“อนุชา”ลาออกรองเลขาฯนายกฯ – โฆษกรัฐบาล พร้อมไปทำหน้าที่ ส.ส.
อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และได้กราบลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อไปทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา

โดยนายกฯอวยพรให้มีกำลังกาย กำลังใจที่ดี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้อย่างเต็มความสามารถ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชน ทั้งนี้ ตนขอขอบคุณนายกฯที่กรุณาให้ความไว้วางใจตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมาให้ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง และมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กำกับดูแลงานสำคัญ ทั้งเรื่องต่างประเทศ เรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ การประสานงานการเมือง และภารกิจของนายกฯในด้านต่างๆ รวมถึงกำกับดูแลสำนักโฆษกฯ สำหรับภารกิจโฆษกฯ นายกฯได้มอบหมายให้รองโฆษกฯที่เหลืออยู่สามคนทำงานไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในขณะนี้อยู่ระหว่างรอเอกสารจากสภาฯที่จะส่งไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในวันเดียวกันนี้ เพื่อเตรียมนำไปรายงานตัวต่อสภาฯในวันที่ 12 ก.ค.และจะได้ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้
‘ก้าวไกล’ ส่งหนังสือด่วนถึง กกต.ค้านเร่งรัดชงศาล รธน.ชี้ปมหุ้นสื่อ “พิธา”
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้ส่งหนังสือด่วนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อคัดค้านการที่ กกต.จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนที่ระเบียบ กกต. ระบุไว้เอง มีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ และน่าสงสัยในเจตนาของ กกต. ว่ากระทำโดยความเป็นกลางหรือไม่ ตามระเบียบของ กกต. เมื่อมีการร้องเรียนผู้สมัครคนใดเกี่ยวกับการกระทำหรือการขาดคุณสมบัติ คณะกรมการต้องไต่สวน สืบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง

จากนั้นให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผู้ถูกร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องเข้าไปชี้แจง จากนั้นจึงดำเนินการต่อไปในการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ในกรณีนี้ เมื่อมีการไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่มีการแจ้งข้อเท็จจริงให้นายพิธาทราบ และยังไม่มีการเรียกเจ้าตัวไปชี้แจงด้วย แต่กลับจะมีการเร่งรัดส่งศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับ กกต. กำลังทำผิดระเบียบของตนเองอยู่ เพราะวันที่ 13 ก.ค.นี้เหลือเพียง 4 วัน ก็จะถึงการโหวตนายกฯ แล่วแต่การที่ กกต. จะเร่งรัด ทำข้ามขั้นตอน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทันที อาจทำให้สังคมตั้งคำถามได้ว่าองค์กรอิสระทำหน้าที่อย่างไม่เป็นกลาง มีเป้าประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ ตนเชื่อว่าประชาชนเฝ้ารอการโหวตนายกรัฐมนตรีกันทั้งประเทศ จึงไม่ควรมีการกระทำใดๆ ที่จะขัดขวางการตั้งรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตย
“เสรี” เตือน 8 พรรค โหวต “พิธา” นั่งนายกฯ เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญโทษถึงยุบพรรค
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กรณีถือครองหุ้นสื่อว่าจะส่งผลต่อการโหวตเลือกนายกฯหรือไม่ ว่า ส.ว.จะพิจารณาคุณสมบัติด้วยอยู่แล้ว การที่กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นแนวทางที่สร้างความชัดเจน ช่วยแก้ปัญหาความเห็นต่างๆ กกต.จึงเป็นทางออก เมื่อสอบสวนไต่สวนชัดเจนแล้วสามารถสรุปเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็เป็นแนวทางที่จบปัญหา ถ้าทำเสร็จจริงก็ควรส่งไป

โดยเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสกัดหรือไม่สกัดให้พิธาไม่ได้มาถ้าใช้คำนั้นเหมือนตั้งใจไม่ให้นายพิธาเป็นนายกฯ แต่เป็นเรื่องของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกฯต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ส่วนมาตรา 159 ส.ส. และ ส.ว. ต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามคือห้ามถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผิดในตัวเองอยู่แล้ว แต่การส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหาข้อยุติให้ชัดเจน เพราะการถือหุ้นคือเหตุ ส่วนผลคือรอศาลตัดสิน แต่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ส.ส. และ ส.ว. ต้องทำตามบทบัญญัติในมาตรา 159 ให้ชัดเจน โดยตนเป็นห่วง 8 พรรคที่เซ็นเอ็มโอยู ว่าจะกล้าตัดสินใจเลือกคนที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเลือกคนขัดรัฐธรรมนูญ คนขาดคุณสมบัติ ทั้งหมดจะเหมือนปลาในข้องเดียวกัน จะมีปัญหาได้ จึงอยากฝากไปพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเหล่านี้ด้วย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นท่านทำขัดรัฐธรรมนูญเอง
หนทาง“อภิสิทธิ์” กลับหัวหน้าพรรค ปชป.ไม่ง่าย หลังถูกขวางในการเสนอชื่อ
การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง แต่การประชุมล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบนั้น สาเหตุที่การประชุมล่มมีรายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าสาเหตุที่การประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ในช่วงบ่ายวันที่ 9 ก.ค.ต้องล่มไป เนื่องจากสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เป็นหัวหน้าพรรค ได้มีการแก้เกมโดยการไม่อยู่เป็นองค์ประชุม หลังจากที่เห็นว่า คะแนนจากการโหวตในญัตติของ สาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรค ที่เสนอให้งดเว้นใช้ข้อบังคับพรรค สัดส่วน 70:30

ได้รับความพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายกลุ่มของเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ที่ประกอบไปด้วย อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ และอดีตหัวหน้าพรรค ประกอบกับ ส.ส.ปัจจุบันประมาณ 20 คน จากทั้งหมด 25 คน ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่จะให้การสนับสนุนนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ดังนั้น การประชุมในช่วงบ่าย ทางกลุ่มที่สนับสนุนอภิสิทธิ์ จึงแก้เกมด้วยการไม่อยู่ร่วมองค์ประชุมด้วย ซึ่งมีการวางแผนจะให้ ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค จะเป็นผู้เสนอชื่ออภิสิทธิ์ ต่อที่ประชุมด้วยตนเอง แต่ เมื่อกลุ่มของเฉลิมชัย มีท่าทีชัดเจนว่าจะเสนอชื่อของนราพัฒน์ อย่างแน่นอน จึงได้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว โดยกลุ่มของเฉลิมชัยถือว่ามีผลงานในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาโดยสามารถทำผลงานได้ดีโดยเฉพาะการได้ ส.ส.จากจ.สงขลาและพื้นที่ภาคใต้เข้ามาหลายคน
“อนุทิน” ย้ำโหวตเลือกนายกฯ ยึดแถลงการณ์พรรค ไม่หวั่นเป็นฝ่ายค้าน
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นเรื่องการโหวตนายกฯวันที่ 13 ก.ค.ว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่จะนำมาหารือในที่ประชุมของพรรคในวันที่ 11 ก.ค.ด้วย โดยจะเป็นการรับฟังความเห็นของ ส.ส.พรรคทุกคน และหารือถึงสถานการณ์การเมืองเรื่องต่างๆ ว่าจะมีทิศทางอย่างไรในการลงมติเรื่องต่างๆ เหล่านั้นอย่างไร ส่วนที่จะมีการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลนั้นอนุทินกล่าวว่า

พรรคภูมิใจไทยได้มีแถลงการณ์ในนามพรรคชัดเจนแล้ว โดยที่ไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใด เพราะทุกคนที่เป็น ส.ส. ประชาชนเลือกเข้ามา จึงต้องดูเรื่องประสบการณ์และแนวทางของพรรคการเมืองว่าหากเป็นแบบนี้แล้วเราจะไปด้วยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด เราก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ เมื่อถามย้ำว่า แนวทางของพรรค ภท.จะงดออกเสียงหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ความชัดเจนอยู่ในแถลงการณ์ของพรรคแล้วขณะนี้ไม่ควรพูดอะไรที่ตอกยํ้า พรรคยืนยันเจตนารมณ์ตามแถลงการณ์ เมื่อถามว่า คิดว่าการโหวตเลือกนายกฯ ควรมีกี่ครั้งจึงจะเหมาะสม และทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ นายอนุทินกล่าวว่า ก็ควรจะโหวตครั้งเดียว และเมื่อได้ผู้นำรัฐบาล ตามหลักประชาธิปไตยถ้าใครได้รับเสียงข้างมากตามรัฐธรรมนูฐคือ 376 เสียง เราก็ต้องยอมรับ และหากตรงนั้นไม่มีพรรคภูมิใจไทยอยู่ เราก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เราเคารพกติกาทุกอย่าง