“เพื่อไทย” เตรียมแถลงคืบหน้าตั้งรัฐบาล รวมเสียงได้อีก 6 พรรค รวม 236 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพรรคเพื่อไทย ได้แจ้งถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลว่า ในวันนี้ (9 ส.ค.) เวลา 12.00 น. ที่อาคารรัฐสภา พรรคพท.พร้อมด้วยอีก 5 พรรค ประกอบด้วยพรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง และพรรคท้องที่ไทย 1 เสียง จะแถลงข่าวร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย จากนั้นในวันที่ 10 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยจะแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ที่อาคารรัฐสภาเช่นกัน

ทั้งนี้ภายหลังพรรคเพื่อไทยแถลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย โดยรวมเสียงได้ 212 เสียง เมื่อรวมกับอีก 6 พรรคที่จะแถลงข่าวร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ขณะนี้มีเสียงรวมกัน 236 เสียง
“ไทยสร้างไทย” ออกแถลงการณ์ ไม่ย้ายขั้วตั้งรัฐบาล ยึดคำมั่นประชาชน
พรรคไทยสร้างไทยออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะว่าตามที่มีการยกเลิกบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) ของ 8 พรรคการเมือง ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยได้ร่วมลงนามไปแล้วในช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้มีประเด็นที่สำคัญ คือ รัฐสภายังรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง ไม่สามารถเสนอซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ และยังรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยว่าจะได้รวบรวมเสียงสนับสนุนได้เท่าใด

ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ และอาจจะเป็นทางออกให้กับการจัดตั้งรัฐบาลที่ประชาชนรอคอย ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยได้แสดงจุดยืนภายใต้หลักการที่ชัดเจนของพรรคมาโดยตลอดว่าจะไม่มีการสลับขั้ว-ย้ายฝั่ง และไม่เป็นที่เหยียบยืนให้กับเผด็จการอย่างเด็ดขาด เพื่อที่จะยุติการสืบทอดอำนาจของ 2 ลุงอย่างถาวร รวมทั้งประเด็นที่จะทำงานร่วมกันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงเพื่อประชาชน และแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน
พรรคไทยสร้างไทยจึงจะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นไปตามกลไกภายในของพรรคที่ต้องให้คณะกรรมการบริหารพรรคร่วมกันพิจารณาว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลต่อไป โดยยืนยันว่าจะยึดมั่นในสิ่งที่สัญญาเป็นสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน ไม่เป็นนั่งร้านให้เผด็จการ และผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนให้เป็นรูปธรรม
พรรคขอยืนยันจุดยืนที่เคยประกาศ เป็นสัญญาประชาคม ไว้ก่อนการเลือกตั้ง 4 ประการ คือ
- ยุติการสืบทอดอำนาจของผู้กระทำการรัฐประหารอย่างเด็ดขาด โดยไม่สนับสนุน 2 ลุง และพรรค 2 ลุงให้ได้บริหารประเทศอีกต่อไป
- เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนอำนาจให้ประชาชน จากการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งพรรคได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาแล้ว โดยจะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
- เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
และ 4. ไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ให้ตรวจสอบการบังคับใช้ ไม่ให้เป็นเครื่องมือทาง การเมือง อันอาจจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย
และสมาชิกทุกรุ่นจะร่วมมือกันทำงานหนักเพื่อให้พรรคไทยสร้างไทยเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง
“สุชาติ”แทงกั๊ก “รวมไทยสร้างชาติ” ร่วมรัฐบาล “เพื่อไทย” หรือไม่ ขอดูผลวินิจฉัยศาลรธน.ก่อน
สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สส.ปาร์ตี้ลิสต์และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวพรรครวมไทยสร้างชาติจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่จะไปบางคน ไม่ไปทั้งพรรค ว่าตอนนี้ตนยังอยู่รวมไทยสร้างชาติ เราทำงานการเมืองในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้เราเป็น สส. เป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ

ยืนยันว่า วันนี้อยู่ตรงนี้ ทางออกของประเทศสูตรคณิตศาสตร์มีหลายทางออก อยู่ที่ว่าตกผลึกอย่างไร ทั้ง สส. สว. เพราะต้องใช้เสียง 376 เสียง และยังไม่รู้เลยว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ตอนนี้อยู่เฉย ๆ ก่อน อยากจะให้ดูวันที่ 16 ส.ค.นี้ก่อนว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร เงื่อนไขเป็นอย่างไร รับ ไม่รับ ไม่รับแล้วไปยังไงต่อ หรือถ้ารับแล้วอยู่ยังไงต่อ ต้องตอบทีละยก ส่วนตัวตนพูดจากใจอยากให้ประเทศชาติเดินหน้าได้
ถึงวันนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เรายังไม่รู้ จะให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยวิธีไหนก็ควรจะให้มีการตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว เศรษฐกิจจะได้เดินได้
“เพื่อไทย” จัดประชุม ส.ส.ย้ำพรรคต้องได้เก้าอี้นายกฯ ส่วนการจับมือ 2 พรรคลุง ขอเป็นทางเลือกสุดท้าย
วานนี้ (8 พ.ค.) เวลา 16.00 น. พรรคเพื่อไทย จัดประชุม สส. พรรค นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค โดยมีแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทยประกอบด้วย ชัยเกษม นิติสิริ เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร เข้าร่วมประชุมด้วย โดยใช้เวลาประนานกว่า 2 ชั่วโมง

ที่ประชุมเปิดโอกาสให้ตัวแทนแต่ละภาคได้แสดงความคิดเห็น โดยมนพร เจริญศรี สส.นครพนม ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่า คนอีสานเลือกตั้งมา เพื่อต้องการให้สส. เป็นรัฐบาล และให้ตัวแทนจากพรรคเป็นนายกฯไม่ใช่มาเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งสส.หลายคนก็แสดงความคิดเห็นทิศทางเดียวกัน
ขณะที่ฐิติมา ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา แสดงความเป็นห่วงหากพรรคจับมือกับ “2 ลุง” จะไม่สามารถตอบคำถามกับประชาชนในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ ยังมีสส.บางส่วนระบุว่า ไม่อยากให้พรรคพท. จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะมีส่วนเกี่ยวกับกับเหตุการณ์สลายการชุมนุคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่จะมาร่วมรัฐบาลนั้น ไม่มีใครลุกขึ้นมาทักทวง ขณะที่ทีมเจรจาชี้แจงว่า ทั้ง “2 ลุง” และพรรค ปชป. จะเป็นทางเลือกสุดท้าย หากจะมีเข้ามาจะไม่เป็นในรูปแบบของพรรค เพราะหากสส.คนไหนจะยกมือสนับสนุนก็ถือเป็นเอกสิทธิ
นอกจากนี้ สส.บางคนยังแสดงความเป็นห่วงถึงการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อาจจะถูกสับขาหลอกในวันโหวตเลือกนายกฯทำให้ตำแหน่งดังกล่าวไปตกอยู่ที่พรรคอื่น ซึ่งทางคณะเจรจาได้ยืนยันกับสส.ว่า ถึงอย่างไรนายกฯต้องมาจากแคนดิเดตพรรค เพื่อไทย และทางพรรคก็ยังพูดคุยกับพรรคก้าวไกล เพราะพร้อมสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยฉบับประชาชนอย่างแท้จริง
ครม.ไฟเขียวเลือกตั้งซ่อม สส.ระยอง เขต 3 กำหนด 10 ก.ย.หย่อนบัตรเลือกตั้ง
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ….

โดยความจำเป็นในการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งฯ นี้ เนื่องด้วยนายนครชัย ขุนณรงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 ได้มีหนังสือลาออกจากการเป็น สส. ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 66 เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (3) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ได้กำหนดให้ในกรณีที่ สส.ที่มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง สส. แทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง
เพื่อให้การเลือกตั้ง สส. จังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้ยกร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งฯ และร่างแผนการจัดการเลือกตั้งขึ้นและเสนอต่อ ครม.
สำหรับร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง สส. จังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่างนั้น มีลำดับสำคัญ อาทิ วันที่ 14 ส.ค. 66 เป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งฯ จะมีผลใช้บังคับ วันที่ 15 ส.ค. 66 : กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายในการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง และรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, วันที่ 17-21 ส.ค. 66 เป็นวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 สำหรับวันที่คาดว่าเป็นวันเลือกตั้งฯ คือวันที่ 10 ก.ย. 66 ส่วนวันที่ 11-17 ก.ย. 66 เป็นวันแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง