ถึงเชนร้านกาแฟใหญ่จะปักหมุดอยู่แทบจะทุกมุมเมือง แต่เพราะมองว่ากาแฟยังเป็นไลฟ์สไตล์ที่ความนิยมไม่ถดถอย พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เลยตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ “เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์” ร้านกาแฟพิเศษจากฮ่องกงมาเสริมพอร์ตโฟลิโอส่วนงานธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่และเสริมสร้างประสบการณ์ของลูกค้าไปอีกระดับ ก่อนจะเปิดตัวร้านอาหารไทยแบรนด์ใหม่ที่ทองหล่อในเดือนหน้า
ทั้งหมดนี้ พอลล์ ย้ำว่า เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังในการพาธุรกิจในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยของอิมแพ็คฯบรรลุเป้า1,000 ล้าน ในสิ้นไตรมาส (มี.ค.63) และ แตะ 3,000 ล้านใน 3 ปีข้างหน้า
ในโอกาส Soft Opening “เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์” แฟล็กชิปแห่งแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งปักหมุดอยู่ที่ โครงการเวลา หลังสวน บนพื้นที่สินธร วิลเลจ มิกซ์ยูสสุดหรูแห่งใหม่ พอลล์ บอกเล่าถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ ถือเป็นแฟรนไชส์ประเภทร้านกาแฟร้านแรกที่บริษัทฯ ซึ่งเริ่มต้นจากการแนะนำของเพื่อนให้รู้จักกับเจนนิเฟอร์ หลิว ผู้ก่อตั้ง เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ และนักธุรกิจชื่อดังของฮ่องกง ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารหญิงที่ทรงอิทธิพลในปี 2562

“เพื่อนผมแนะนำตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตอนแรกผมก็ตกปากรับคำว่าถ้ามีโอกาสไปฮ่องกงจะแวะไปดู เพราะเดิมทีผมไม่ได้ตื่นเต้นกับธุรกิจร้านกาแฟ คิดว่าคงเหมือนกับร้านกาแฟทั่วไป แต่พอมีโอกาสได้ไปจริง ด้วยบรรยากาศร้าน การตกแต่งก็ยังไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกแตกต่าง จนกระทั่งได้ศึกษาถึงวิธีการทำงานของเขา ที่ไม่ได้แค่ทำร้านกาแฟที่ดี แต่มองไปถึงการธุรกิจอย่างยั่งยืน การใช้เครื่องมือการตลาดอย่างโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเข้ามาโปรโมตร้านจนเป็นที่รู้จัก และได้รับรางวัลมากมาย ผมมองว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจมาก ดังนั้น หลังจากที่คุยกันเรียบร้อยว่าจะทางอิมแพ็คฯสนใจจะนำเข้ามาเปิดที่ไทยประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย. เราก็ได้พื้นที่ที่ เวลา หลังสวน ตอนต้นเดือนก.ค.ใช้เวลาแต่งร้าน 3 เดือน จนได้เปิดร้านวันแรกเมื่อวานนี้ ขายได้ 9,000 บาท (หัวเราะ)”
ทั้งนี้ พอลล์ ยังบอกด้วยว่า เขาตั้งเป้าขยายสาขาอีก 3 แห่งภายในระยะเวลา 5 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนและสร้างการรับรู้ของแบรนด์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์รวมประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อสร้างพื้นที่พิเศษสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกลิ่นและรสสัมผัสของกาแฟอย่างแท้จริง
“สำหรับโลเคชั่นที่มองไว้ว่าจะเปิดสาขาต่อไปที่ไหนนั้น สาขา 3 ผมคิดว่าคงเป็นอิมแพ็คฯ หลังจากเราสร้างแบรนด์ให้เป็นรู้จักในกรุงเทพฯแล้ว ส่วนสาขาสองผมกำลังเล็งอยู่ ซึ่งทางคุณเจนนิเฟอร์แนะนำว่าอยากให้เป็นศูนย์การค้า เพราะตอนนี้ก็มีหลายห้างที่ติดต่อเข้ามาว่าอยากให้เราเข้าไปเปิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูความเหมาะสมต่อไป ว่าเราจะขยายสาขาในรูปแบบไหน แต่เหนือกว่าการเติบโตทางธุรกิจ ผมมองถึงโนวฮาวที่เราจะได้รับจากการทำงานร่วมกันด้วย อย่างที่บอกว่า ผมประทับใจการทำงานของแบรนด์เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์มาก เขาเปิดแบรนด์มา 7 ปี ขยายไปในหลายประเทศ เป็นหนึ่งใน “25 ร้านกาแฟในโลกที่จะต้องไปเห็นก่อนที่คุณลาจากโลกนี้” (25 Coffee Shops Around The World You Have to See Before You Die) โดย BuzzFeed และถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “ร้านกาแฟที่ดีที่สุดในโลก” (The World’s Best Coffee Shops) จาก The Telegraph
ผมมองว่า การทำงานร่วมกัน ทำให้ทีมงานของเราเหมือนได้เรียนลัดในการบริหารธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ อิมแพ็คฯก็ซื้อแบรนด์อาหารญี่ปุ่นอย่าง Tsubohachi ที่มีอายุกว่า 40 ปีเข้ามา เราก็ได้เรียนรู้โนวฮาวการทำงานแบบญี่ปุ่นหลายอย่าง”
ย้อนกลับมาที่แฟล็กชิปแห่งแรกของเดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ พอลล์ค่อนข้างเชื่อมั่นในศักยภาพของแบรนด์และโลเคชั่น ซึ่งอยู่ในย่านออฟฟิศ ที่อยู่อาศัย และ โรงแรมอีก 3 แห่ง ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในปีหน้า
“ด้วยศักยภาพของโลเคชั่นโครงการที่กลุ่มสยามสินธรเข้ามาพัฒนา ทำให้หลังสวนในวันนี้เปลี่ยนไป การเดินรถไม่เป็นวันเวย์อีกต่อไป ใครจะมาก็ไม่ต้องห่วงเรื่องที่จอด เพราะด้านล่างโครงการเวลา ทำเป็นที่จอดรถ รองรับได้ไม่น้อยกว่า 200 คัน ยังไม่รวมส่วนโรงแรม สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาทางโครงการมีรถรับ-ส่งไปยังสถานีรถไฟฟ้าชิดลม”

ในแง่ศักยภาพของการแข่งขันในตลาดกาแฟ พอลล์ เชื่อว่าด้วยชื่อเสียงของแบรนด์เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ที่เป็นที่รักในกลุ่มคนรักกาแฟ นักท่องเที่ยวที่ชอบตระเวนไปชิมกาแฟจะเป็นฐานสำคัญ บวกกับจุดแข็งของแบรนด์ที่ชูจุดเด่นด้านเมล็ดกาแฟที่คัดสรรจากแหล่งปลูกชั้นดีตั้งแต่รายย่อยจนถึงเกรดประมูล จะทำให้ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับไม่เหมือนไปร้านไหน ที่สำคัญในอนาคตยังมีแผนจะเพิ่มเติมเมนูอาหารไทยเข้ามาในเมนูอาหารที่ตอนนี้ยังเน้นเมนูสุขภาพด้วย
ด้านเจนนิเฟอร์ หลิว ผู้ก่อตั้ง เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ กล่าวเสริม ถึงการผนึกกำลังครั้งสำคัญนี้ว่า ปัจจุบัน เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ มีจำนวน 20 สาขาในฮ่องกง 4 สาขา ในสิงคโปร์ 2 สาขา ในประเทศจีน 3 สาขา และ สาขาล่าสุดคือ ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทางแบรนด์ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและผู้รับสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อส่งเสริมการขยายธุรกิจให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และคาดว่ายในปี 2563 เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 30 สาขา กระจายใน 7 เมืองหลักทั่วทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน มาเก๊า ฟิลิปปินส์ เกาหลี และญี่ปุ่น และในปี 2568 เฉพาะในประเทศจีน คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 50 สาขาด้วยกัน

“สำหรับประเทศไทยนั้น ถือเป็นตลาดกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญแห่งหนึ่ง เนื่องจากประเทศไทยมีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่มีมาอย่างยาวนานและถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่เป็นอันดับสามของทวีปรองจากเวียดนามและอินโดนีเซียด้วย โดยกว่าร้อยละ 99 ของกาแฟที่ผลิตในประเทศไทยเป็นกาแฟโรบัสต้าจากทางภาคใต้ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีที่ปลูกทางภาคเหนือ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสเติบโต ส่วนเทรนด์การผลิตกาแฟของโลกขณะนี้มุ่งสู่การให้ความสำคัญกับพันธุ์อาราบิก้าคุณภาพดีจากแหล่งปลูกที่เน้นเรื่องความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อชุมชนมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงตลาดผู้ดื่มกาแฟที่มีความต้องการกาแฟคุณภาพสูงมากยิ่งขึ้น” เจนนิเฟอร์กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังเสริมด้วยว่า เทรนด์การดื่มกาแฟของคนทั่วโลกในช่วง15 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไป คอกาแฟเริ่มมองหาประสบการณ์ใหม่ๆในการดื่มกาแฟที่มากกว่าร้านกาแฟที่เป็นเชน ซึ่งให้ประสบการณ์เดิมๆ ทำให้เป็นโอกาสของร้านกาแฟที่มีความยูนีค มีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะความนิยมในกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) จะเพิ่มขึ้น
สำหรับจุดเด่นในด้านกาแฟพิเศษนั้น เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ คัดสรรเมล็ดกาแฟจาก 5% ของแหล่งกาแฟอาราบิก้าพิเศษคุณภาพดีที่สุด มีเมนูหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกาแฟที่มาจากแหล่งปลูกเดี่ยว หรือกาแฟจากหลายแหล่งปลูก ตลอดจนการเบล็นด์เมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่น โดยแฟล็กชิปในประเทศไทยนั้นได้เลือกใช้เมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกในเชียงใหม่ ลาว และ Alta Mogiana จากประเทศบราซิล ซึ่งผ่านการทดสอบคุณภาพด้วยวิธีการคัปปิ้ง (Cupping) อย่างละเอียดและพิถีพิถันจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Q-grader และจากผู้คั่วกาแฟมืออาชีพ พร้อมทั้งคิดค้นเมนูไทยแลนด์ เบล็นด์ (Thailand Blend) ขึ้นเป็นพิเศษเพื่อฉลองการเปิดตัวของเดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ ด้วย
“นอกจากจะเสิร์ฟกาแฟที่ดีแล้ว อีกหัวใจสำคัญในการบริหารแบรนด์เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ คือ การตอบแทนสังคม อย่างน้อยทุกครั้งที่คุรดื่มกาแฟ จะรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือชาวไร่ที่ปลูกกาแฟ ที่ฮ่องกง ฉันจะนำเมล็ดจากฟาร์มมาคั่วที่โรงคั่ว จากนั้นนำกลับไปที่ฟาร์มอีกครั้ง เพื่อชงให้ชาวไร่ที่ปลูกได้ชิมเมล็ดกาแฟของตัวเอง สำหรับเดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ ในประเทศไทยเองก็มีจะร่มดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการได้เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภท Take Away ที่ย่อยสลายได้ 100% และยังเชิญชวนให้ลูกค้าร่วมลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมด้วยการนำแก้วกาแฟมาเอง หรือ เลือกใช้หลอดส่วนตัวประเภทใช้ซ้ำอีกด้วย”