แผนยุทธศาสตร์ LINE ประเทศไทย เดินตามทิศทางบริษัทแม่ที่ญึ่ปุ่นที่ประกาศทิศทางไว้ 3 ทิศทาง ได้แก่ ออนไลน์รวมออฟไลน์ (Online-mege-Offline) หรือ OMO ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artficial Intelligence) และเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Fintec (Financial Technology) ซึ่งเป็นทิศทางยุทธศาสตร์สำหรับการเดินเกมธุรกิจของ LINE ในรอบ 3 ปี คือ 2019 ถึง 2021
ดร.พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า LINE ได้นำยุทธศาสตร์ 3 เสาหลักมาแปลงเป็นนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจไลน์ในประเทศไทย ด้วยการมุ่งเน้นการเพิ่ม “เวลาใช้งาน” ของคนไทยบนแอปพลิเคชัน LINE ให้มากยิ่งขึ้น
“ความจริงเราต้องการเพิ่มทั้งมิติของจำนวนผู้ใช้งาน และเวลาในการใช้งาน แต่ทว่าจำนวนผู้ใช้งานนั้น ค่อนข้างเพิ่มได้ไม่มากเท่าการเพิ่มเวลาการใช้งาน เพราะปัจจุบัน เรามีคนใช้งาน LINE อยู่ 44 ล้านคนในประเทศไทย ถือเป็นอัน 2 รองจากญี่ปุ่น ทั้งนี้ ปัจจัยการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในแต่ละประเทศนั้นเหมือนกัน คือ สัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (Internet Penetration Rate) ราคาอินเทอร์เน็ตบนมือถือ (Data Package) และราคาสมาร์ทโฟน ซึ่งการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานเราต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเหล่านี้”
ณ ปัจจุบัน คนไทยใช้เวลาอยู่บนแอปพลิเคชัน LINE เฉลี่ยวันละ 63 นาทีต่อวัน คิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมดที่คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือต่อวันโดยเฉลี่ย คือราว ๆ 216 นาทีต่อวัน
“เราตั้งเป้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย LINE ต้องเป็นแอปพลิเคชันแรกที่คนใช้เมื่อตื่นนอน และเป็นแอปพลิเคชันสุดท้ายที่คนใช้ก่อนเข้านอน”
ดังนั้น ทุกสินค้าและบริการจาก LINE ประเทศไทย จะพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์นี้ ไม่ว่าจะเป็น LINE, LINE Today, LINE TV หรือ LINE MAN และอื่น ๆ
“พฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตคาดเดาลำบาก แต่จำนวนเวลที่ผู้ใช้ใช้ LINE เติบโตโดยเฉลี่ยเท่าๆ กันทุกปี”
การแข่งขันในเกมธุรกิจนี้ คือ การแย่งชิงเวลาและแย่งชิงเม็ดเงินจากเวลาที่ผู้ใช้งานใช้บนแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะเม็ดเงินจากโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลักของ LINE แม้ว่า LINE จะบอกว่า ไม่มีคู่แข่ง (ทางธุรกิจ) แบบตรง ๆ เพราะ LINE มีสินค้าและบริการที่มากมายและมีรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย
6 กลุ่มธุรกิจหลัก LINE:
6 กลุ่มธุรกิจหลักของ LINE ประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ B2B กลุ่มธุรกิจ B2C กลุ่มธุรกิจเกม กลุ่มธุรกิจส่งสินค้า/อาหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ
กลุ่มธุรกิจ B2B คือ กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับ LINE ประเทศไทย มากที่สุด กลุ่มธุรกิจนี้ ประกอบไปด้วย สินค้าและบริการที่ตอบสนองธุรกิจทุกขนาดตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก สินค้าและบริการหัวหอกในกลุ่มธุรกิจนี้ คือ โฆษณา ทั้งส่วนที่เป็น Display Ad และ Account Ad ซึ่ง Display Ad จะแสดงบน Line Today และ Line TV ส่วน Account Ad จะแสดงบน Line Official Account หรือ Line OA
ณ ปัจจุบัน Line OA นั้นมีลูกค้าทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านบัญชี ทั้งนี้ ตัวเลขนี้เกิดจากการควบรวมจำนวนผู้ใช้งาน Line Official Account ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ กับ ผู้ใช้งาน Line@ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก หรือ SME ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
ในขณะที่ ปัจจุบัน LINE Today มียอดคนอ่านราว 1 พันล้านเพจวิวต่อเดือน หาก LINE ต้องการเพิ่มเวลาใช้งานในส่วนนี้ ดร.พิเชษฐ์ กล่าวว่า จำเป็นต้องเป็นมากกว่าแหล่งรวมของข่าวสาร แต่จะเป็น beyound news คือ จะต้องนำเสนอเนื้อหาที่คนไทยสนใจเพิ่มมากขึ้น ณ ปัจจุบัน เนื้อหาหลักบน LINE Today ยังคงเป็นข่าว ซึ่งมีพันธมิตรมากกว่า 100 ราย
ส่วน LINE TV ปัจจุบัน คือ เบอร์หนึ่ง re-run content และกลายเป็นแหล่งรวมเนื้อหาคุณภาพที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน บางเนื้อหาที่เป็น hit show สามารถสร้างยอดวิวสูงถึง 300-500 ล้านวิว ดร.พิเชษฐ์ กล่าวว่า ยอดวิวบน LINE TV เป็นยอดวิวที่มีคุณภาพ ทำให้ยอดวิวโฆษณาบน LINE TV เป็นยอดวิวที่มีคุณภาพไปด้วย
กลุ่มธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินมากเป็นอันดับสองให้กับ LINE ประเทศไทย คือ กลุ่มธุรกิจ B2C ซึ่งรายได้มาจากการขายสินค้าและบริการให้กับผู้ใช้งาน ผ่านแอปพลิเคชัน Line ได้แก่ รายได้จากการขายสติ๊กเกอร์ (Sticker) ขายธีม (Theme) และขายเพลงเสียงรอสาย/เพลงเสียงเรียกเข้า (Line Melody)
ในกลุ่มธุรกิจนี้สติ๊กเกอร์เป็นสินค้าที่สร้างรายได้มากที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกันสติ๊กเกอร์ก็สร้างรายได้ให้กับคนไทยจำนวนไม่น้อย เพราะรูปแบบของธุรกิจและรายได้จากการขายสติ๊กเกอร์ในแอปพลิเคชัน LINE นั้น เป็นการสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ให้กับผู้ใช้งาน LINE และผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเปิดให้มีนักสร้างสติ๊กเกอร์เพื่อมาขายให้กับผู้ใช้งาน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีคนไทยผู้สร้างสติ๊กเกอร์ หรือที่เรียกกันว่า ครีเอเตอร์ (creator) ให้กับแอปพลิเคชัน LINE อยู่ราว 400,000 -500,000 คน
ในขณะที่ 4 กลุ่มธุรกิจที่เหลือมีการสร้างรายได้รวมกันแล้วน้อยกว่า 2 กลุ่มธุรกิจแรกอย่างมาก
กลุ่มธุรกิจที่ 3 คือ กลุ่มธุรกิจเกม หรือ Line Game รายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้ มาจากการขาย (item) ของในเกม
กลุ่มธุรกิจที่ 4 คือ กลุ่มธุรกิจ Line Man ที่มีรายได้มาจากค่าส่งสินค้า/ของ/อาหาร (delivery fee) ซึ่งภายใต้กลุ่มธุรกิจนี้มีแอปพลิเคชันหลัก คือ Line Man ที่เปิดให้บริการมาแล้ว 3 ปี ปัจจุบันมี Line Man มากกว่า 100 คน ไม่รวมคนส่งของพันธมิตรธุรกิจอย่าง Lalamove ซึ่งภายใต้แอปฯ Line Man นี้ มีบริการแยกย่อยออกเป็น 6 บริการ ได้แก่ ซื้ออาหาร (food) ส่งของ (messenger) ซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ (convienent goods) ส่งคน (Line Taxi) ส่งพัสดุ (Line Pacel) และส่งของใช้/ของกินในซูเปอร์มาร์เก็ต (Line Grocery)
กลุ่มธุรกิจที่ 5 คือ กลุ่มธุรกิจด้านการเงิน ซึ่งจะเป็นธุรกิจ cash cow ในอนาคต เพราะเป็นธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน กลุ่มธุรกิจนี้มีรูปแบบของธุรกิจและโครงสร้างรายได้ที่หลากหลาย แต่ธุรกิจหลัก คือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) รูปแบบรายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้มาจากค่าธรรมเนียมรายธุรกรรม (transaction fee) และรายได้จากการทำกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ
ซึ่งที่ผ่านมา LINE ได้ร่วมลงทุนกับ ธนาคารกสิกรไทย จัดตั้ง บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด โดยธนาคารกสิกรไทย ลงทุนผ่านบริษัท บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด หรือ เควิชั่น และ LINE ลงทุนผ่านบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย
บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด จะเริ่มมีสินค้าและบริการออกสู่ตลาดในราวไตรมาส 4 ของปีนี้
ส่วนกลุ่มธุรกิจสุดท้าย เรียกว่า กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ได้แก่ Line Webtoon และ Line Shopping โดย Line Webtoon คือ บริการการ์ตูนออนไลน์ (interactive cartoon content) เป็นธุรกิจที่สร้างระบบนิเวศน์เช่นเดียวกับ Line Sticker โดย Line Webtoon สร้างระบบนิเวศน์ให้กับนักเขียนการ์ตูนคนไทย
ส่วน Line Shopping เป็นบริการใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยวางบทบาทเป็นแหล่งรวม (portal) ตลาดออนไลน์ (e-marketplace) ที่นำเสนอบริการที่มากกว่าให้ลูกค้าสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการ เปรียบเทียบราคา เปรียบเทียบโปรโมชั่น เปรียบเทียบรุ่นและแบบได้ แม้ว่าสินค้าจะอยู่กระจัดกระจายคนละที่คนละตลาด โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องเข้าออกหลายแอปฯ ปัจจุบัน ที่ Line Shopping มีตลาดออนไลน์ (e-marketplace) ให้เลือกใช้งานมากถึง 15 ราย
ทุกกลุ่มธุรกิจ และทุกสินค้าและบริการ LINE จะเดินเกมด้วยกลยุทธ์ OMO, AI และ Fintec ตามที่กำหนดทิศทางไว้
โดย OMO ซึ่งเป็นขั้นถัดมาจาก O2O หรือ Online-to-Offline จะเน้นประสบการณ์ผู้ใช้งานให้มีความลื่นไหลระหว่าง online และ offline อาทิ หากเป็นบริการ Line Shopping หรือ Line Man ก็จะเน้นประสบการณ์การใช้งานบริการให้ง่ายและลื่นไหลทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย
ในขณะเดียวกัน บริษัทจะมีการนำ AI เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงบริการที่อยู่ให้มีประสิทธิภาพพิ่มมากขึ้น อาทิ การนำ Big Data เข้ามาบริหารจัดการคิวการทำงานของ LINE Man ให้สามารถลดเวลาในการส่งอาหารต่อรายการลงได้
ส่วน Fintec นั้น ดร.พิเชษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา LINE ลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาด้าน Fintec ไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ LINE อยู่ในสถานะที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ซึ่งในประเทศไทย ธุรกิจ Fintec ของ LINE ได้แก่ Rabbit Line Pay กับ บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ซึ่ง Rabbit Line Pay เน้นโครงสร้างพื้นฐาน ส่วน บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด เน้นสร้างสินค้าและบริการ โดยบริการแรกจะเปิดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
“ในอุตสาหกรรม Fintec ในระดับโลก แม้เราจะไม่ใช่เจ้าใหญ่สุด แต่เราก็ไม่ใช่เจ้าเล็กในตลาดที่เราอยู่ เราเชื่อว่าเรามีเทคโนโลยี มีลูกค้า มีความเข้าใจลูกค้า ในตลาดที่ชัดเจน”
“เราเป็นผู้เล่นหลัก ใน 4 ตลาดหลักของ LINE คือ ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย e-wallet ของ LINE คือ หนึ่งในผู้เล่นหลักในสนาม payment gateway ของประเทศนั้น ๆ”