แม้จะผ่านไปแล้ว 2 ไตรมาส แต่ทั่วโลกยังคงมีรายงานการติดเชื้อ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอเมริกาและยุโรป แม้บางช่วงพบผู้ติดเชื้อน้อยลงจนบางรัฐฯ หรือบางประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เศรษฐกิจในบางภาคส่วนค่อย ๆ ฟื้นตัว
แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลับมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในภูมิภาคยูโรโซนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความกังวลว่าจะลุกลามบานปลายเป็นการระบาดที่ควบคุมไม่ได้ระลอกใหม่ ส่งผลให้ตลาดหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นกลุ่มการเดินทางและสันทนาการ เช่น สายการบิน โรงแรม ปรับร่วงลงอย่างหนัก
มาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการติดเชื้อถูกประกาศใช้อีกครั้งในบางประเทศ เช่นกรณีของประเทศอังกฤษที่ประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดรอบใหม่ โดยกำหนดให้ทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โมนาโค มอลตา สเปนและเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยงจำเป็นต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาวิเคราะห์ลึกลงไปในรายละเอียดของข้อมูล อาจทำให้ผ่อนคลายความวิตกกังวลเรื่องการระบาดระลอก 2 จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจหรือไม่อย่างใดนั้น เราพบว่าลักษณะเชิงปริมาณของข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบนี้แตกต่างจากช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มาก กล่าวคือ
- ประเทศที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่าสเปนมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า ฝรั่งเศสหรือ เยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดเป็นจำนวนต่อประชากรทั้งหมด สเปนจะมีอัตราการติดเชื้อใหม่ที่สูงที่สุดประมาณ11รายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด
- สิ่งที่น่าสนใจจากผลการศึกษาข้อมูลในสเปน คือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นไม่ได้ติดเชื้อจากสถานที่ที่เป็นที่ชุมชนหนาแน่น แต่เป็นการติดกันภายในครอบครัว แสดงให้เห็นว่าการควบคุมการแพร่กระจายในที่สาธารณะทำได้ดีในระดับหนึ่ง
- การติดเชื้อรายใหม่ในรอบนี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อายุน้อยซึ่งสามารถฟื้นตัวเองได้รวดเร็วกว่าในผู้สูงอายุ ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อมีไม่มาก ทำให้สถานพยาบาลยังคงความสามารถรับมือได้ดี ความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือดูแลผู้ป่วยวิกฤตไม่มาก โอกาสการสูญเสียชีวิตจึงไม่สูงเหมือนในรอบแรก แรงกดดันเรื่องพื้นที่การรับมือหรือการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อจึงมีไม่มากนัก
- การประเมิน ติดตาม ตรวจสอบและเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อทำได้อย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในพลเมืองเข้าใจและระมัดระวังตัวดีมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งบางประเทศตัดสินใจเริ่มใช้มาตรการควบคุมเช่น อังกฤษมีการกักตัว14 วันในผู้เดินทางเข้าประเทศที่มาจากประเทศที่เฝ้าระวัง สเปนสั่งปิดสถานบันเทิงที่เป็นที่ชุมนุมของคนหมู่มาก หรือ ฝรั่งเศสบังคับให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เป็นต้น
ด้วยข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้ทำให้เชื่อได้ว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดระลอกสองเกิดขึ้นได้ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้ว การระบาดระลอกใหม่นี้คงไม่ใช่เหตุของการฉุดเศรษฐกิจให้หดตัวได้แรงดังที่เกิดขึ้นในช่วงดำเนินมาตรการล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ที่ส่งผลให้ GDP ประจำไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ของภูมิภาคยูโรโซนดิ่งลง 12.1% (เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2020) ทรุดตัวหนักที่สุดในรอบ 25 ปีเลยทีเดียว