ดีลอยท์ สะท้อน 3 ปัญหาฉุด Startup ไทย ไปไม่ถึงฝัน
ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวถึงการศึกษาระบบนิเวศในประเทศไทย พบว่า Startup ไทยจำนวนมากเผชิญความยากลำบากในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ตั้งแต่ปัญหาการเข้าถึงเงินทุน จนไปถึงความยากลำบากในการหาผู้ประกอบกิจการที่มีความสามารถ ยกตัวอย่างเช่น

1.Startup ในไทยประสบปัญหาในการเข้าถึงเงินทุน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนในระยะเริ่มต้น หรือ Seed Stage) จำนวนรอบระดมทุนของ Startup ในระยะเริ่มต้น หรือ Seed Stage ลดลงตั้งแต่ปี 2562 จากเดิมจำนวนรอบระดมทุน 33 รอบ ลดลงไปกว่าครึ่งในปี 2563 VC จากบริษัทใหญ่ หรือ Corporate VCs (CVCs) ถือครองอยู่ มักจะเน้นลงทุนใน Startup ระยะท้าย หรือ Later Stage 2.โครงการสนับสนุน Startup จากหน่วยงานภาครัฐยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น การที่โครงการให้การสนับสนุน Startup ด้วยเงินทุนจำนวน 20,000 ถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยที่แท้จริงแล้ว Startup ต้องการเงินทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ดำเนินการสำหรับ 1-2 ปี นอกจากนั้น จากการสัมภาษณ์ Startup เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานภาครัฐ Startup หลายๆ ที่ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำเอกสาร และการเบิกจ่ายเงินสนับสนุน ซึ่งมีความยุ่งยากและใช้เวลานาน เพิ่มความกดดันให้กับผู้ประกอบกิจการในการบริหารเงิน 3.Startup ไทยประสบปัญหาในการเข้าถึงที่ปรึกษาในประเทศ เนื่องจากที่ปรึกษามีจำนวนน้อย จากประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้ก่อตั้ง Startup ในไทย มีปัญหาในการเปิดรับแนวคิดความกล้ายอมรับความเสี่ยง และวิสัยทัศน์การขยายธุรกิจออกสู่สากล ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้าง Unicorn Startups ในไทย
“ตะปูไทย” เฮ รอดภาษี AD สหรัฐฯ คาดส่งออกสดใส
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) แจ้งว่าจากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (Department of Commerce: DOC) ได้ประกาศผลการพิจารณาชั้นที่สุดด้านส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดกรณีการไต่สวนการทุ่มตลาด (Antidumping Duty: AD) สินค้าตะปูที่นำเข้าจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา และตุรกี โดยพบว่าบริษัทผู้ส่งออกของไทยมีอัตรา AD ชั้นที่สุดอยู่ระหว่าง 12.61 – 13.90 อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (United States International Trade Commission : USITC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พิจารณาประเด็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ

ได้ประกาศผลการตัดสินชั้นที่สุดว่าการทุ่มตลาดสินค้าตะปูที่นำเข้าจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย และตุรกี ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะถูกกำหนดใช้มาตรการ AD ดังกล่าว ถือเป็นข่าวดีของอุตสาหกรรมตะปูไทยอีกครั้ง การที่ USITC ไม่พบความเสียหายจากการนำเข้าตะปูจากไทย ทำให้ไทยไม่ถูกเรียกเก็บอากร AD ดังกล่าวจากสหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยยังคงรักษาตลาดตะปูในสหรัฐได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแต้มต่อ และเพิ่มโอกาสให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าตะปูจากไทยในปี 2566 มากขึ้น จากข้อมูลสถิติระหว่างปี 2561 – 2565 พบว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าตะปูที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด
ประกันสังคมเตรียมปรับฐานเงินสมทบ ม.33 ใหม่
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวง กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.พ. 66 โดยประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็น คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ….

มีการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตัวอย่างผลต่อผู้ประกันตน เช่น ในปี 67 ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท (เดิม 7,500 บาท) เป็นต้น
ก.ล.ต. ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ใบแรก
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเดิมระบบ Biz Portal ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-licensing) เป็นใบแรกที่ลงนามโดยระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ตามแผนการพัฒนาบริการดิจิทัล (SEC Digital Services Roadmap) สอดรับกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลและพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-licensing) ใบแรก ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ ก.ล.ต. โดยการส่งเสริมและสนับสนุนของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้เปิดใช้ระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจในการยื่นคำขอ นำส่งและรับใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ ในเบื้องต้นเปิดสำหรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (ใบอนุญาตแบบ ง) และใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ใบอนุญาต Private Fund) ไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565
SET แนะหลีกเลี่ยงลงทุนหุ้นใหญ่ หันเก็งกำไรหุ้นเล็ก-กลาง
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เอ็กซ์สปริง กล่าวถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (9 ก.พ.) แนวรับหลัก 1,670 จุด หากหลุดก็จะลงไปลึก ให้แนวรับถัดไปที่ 1,650 จุด โดยมีแนวต้านหลักที่ 1,695 จุด คาดยังอยู่ในกรอบ 1,670-1,695 จุด แนะหลีกเลี่ยงลงทุนหุ้นใหญ่ หันเก็งกำไรหุ้นเล็กและกลาง โดยเฉพาะหุ้นปันผลจะปลอดภัยกว่า
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ (8 ก.พ.) ปรับตัวลงแรงจากความกังวลนักลงทุนต่างชาติเทขายต่อเนื่อง เพราะเปิด short positon ในตลาด TFEX อยู่ 1.4-1.5 แสนสัญญา โดยเปิด short มา 5 สัปดาห์แล้วตั้งแต่ต้นปี เป็นผลจากการปรับพอร์ตหลังเข้าซื้อหุ้น Defensive ในตลาดหุ้นไทย หลีกเลี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยแบบ Hard Landing แต่ขณะนี้ได้ปรับมุมมองใหม่ ปรับหุ้น Defensive-หุ้นวัฏจักรออกแล้วเข้ากลุ่มเทคโนโลยี-ไอที กลุ่มสินค้าหุ่นยนต์ ซึ่งไม่ค่อยมีในตลาดหุ้นไทย แต่ส่วนใหญ่อยู่ใน Nasdaq, S&P 500, ตลาดหุ้นเกาหลีใต้, ตลาดหุ้นไต้หวัน จึงขายหุ้นกลุ่ม Defensive , Utility , Healthcare ในตลาดหุ้นไทยออก ขณะเดียวกันผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 65 ออกมาไม่ค่อยดี ล่าสุด KCE ต่ำกว่าคาด จากก่อนหน้าก็ผิดหวังผลประกอบการ SCC มาแล้ว ส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้าซื้อหุ้นใหญ่ในช่วงนี้

หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่
KCE มูลค่าการซื้อขาย 5,038.45 ล้านบาท ปิดที่ 50.50 บาท ลดลง 6.50 บาท
DELTA มูลค่าการซื้อขาย 2,620.40 ล้านบาท ปิดที่ 930.00 บาท ลดลง 40.00 บาท
PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 1,616.97 ล้านบาท ปิดที่ 165.00 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
AOT มูลค่าการซื้อขาย 1,479.82 ล้านบาท ปิดที่ 74.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท
BANPU มูลค่าการซื้อขาย 1,400.29 ล้านบาท ปิดที่ 11.00 บาท ลดลง 0.20 บาท