ดีมานด์ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น หรือ อัตราเงินเฟ้อขาขึ้นก็ดี อาจเป็นชนวนให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม แต่สำหรับธุรกิจแพคเกจจิ้งบอกเลยว่า “ไม่ว่าสถานการณ์ไหนแนวโน้มของของราคามีแต่ขาลง” เพราะเมื่อไหร่ที่แพคเกจจิ้งราคาสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาขายสินค้าให้สูงขึ้นตาม
ดังนั้น ความท้าทายหลักของผู้บริหารที่อยู่ในธุรกิจแพคเกจจิ้ง นอกจากจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ยังต้องแบกรับโจทย์ใหญ่อีก 2 ข้อ นั่นคือ บริหารต้นทุนอย่างไรให้มีแต่ถูกและถูกลง กับ ทำอย่างไรให้แพคเกจจิ้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3 ด่านสำคัญของธุรกิจแพคเกจจิ้ง
หนึ่งในผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด คือ วรวัฒน์ บูรณากาญจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด หรือ บีจีพี (BGP) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ในเครือบางกอกกล๊าส หรือ BG ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ อาทิ ฝาพลาสติก ขวดพลาสติก ลัง กล่องกระดาษลูกฟูก มานานกว่า 20 ปี
วรวัฒน์ บูรณากาญจน์
“ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก เชื่อมั้ยว่า แค่เราเผลอหันหลัง อาจจะกลายเป็นผู้แพ้ เสียยอดออเดอร์ให้กับคู่แข่งได้เลย” วรวัฒน์สะท้อนภาพความเป็นจริงของตลาดอย่างเห็นภาพก่อนแตกประเด็นเพื่อตอบคำถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นอย่างออกรส
1.ไม่แข่งยิ่งแพ้ ต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้น นอกจากจะต้องศึกษาตลาด ดูความต้องการของผู้บริโภคให้ดีแล้ว ปีที่ผ่านมา ทางบีจีพียังมีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ สร้างดรีมทีม ด้วยการทาบทามผู้บริหารจากภายนอกในหลากหลายวงการที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตเข้ามาเสริมทัพทีมผู้บริหารเดิมที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ เพื่ออัพเลเวลองค์กรจากไทยสไตล์ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นสากลมากขึ้น พร้อมนำองค์ความรู้จากธุรกิจอื่นเข้ามาปรับใช้ในองค์กร
2.ใครคุมต้นทุกการผลิตได้ดีที่สุด คนนั้นคือผู้ชนะ สิ่งที่ชี้ขาดความสำเร็จของธุรกิจแพคเกจจิ้้งไม่ใช่ต้นทุนวัตถุดิบ แต่เป็นความสามารถในการควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด โดยที่คุณภาพไม่ตกหล่น แต่ราคายังเข้าถึง เพราะอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า แนวโน้มของราคาแพคเกจจิ้งมีแต่ต้องลดลงเรื่อยๆ
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อไหร่ที่ต้นทุนแพคเกจจิ้งสูงขึ้น เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้กับคู่ค้าอีกทอด ซึ่งหนทางที่จะให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพที่สุด ก็หนีไม่พ้น การควบคุมกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดของเสีย อาศัยเทคโนโลยีของเครื่องจักร ซึ่งทุกวันนี้มีให้เลือกนำเข้าจากฝั่งยุโรปและจีน ซึ่งแน่นอนว่าคุณภาพและราคาอาจจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับมุมมอง
“ผมไม่ได้ตัดสินว่าของจีนหรือยุโรปดีกว่ากัน เพราะเดี๋ยวนี้ ฝั่งยุโรปก็ย้ายฐานเข้ามาในจีน มีการส่งต่อองค์ความรู้กันอยู่แล้ว แต่ผมมองในแง่ความคุ้มค่า ถึงราคาเครื่องจักรจีนกับยุโรปจะราคาต่างกัน 50 % แต่อายุการใช้งาน การซ่อมบำรุงก็สร้างความปวดหัวต่างกัน เปรียบเทียบง่ายๆของที่ราคาถูกกว่า อาจจะใช้ได้แค่ 5 ปี ต้องอาศัยการดูแลเยอะหน่อย ส่วนของแพงอาจจะใช้ได้ 10 ปี ไม่ต้องดูแลเยอะ แต่หากมองในแง่ความคล่องตัว ด้วยราคาที่ถูกกว่า พอใช้ไปสักพักถ้าอยากเปลี่ยนเพื่ออัพเลเวล หรือ มองหาแบบที่ตอบโจทย์มากกว่า ก็คล่องตัวกว่าเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับมุมมอง”
3.ธุรกิจที่ดีต้องไม่ทำร้ายโลก เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงมาแรง โดยเฉพาะบีจีพีอยู่ในธุรกิจที่ผลิตกระดาษ และพลาสติก ในฐานะกลางน้ำของซัพพลายเชนยิ่งต้องให้ความสำคัญ
“ผมขอแยกเป็น 2 ส่วนสำหรับธุรกิจกล่องกระดาษ ผมไม่ค่อยกังวลเพราะตอนนี้ที่เราผลิตส่วนใหญ่เป็นการนำกระดาษรีไซเคิลมาใช้ควบคู่กับการใช้เยื่อกระดาษจากไม้ที่ปลูกเอง ส่วนพลาสติก เรามีความพยายามที่จะร่วมมือกับพันธมิตรวนการสร้างเครือข่ายเพื่อเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับมาเพื่อรีไซเคิล แต่ยังอยู่ระหว่างการพูดคยเพื่อหาแนวทางร่วมกัน ขณะเดียวกันยังมีการศึกษาถึงความเป็นไปในการนำพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้มาใช้ แต่เนื่องจากปัจจุบันยังมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 3-4 เท่า ยังไม่ตอบโจทย์กับการนำมาใช้เชิงพาณิชย์ คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลา อดใจรออีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี”
ถามว่าที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบไหม ในแง่ความต้องการยังสูงอยู่ และยังมีการเติบโตทางธุรกิจ อย่างปีนี้ บีจีพีคาดการณ์ว่า จากรายได้รวมทั้งหมด 1,700 ล้านบาท คิดเป็นรายได้จากธุรกิจพลาสติก 1,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากกล่องกระดาษอยู่ที่ 700 ล้านบาท
เทรนด์ธุรกิจแพคเกจจิ้ง
สำหรับก้าวต่อไปของธุรกิจแพคเกจจิ้ง วรวัฒน์มั่นใจว่า อนาคตค่อนข้างสดใส โดยเฉพาะแพคเกจจิ้งจากกระดาษ ซึ่งนอกจากจะตอบรับเทรนด์ธุรกิจอีคอมเมิร์สที่มีดีมานด์สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แถมยังตอบรับเทรนด์รักษ์โลกที่ต้องการลดการใช้พลาสติก
“จากเทรนด์ดังกล่าว ทำให้บีจีพีตั้งเป้าว่าจะลงทุนเพิ่มในธุรกิจนี้ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตกล่องกระดาษในปัจจุบันที่อยู่ที่ปีละ 30,000 ตันต่อปีให้เต็มขีดความสามารถในการผลิตซึ่งอยู่ที่ 84,000 ตันต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนระหว่างการผลิตกล่องกระดาษและพลาสติกเปลี่ยนไปจากปัจจุบันอยู่ที่พลาสติก 55% กล่องกระดาษ 45% กลายเป็นพลาสติก 40% กล่องกระดาษ 60% ซึ่งสอดคล้องกับดีมานด์ของลูกค้าที่คาดว่าจะจะเพิ่มขึ้น 5-10% สำหรับธุรกิจกล่องกระดาษ ขณะที่พลาสติกเพิ่มขึ้นที่ 3-5%
ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์ตลาดจริงๆ จะเห็นว่า สังคมพูดถึงการลดใช้พลาสติกก็จริง แต่ส่วนใหญ่ยังโฟกัสที่ที่ถุงพลาสติกมากกว่าตัวบรรจุภัณฑ์ ซึ่งผมมองว่าปัญหาอย่างหนึ่งของการใช้พลาสติกในไทยคือ ยังใช้พลาสติกหลากหลายประเภทผสมกัน ทำให้มีปัญหาเวลานำกลับมาแล้วแยกประเภทเพื่อมารีไซเคิลต่อไม่ได้ ผิดกับญี่ปุ่นเขาเลือกใช้พลาสติกที่ผลิตจาก PET เท่านั้น ทำให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้”
สถานีต่อไป… บีจี แพคเกจจิ้ง ในอีก 3-5 ปี
“KPI ของผมตอนนี้ คือ ทำรายได้ให้บริษัท 3,000 ล้านบาทภายใน 3-5 ปี แน่นอนว่าการเติบโตของธุรกิจที่ 3-5% แบบออร์แกนิกก็ยังดำเนินต่อไป แต่ถ้าจะให้โตแบบก้าวกระโดด ผมมองว่าเราต้องเป็น Packaging Solution หรือ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร จากนี้ บีจีพีอาจจะมีโปรดักซ์ใหม่ๆเข้ามาเสริมทัพ พร้อมทั้งมองหาความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ ซึ่งวันนี้เราไปไกลมากกว่าในประเทศ แต่เริ่มมีการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สัดส่วนในวันนี้อาจจะยังอยู่ที่ 2 % แต่คาดว่าภายใน 3-5 ปีจากนี้ จะไปแตะที่ 10%”
แย้มมาถึงแผนการร่วมทุนที่จะมีขึ้นแล้ว งานนี้วรวัฒน์ ยังขออุบไว้ก่อนว่า จะมีอะไรใหม่ๆมาเซอร์ไพรส์วงการ บอกแต่ว่าให้รอติดตามปีหน้า พร้อมแง้มสเปกของบริษัทที่หมายตาว่าจะมาร่วมทุนว่า นอกจากจะต้องเป็นพันธมิตรที่อยู่ในท็อปเทน ยังต้องเข้าเกณฑ์ 3 ข้อ
1.Customer base สั้นๆง่ายๆ คือ ฐานลูกค้าที่มีต้องสามารถต่อยอดกันได้
2.Technology ต้องเกื้อหนุน
3.ธุรกิจที่ดีต้องไม่ทำร้ายโลก เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงมาแรง โดยเฉพาะบีจีพีอยู่ในธุรกิจที่ผลิตกระดาษ และพลาสติก ในฐานะกลางน้ำของซัพพลายเชนยิ่งต้องให้ความสำคัญ
เรียกได้ว่า ธุรกิจแพคเกจจิ้งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามอง ยิ่งตอนนี้เข้าสู่ Q4 ของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริหารคนเก่งบอกว่าดีมานด์สูงมาก
คงต้องจับดูกันต่อไปว่า สมรภูมิธุรกิจที่ว่าแข่งขันกันดุเดือน มีผู้ท้าชิงส่วนแบ่งการตลาดหลายรายนี้ จะมีกลยุทธ์อะไรเด็ดๆเพื่อรับมือกับโลกธุรกิจต่อไป โดยเฉพาะบีจีพี ที่ประกาศเกมรุกหนักมากว่าจะกลับมาทวงบัลลังก์เป็นหนึ่งในบริษัทท็อปเทนในธุรกิจแพคเกจจิ้งให้ได้ จะทำสำเร็จหรือไม่