ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้ตรวจสอบการการปฏิบัติงานในการจัดการการเลือกตั้ง ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง
ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 โดย
“ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งโดย จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้
“ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” หมายความว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด มีหน้าที่และอำนาจในจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้ง ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจ แจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ให้รายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว
(2) ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใด ที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(3) เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง
(4) ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศและมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งและตามที่ได้รับมอบหมาย
คุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้ง
ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี นับถึงวันสมัคร
(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน นับถึงวันสมัคร
(4) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(5) มีความเป็นกลางทางการเมือง
(6) มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
(7) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจการเลือกตั้ง
ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลาห้าปีที่ผ่านมาก่อนการแต่งตั้ง
(4) ติดยาเสพติดให้โทษ
(5) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(6) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(7) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(8) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(9) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(10) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัคร รับเลือกตั้ง
(11) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(12) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปี นับถึงวันสมัคร เว้นแต่ในความผิดอันได้ กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(13) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือ ถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(14) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษให้จำคุกเพราะกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(15) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือ หน่วยงานของรัฐ หรือ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตาม กฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(16) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(17) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(18) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
(19) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(20) อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(21) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ
(22) มีบุพการี คู่สมรส หรือบุตรเป็นหรือสมัครรับเลือกตั้งหรือรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(23) เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด แต่ได้ลาออก หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด มีระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือการเลือกมีผลใช้บังคับ แต่ต้องไม่เร็วกว่าสามสิบวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด หรือ วันประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี
การพ้นจากตำแหน่ง
ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับมอบหมาย
(3) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้หรือมีเหตุอันควร สงสัยว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดผู้ใด ขาดความสุจริต ขาดความเที่ยงธรรมมีความประพฤติเสื่อมเสีย ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม หรือขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ละทิ้งหน้าที่ หรือไม่ยอม ปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำการขัดต่อระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
สามารถ Add Friends (เพิ่มเพื่อน) เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ได้ที่ LINE Official Account : ECT Thailand https://lin.ee/jETxaeu