ใกล้งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ที่กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนครอบคลุมหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเตรียมจัดขึ้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.2565 เป็นต้นไป ยาวไปจนถึงเดือนต้นปี 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ และเดินสายสัญจรทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาผ่อนจ่ายไม่ไหว เข้ามาเจรจาพูดคุยเจ้าหนี้หาทางออกแก้หนี้ร่วมกัน
หนึ่งในทางออกแก้หนี้..คือ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถกลับมาจ่ายหนี้ต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน
เมื่อเกิดเหตุที่ทำให้รายรับลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น หรือทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน แม้จะลองลดค่าใช้จ่ายแล้ว แต่ก็มีแววว่าจะเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว จะหาเงินก้อนมาปิดทันทีก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณกำลังเจอปัญหานี้ สิ่งแรกที่ต้องรีบดำเนินการคือ รีบติดต่อกับสถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่
การปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญากู้เงินที่เคยทำไว้กับเจ้าหนี้ได้อีกต่อไปได้ ด้วยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับรายรับที่ลดลงหรือความสามารถในการชำระหนี้ที่เปลี่ยนไป โดยที่ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย (NPL) เพราะหากปล่อยปัญหาหนี้ไว้นานเกินไปอาจส่งผลเลวร้ายกว่าที่คิด เช่น ถูกฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ และหาทางออกได้ยากยิ่งขึ้น
ก่อนจะเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เราควรเริ่มต้นจากการศึกษาทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้และลองคิดไว้ล่วงหน้าว่าแบบไหนที่เหมาะกับความสามารถในการผ่อนชำระของเรามากที่สุด ตัวอย่างรูปแบบของการปรับโครงสร้างหนี้มีดังนี้
1.ขอขยายเวลาชำระหนี้ หรือการยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปซึ่งจะทำให้ค่างวดลดลง เช่น สัญญาฉบับเดิมมีระยะเวลาการกู้อยู่ที่ 10 ปี ค่างวดอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน ผ่อนชำระมาแล้ว 7 ปี เหลือระยะเวลาผ่อนอยู่ 3 ปี แต่เมื่อเริ่มผ่อนไม่ไหว จึงขอเจรจาขยายเวลาชำระหนี้กับเจ้าหนี้ออกไปจาก 3 ปีเป็น 5 ปี เพื่อให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลงต่ำกว่า 10,000 บาท เพื่อลดภาระในการจ่ายค่างวดแต่ละเดือนให้แก่ลูกหนี้ได้
2.รีไฟแนนซ์ (refinance) คือ “การเปลี่ยนเจ้าหนี้”หรือการ “ปิดหนี้” จากเจ้าหนี้รายเดิมมาเป็นเจ้าหนี้รายใหม่หรือทำสัญญาใหม่กับเจ้าหนี้เดิมที่เงื่อนไขดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง แล้วนำเงินที่ได้มาปิดหนี้ก้อนเดิมที่มีอยู่ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจรีไฟแนนซ์ ควรคำนึงถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ค่าจดจำนอง ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ ค่าประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนเจ้าหนี้ การทำสัญญาใหม่ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้กับเจ้าหนี้
3.ขอลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ค่างวดที่เราจ่ายในแต่ละเดือนสามารถนำไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น หมดหนี้เร็วขึ้น โดยเจ้าหนี้อาจมีเงื่อนไขการพิจารณาอนุมัติปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่แตกต่างกัน เช่น พิจารณาจากอายุของลูกหนี้ ประวัติการผ่อนชำระ และความสามารถในการชำระหนี้หลังปรับปรุงโครงสร้างหนี้
หากไม่รู้ว่าจะเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างไรดี เริ่มจากติดต่อสถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นเจ้าหนี้ของเราเสียก่อน เพื่อสอบถามแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ร่วมกัน จากนั้น ลองศึกษาวิธีการหรือเงื่อนไขในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบต่าง ๆ จัดเตรียมเอกสารหรือข้อมูลตามที่กำหนดก่อนเข้าสู่กระบวนการขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้
ที่สำคัญที่สุดคือ ควรประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของเราให้ดีเสียก่อน และไม่รับเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ทำไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการผ่อนชำระหนี้ไม่ไหวตามมาอีก
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)