
สิ่งที่บริษัทนี้คิดค้นได้ ถูกใส่ไว้ในอาหาร ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ขนมขบเคี้ยว น้ำผลไม้ ของใช้ในบ้าน เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และกระทั่งถุงยางอนามัย
คุณแทบจะไม่รู้จักบริษัทนี้เลย แต่บริษัทนี้รู้จักคุณดีที่สุด เขารู้ว่า ลิ้นของคุณชอบรสชาติอะไร จมูกของคุณหลงใหลกลิ่นไหน สายตาของคุณเห็นสีอะไรแล้ว…อยากจะหยิบโทรศัพท์มาเซลฟี่ด้วยมากที่สุด (Printed Version: 30 กันยายน-6 ตุลาคม 2562, P. 3, Exclusive Interview)
“ลิ้นของคนเรารับรสได้ ห้ารส เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ขม ทำให้สินค้ามีเอกลักษณ์และแตกต่างกัน” พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการบริษัท บริษัท R&B Food Supply Plc. เล่าให้ Business Today ฟังใน Exclusive Interview
ผลิตภัณฑ์ของที่นี่ทำให้สินค้าในโลกนี้มีความหลากหลาย RBF เป็นผู้ออกแบบรสชาติ กลิ่น สี เนื้อสัมผัส รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เป็นบริษัทของคนไทย สิ่งที่คิดค้นถูกใส่ไว้ในอาหาร ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ขนมขบเคี้ยว น้ำผลไม้ เครื่องสำอาง ครีมทาหน้า ลิปสติก ของใช้ในบ้าน เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และกระทั่งถุงยางอนามัย
ใครก็ตามที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เอาเข้าปากได้ ใช้ทา หรือใช้กับร่างกายจะวิ่งมาปรึกษาที่นี่ เพราะรสชาติ สี กลิ่น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะตัดสินยอดขาย และที่นี่มี “ห้องสมุดกลิ่น และรสชาติ” ที่มีให้เลือกมากมายมหาศาล
ดร. สมชาย รัตนภูมิภิญโญ ประธานกรรมการ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) จบวิทยาศาสตร์ด้านเคมีจากจุฬา และได้มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ จึงเก็บประสบการณ์มาเปิดธุรกิจรับออกแบบและผลิตกลิ่น รสชาติ สี ให้แบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทย การขยายธุรกิจของ R&B ก้าวกระโดดมากเมื่อคว้าดีลลูกค้าเครื่องดื่มบำรุงกำลังรายใหญ่ได้ และเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ว่า ในอดีต เมื่อใดที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางการค้า บริษัทแห่งนี้จะคว้าโอกาสใหม่ๆ ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัดนก (2534) และวิกฤติการเงิน “ต้มยำกุ้ง” (2540) สถานการณ์น่าเป็นห่วงกลับเปิดทางเป็นซูเปอร์ไฮเวย์ให้บริษัทเติบโตยิ่งขึ้น
“ช่วงไข้หวัดนก ไก่สด ส่งขายไปยุโรป ถูกระงับหมด แช่แข็งไป เชื้อก็ยังไม่ตาย เขากำหนดมาให้เป็นไก่ปรุงสุก ปรุงพร้อมรับประทาน เช่น นึ่ง ทอด อบ เพราะบริษัทมีความรู้เรื่องกลิ่นและรสชาติ โดยเฉพาะ texture ของอาหาร เลยเข้ามามีบทบาทช่วยอุตสาหกกรรมไก่แช่แข็ง ทำให้มี value added ในสมัยนั้น เช่น สหฟาร์ม ซีพี เบทราโก แหลมทอง ก็ใช้วัตถุดิบของเรา แทนที่จะส่งไก่ได้ตัวละหนึ่งเหรียญ กลายเป็นว่า ได้สองถึงสามเหรียญขึ้นไป”
ต่อมา RBF ต้องการเติบโตโดยมีวัตถุดิบของตัวเอง จึงไปซื้อโรงงานที่เชียงใหม่ บริการลูกค้าได้เร็วขึ้น ต้นทุน ก็ถูกลง โรงงานแห่งนี้ ก็ใส่เทคโนโลยีลงไป ทำให้เครื่องเทศทนความร้อนได้สูง กลิ่นก็ยังคงอยู่ กลายเป็นจุดแข็งของบริษัท
ตอนนี้มี preservatives (วัตถุกันเสีย) แบบออแกนิคแล้ว แตกต่างจากสารกันบูดแบบเดิมๆ ที่คนกลัวกัน

จุดแข็งอีกอย่างก็คือ
เมื่อแบรนด์ต่างๆ เมื่อใช้กลิ่น สี รสชาติที่ออกแบบจากที่นี่แล้ว จะต้องคิดหนัก หากต้องการไปใช้บริการบริษัทอื่น เพราะอาจจะกระทบยอดขาย ถ้าหากลิ่น หรือรสชาติเพี้ยนไป ทำให RBF สามารถรักษาฐานลูกค้าได้ยาวนาน
พญ.จัณจิดา บุตรสาวของดร. สมชาย เล่าว่า นวัตกรรมด้านอาหารเปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน และ R&B ต้องจับเทรนด์ให้ทัน
“ผู้บริโภคในห้าปี สิบปีข้างหน้าจะรู้เยอะ ศึกษามากขึ้น ฉลาดมากขึ้น จะใส่ใจคุณค่าทางอาหารและองค์ประกอบ คอยอ่านหลังซองว่ามีอะไรใส่ลงไปบ้าง ลักษณะการใช้ชีวิตก็จะต่างไป
ช่วงสองสามปีนี้ เห็นได้ชัดว่า อาหาร นอกจากอร่อยแล้ว หน้าตาต้องสวยด้วย สีสันจัดจ้านเพื่อจะขึ้นกล้อง หรือแม้ลักษณะการดำรงชีวิต ประชากรสูงอายุมากขึ้น ลักษณะครอบครัวก็เล็กลง อาจไม่มีลูก การทำกับข้าวก็ไม่ทำปริมาณเยอะๆ”
คนอยากหุ่นดีเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นและจะยังคงอยู่ต่อไป แล้วงานวิจัยของที่นี่จะช่วยผู้บริโภคกลุ่มนี้อะไรได้บ้าง?
“ลูกค้าก็พยายามลด ไขมัน อยากกินคีโต โปรตีนสูง เราก็มีตอบโจทย์ว่า ทำผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้อาหารมีหน้าตา มีเทกเจอร์เหมือนของทอด แต่จริงๆ แล้วใช้อบ หรือหารสชาติใหม่ๆ มากลบรสเฝื่อนของไก่ปั่น หรือโปรตีนต่างๆ ทำให้ สายกล้าม กินได้ง่ายขึ้น และกินได้เยอะขึ้น”
ขณะเดียวกันก็ต้องคอยให้ความรู้เติมให้แบรนด์ด้วยว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรบ้าง
“ลูกค้าบางรายถนัดทำด้วยวิธีดั้งเดิมมานาน ทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุวางบนชั้นวาง (shelf life) สั้นมาก ด้วยความมั่นใจในวิธีทางธรรมชาติ และอยากจะเป็นออแกนิคร้อยเปอร์เซ็นต์ ลูกค้าไม่รู้ว่า ตอนนี้มี preservatives (วัตถุกันเสีย) แบบออแกนิคแล้ว แตกต่างจากสารกันบูดแบบเดิมๆ ที่คนกลัวกัน แต่เป็นสารสกัดจากธรรมชิต เช่น ผลไม้ เอามาใส่แล้วโปรดักซ์จะอยู่ได้นานขึ้น จากเดิม อยู่ได้อาทิตย์เดียว กลายเป็นอยู่ได้สองสามเดือน พอมี shelf life นานขึ้น ของก็ถูกส่งกระจายออกไปได้ใกลขึ้น”
สิ่งสำคัญที่ RBF พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งก็คือ Supply Chain Management (การบริหารจัดการในระบบการผลิตทั้งหมด)
“ทำยังไงให้มีประสิทธิภาพสูง และตันทุนต่ำที่สุด ผลิตภัณฑ์มี Shelf life ยาวที่สุด เก็บสต็อคได้นาน เก็บง่าย ต้องมีเทคโนโลยี ไอที R&D (การวิจัยและพัฒนา) อาหาร จัดเก็บ และขนส่ง Supply Chain ของเราต้องปรับตัวเรื่อยๆ เมื่อเทคโนดีขึ้น เราก็ยิ่งบริหาร Supply Chain ได้เก่งขึ้น” เธอกล่าว
ปัจจุบัน RBF จ้างชาวต่างชาติมาร่วมทีมวิจัย และในบางกรณี ด้วยการแข่งขันสูง ก็ต้องซื้อตัวมา ทีมวิจัยที่คอยคิดค้นสูตร “ลับ” ต่างๆ ของบริษัทมีกว่า 60 ชีวิต และแต่ละคนก็ค่าตัวสูงทั้งสิ้น
“ตอนรับสมัคร ก่อนเทสต์ ดูที่ทัศนคติว่า อยู่ด้วยกันได้ ความรู้พื้นฐานดี คือ รู้เรื่อง Food Science มีทดสอบประสาทสัมผัสบ้าง ทดสอบการรับรู้ต่างๆ ผู้สร้างสรรค์กลิ่นใหม่ๆ ต้องเอาสารเคมีผสมกัน ค่อนข้างเทรนยาก จากบรรดาสารเคมีในห้องแล็บกว่าสองพันตัว เขาต้องจำให้ได้ทั้งหมดว่า กลิ่นยังไง แล้วต้องเอาสองพันกว่าตัวมาผสมกัน กว่าคนหนี่งจะเก่ง ใช้ได้จริงๆ ก็ปีที่ห้าขึ้นไป”
Story by: วิทยา แสงอรุณ
Contributor: นเรศ เหล่าพรรณราย
Exclusive Interview:
อริยะ พนมยงค์: ตีลังกาล่าสมบัติ ช่อง 3