ญี่ปุ่นตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวมากเป็นประวัติการณ์
ญี่ปุ่นตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นประวัติการณ์ในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังจากนักท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ทั้งนี้แผนการดังกล่าวอยู่ในร่างงบประมาณฉบับที่ผ่านการแก้ไขของทางการ
แผนการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมปีงบประมาณ 2566-2568 ยังมุ่งเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเป็น 200,000 เยน หรือเกือบ 50,000 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 25% จากระดับของเมื่อปี 2562 อีกทั้งยังตั้งเป้าให้จำนวนคืนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไปพักค้างตามต่างจังหวัด เพิ่มขึ้น 10%
การตั้งเป้าหมายดังกล่าวมีขึ้น ท่ามกลางความหวังว่าการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศจะฟื้นตัว ประกอบกับญี่ปุ่นจะจัดอีเวนต์ระดับโลกขึ้นด้วย อย่างงาน Expo 2025 ในเมืองโอซากา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
ร่างแผนการดังกล่าว จะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่งมีการนำเสนอในที่ประชุมที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 ก่อนทั่วโลกเผชิญการระบาดของโควิด มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปยังญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์ 31.88 ล้านคน แต่ลดฮวบลงเหลือเพียง 4.12 ล้านคนเมื่อปี 2563 และ 250,000 คนในปี 2564
แทนที่จะเน้นปริมาณนักท่องเที่ยวอย่างเดียว การทบทวนร่างงบประมาณครั้งนี้ มีการรวมกลยุทธ์รับมือผลกระทบจากการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วย อย่างการดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง และสนับสนุนให้ออกไปเที่ยวตามแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากเมืองใหญ่ๆ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแนวโน้มจะเน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงจากซีกโลกตะวันตก เพราะยังไม่มีแนวโน้มชัดเจนว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ตั้งเป้าหมายแล้วว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อปี ต้องขึ้นถึง 5 ล้านล้านเยนโดยเร็วที่สุด ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ และมากกว่าตัวเลขการใช้จ่ายเมื่อปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านเยน
สิงคโปร์ผ่อนกฎเดินทาง หลังโควิดคลี่คลาย
คณะทำงานเฉพาะกิจรับมือไวรัสของสิงคโปร์ แถลงว่าสิงคโปร์จะยกเลิกข้อกำหนดให้นักเดินทางซึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ แสดงผลการตรวจโควิด หรือซื้อประกันเดินทางโควิด ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ได้ผ่อนคลายข้อกำหนดสวมหน้ากากบนขนส่งสาธารณะ หลังจากทางการลดระดับการรับมือโควิด สู่ระดับ “สีเขียว” จาก “สีเหลือง” อันสะท้อนว่าโควิด 19 ไม่ได้เป็นภัยคุกคาม
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกำหนดให้ต้องสวมหน้ากากตามสถานพยาบาล ซึ่งต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ และบริเวณในอาคารที่ต้องติดต่อพูดคุยซักถามกับคนไข้
รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ซึ่งรับหน้าที่ประธานร่วมคณะทำงานเฉพาะกิจรับมือไวรัส แถลงว่าสถานการณ์โควิดภายในสิงคโปร์ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อยู่ในระดับทรงตัว แม้มีการเดินทางมากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และจีนประกาศเปิดพรมแดน โดยประชากรสิงคโปร์มีภูมิต้านทานแบบลูกผสมในระดับสูง
ประชากรประมาณ 80% ในจำนวน 5.6 ล้านคนของสิงคโปร์ ได้รับวัคซีนขั้นต่ำที่จำเป็นในการลดความรุนแรงของโรคแล้ว และประมาณครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์
สิงคโปร์ได้ยกเลิกมาตรการส่วนใหญ่ที่คุมเข้มโควิดไปเมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว และมีการจัดอีเวนต์ระดับโลกหลายครั้ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ ศูนย์กลางการเงินของเอเชียแห่งนี้คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด ภายในปี 2567
“BYD” เริ่มขายรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น
บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน เริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ตามเป้าหมายที่จะขยายตัวในตลาดโลก
การเปิดตัวของ BYD ในตลาดยานยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก มีขึ้นหลังจากบริษัทแห่งนี้ ขึ้นแท่นผู้ขายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของจีน และกำลังไล่ตามเทสลา ยักษ์ใหญ่ยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน โดย BYD จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในออสเตรเลียและไทย ทั้งยังมีโรงงานผลิตในอเมริกาใต้
แม้ BYD กำลังเป็นที่รู้จัก แต่ยอดขายรถของบริษัทยังพึ่งพาตลาดในจีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ค่อนข้างตามหลังบริษัทเทสลาของอีลอน มัสก์ ที่เจาะตลาดได้ในหลายประเทศ BYD พยายามไล่ตามและเมื่อเร็วๆ นี้ได้เริ่มส่งออกไปยังอินเดีย อันนับเป็นตลาดน้องใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงส่งออกมาประเทศไทย ซึ่งบริษัทวางแผนให้เป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งแรกในอาเซียน
สำหรับตลาดญี่ปุ่นนั้น BYD ค่อนข้างได้เปรียบเทสลา เพราะมีราคาไม่แพง ทั้งยังมีต้นทุนเดิมในฐานะผู้ผลิตแบตเตอรี่ รถรุ่นเรือธงของบริษัท คือ Atto 3 ซึ่งเป็นรถกลุ่ม midsize SUV ที่นำออกขายในญี่ปุ่น ตั้งราคาไว้ที่ 4.4 ล้านเยน หรือประมาณ 1,100,000 บาท ซึ่งถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาและนิสสัน นอกจากนั้น หากรัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ก็จะทำให้ราคาลดลงไปอีก
บริษัทตั้งเป้ามีดีลเลอร์กว่า 100 แห่งในญี่ปุ่นภายในปีปลายปี 2568 สภาพการณ์ดังกล่าวตรงกันข้ามกับเทสลา ซึ่งเน้นขายทางอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่
ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นกำลังขยายตัว แม้ในอัตราที่ช้ากว่าประเทศอื่นก็ตาม โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 59,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 3 เท่า และคิดเป็น 1.7% ของตลาดรถยนต์โดยสาร
อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นรถขนาดเล็กที่ใช้ในเมือง ซึ่งใช้พลังงานหรือไฟฟ้าไม่มากนัก สำหรับรถรุ่นอื่นอาจเผชิญอุปสรรคในรูปแบบของสถานีชาร์จที่มีพลังงานต่ำและใช้เวลาหลายชั่วโมงในการชาร์จรถ
แม้เป็นตลาดอีวีที่มีพัฒนาการช้า แต่ BYD ก็เผชิญคู่แข่งในญี่ปุ่น เพราะแบรนด์อย่างเมอร์เซเดสเบนซ์ เทสลา และออดี้ ต่างอยากได้ส่วนแบ่งในตลาดน้องใหม่แห่งนี้
ผู้นำไต้หวันสละเงินเดือน ช่วยบรรเทาทุกข์ตุรกี
ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินแห่งไต้หวัน และรองประธานาธิบดีวิลเลียม ไหล จะบริจาคเงินเดือนคนละ 1 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ตุรกี ซึ่งเผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
การสละเงินเดือนดังกล่าว นับว่าเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือที่ไต้หวันส่งไปยังตุรกีแล้ว

ทำเนียบประธานาธิบดีแถลงว่า ประธานาธิบดีไช่และรองประธานาธิบดีไหล หวังจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตุรกีให้ฟื้นฟูประเทศได้เร็วที่สุด
ไต้หวันเองเผชิญแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง และประกาศให้ความช่วยเหลือแก่ตุรกี 2 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังส่งหน่วยกู้ภัยไป 2 ทีมเพื่อช่วยเหลือในปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิต
ประธานาธิบดีไช่ วิดีโอคอลล์หน่วยกู้ภัยที่เดินทางไปถึงตุรกีแล้ว เพื่อกล่าวคำขอบคุณสมาชิกทุกคนในหน่วยที่ไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบาก และเดินทางไปยังจุดเกิดแผ่นดินไหวเพื่อที่ไต้หวันและตุรกีจะสามารถช่วยเหลือกันและกันได้
ทั้งนี้ ตุรกีเคยส่งหน่วยกู้ภัยไปยังไต้หวันเมื่อปี 2542 หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่