงอัตราส่วนต่อราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (PE) กว่า 200 เท่า ณ วันที่ขอจดทะเบียนเข้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขณะที่ SHR มี PE แตะอยู่ระดับใกล้ ๆ 100 เท่า ซึ่งเป็นขนาดของหุ้นที่ห่างกันเป็นอย่างมาก

ด้วยขนาดความใหญ่ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทำให้หุ้น AWC ค่อนข้างได้เปรียบ SHR อย่างชัดเจน เนื่องจาก AWC ยังมีทรัพย์สินจากบริษัทอื่นในเครือฯที่รอการขายเข้ามา ส่วนแผนการเติบโตทางธุรกิจนั้น AWC ดูจะมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจนกว่าหุ้น SHR เนื่องจาก AWC มีเป้าหมายการใช้เงินอย่างชัดเจนภายหลังการระดมทุนว่าจะนำเงินไปซื้อทรัพย์สินใดเข้ามาบริหารบ้าง ทำให้หุ้น AWC เห็นการเติบโตเชิงรุกที่มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดความใหญ่ของหุ้น AWC ยังทำให้กองทุนต่าง ๆ หรือนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ล้วนจำเป็นที่จะต้องถือครองหุ้น AWC ไว้ในพอร์ตการลงทุนของตนเองด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่การันตีว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ 

ขณะที่ เอสโฮเทล หรือ SHR ที่มีขนาดเล็กนั้น ยังไม่จำเป็นที่กองทุนต่าง ๆ หรือนักลงทุนสถาบันในประเทศ และต่างประเทศ จำเป็นจะต้องถือครองหุ้น SHR ไว้ในพอร์ตการลงทุน

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : SHR ขายหุ้นไอพีโอพร้อมเทรดกลางพ.ย. มุ่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 15%

อ่านเรื่องราวของ SHR พร้อมอินโฟกราฟฟิคสวยๆ ได้ในหนังสือพิมพ์ BusinessToday วางแผงวันนี้ที่ร้านซีเอ็ดทุกสาขา
Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News