ชวนคนไทยฝึกงานที่ญี่ปุ่น ฝึกครบ 3 ปี รับเงินกลับบ้านกว่า 1.5 แสนบาท
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น ประเภทงานอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง ผ่านองค์กร IM Japan ปี 2566 ครั้งที่ 4 จึงขอเชิญชวนผู้สนใจสมัครทางออนไลน์ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่บัดนี้-18 มิ.ย. 2566 สอบคัดเลือก ณ ศูนย์สอบกรุงเทพมหานคร

โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ เดือนแรกจะได้รับเบี้ยเลี้ยง 80,000 เยน หรือประมาณ 19,893 บาท ค่าที่พัก ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฟรี และเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่น และ เมื่อฝึกครบตามกำหนด จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 149,170 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2566) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย
เปิดความคืบหน้า ‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะ 1’ คาดแล้วเสร็จปี 69
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วง กทม.-นครราชสีมา ประกอบด้วย 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. กำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 มี 15 สัญญา แบ่งเป็นงานโยธา 14 สัญญา งานระบบ 1 สัญญา ขณะนี้ ก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอการลงนาม 3 สัญญา

คาดว่า จะใช้ขบวนรถรุ่น ฟู่ซิงห้าว (Fuxing Hao) CR300AF มาให้บริการ แบ่งประเภทที่นั่งได้ 3 ระดับ คือ ชั้น 1 แบบเก้าอี้เดี่ยว ชั้น 2 ประเภทธุรกิจ และชั้น 3 ความจุ 600 คน/ขบวน ต่อพ่วงได้ 3-10 คัน/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 5 หมื่นคน/ชั่วโมง/ทิศทาง
จีนพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง 11 ด้านให้ไทย เช่น วัสดุที่ใช้ในการสร้างรางรถไฟ แนวปฏิบัติในการวางรางในภูมิประเทศลักษณะต่างๆ การออกแบบสถานีให้ผู้โดยสารสัญจรไปมาได้ดีขึ้น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำหรือแหล่งอื่นๆ ด้วยความเร็วที่มากขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง การออกแบบและสร้างอุโมงค์ที่ปลอดภัย รวมถึงอบรมการบริหารรถไฟความเร็วสูง การซ่อมบำรุง และการขับรถไฟ
ครม.ดันสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก เป็นจุดหมายปลายทางการเดินทางเอเชีย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (6 มิ.ย. 2566) รับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีความล่าช้า เนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมถึงโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นเหตุให้เอกชนคู่สัญญาขอใช้สิทธิผ่อนผันตามสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้หารือร่วมกับเอกชนคู่สัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาและหาข้อสรุปร่วมกัน

การเยียวยาดังกล่าว จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการลงทุนในระยะที่ปริมาณผู้โดยสารยังได้รับผลกระทบ เพิ่มความยืดหยุ่นให้เอกชนคู่สัญญาดำเนินโครงการฯ ได้โดยที่รัฐยังได้รับชำระ ส่วนที่เป็นรายได้ของรัฐ พร้อมค่าเสียโอกาส ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าผลักดันโครงการฯ ให้เป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ในการเดินทางของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ใกล้เคียงในระยะยาวอีกด้วย
เปิดหลักเกณฑ์-เงื่อนไข ‘ร้านก๊าซหุงต้ม’ ในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน กำหนดคุณสมบัติร้านค้าก๊าซรายใหม่ ที่จะเข้าร่วมโครงการรับชำระเงินจากสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ มีผลบังคับใช้วันนี้ (8 มิ.ย. 2566) โดยจะต้องเป็นร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้มที่มีใบแจ้งการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 2 ลักษณะที่หนึ่ง (ธพ.ป.2) หรือ ประเภทที่ 3 ลักษณะที่สอง (ธพ.ก.2) ตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง มีสถานที่ตั้งร้านค้าที่แน่นอน ไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ ไม่เคยยกเลิกการติดตั้งเครื่อง EDC หรือแอปพลิเคชันถุงเงิน

ส่วนเงื่อนไขที่มีอยู่แล้วครอบคลุมทั้งรายเก่าและรายใหม่ ได้แก่ ติดตั้งเครื่อง EDC หรือแอปพลิเคชันถุงเงิน ห้ามปฏิเสธการรับชำระค่าก๊าซหุงต้มโดยใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐโดยไม่มีเหตุอันควร ห้ามยึดหรือเก็บบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิสวัสดิการฯ ห้ามรับแลกสิทธิส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มเป็นเงินสด สินค้าชนิดอื่น หรือสิ่งตอบแทนอื่น ห้ามดำเนินธุรกิจลักษณะยานพาหนะเร่ขาย ห้ามรับชำระแบบล่วงหน้า เช่น สะสมแต้ม รวมสิทธิเพื่อส่งมอบภายหลัง ห้ามรับแลกสิทธิที่ก๊าซเป็นของร้านอื่น และห้ามหาประโยชน์อื่นใดจากสิทธิสวัสดิการฯ ที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของสวัสดิการแห่งรัฐ
หากฝ่าฝืน จะถูกเพิกถอนการเป็นร้านค้าก๊าซที่ร่วมโครงการ โดยไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ รวมถึงไม่สามารถสมัครเข้าเป็นร้านค้าก๊าซเพื่อรับชำระเงินจากการใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้อีกต่อไป
ธอส.ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 66
นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% ต่อปี เป็น 2.00% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธอส. จึงมีมติให้ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ 0.05-0.35% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและให้ผู้ฝากเงินได้รับประโยชน์ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธอส. ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์
พร้อมกันนี้ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอีกด้วย โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคาร ได้ที่ Mobile Application: GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th