“อุ๊งอิ๊ง” นั่งหัวโต๊ะประชุมพรรคเพื่อไทยดันซอฟต์พาวเวอร์
แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานสส.พรรค ศรัณย์ ทิมสุวรรณ รองเลขาธิการพรรค โดยมีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และรัฐมนตรีของพรรคร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ แพทองธาร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง ภายหลังที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา แพทองธาร กล่าวว่า ขออัพเดตงานตั้งแต่ตนได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค พท. โดยหลักๆ ได้ไปพบทูตหลายประเทศ รวมถึงตัวแทนยูเอ็น ซึ่งหลายประเทศมีความสนใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์เป็นอย่างมาก เช่น หลังจากที่คุยกับประเทศเกาหลีใต้ ที่เขาทำซอฟต์พาวเวอร์ได้ดีมาก ซึ่งเขาพร้อมซัพพอร์ตเรา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งองค์กรและให้คำแนะนำ เพื่อให้กระบวนการผ่านไปได้อย่างดีที่สุด หรือของสหรัฐอเมริกา
เราได้คุยกันเรื่องการศึกษาและทราบดีว่าหากมีนักเรียนที่จะไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา จะติดปัญหาเรื่องค่าครองชีพเยอะ ฉะนั้นเรากำลังคุยรูปแบบว่าเราจะสามารถเอื้อกันได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำคอร์สสั้นเพื่อให้มีคนเรียนเยอะมากขึ้น หรือหากเราจะไปเรียนเขาจะสามารถซัพพอร์ตอะไรเราได้บ้าง โดยเป็นการคุยกันเบื้องต้น แต่เขาพร้อมที่จะซัพพอร์ตเรา เหมือนเป็นพลังอำนาจหนึ่งแบบละมุน ที่ไม่ต้องการใช้อาวุธหรืออะไรที่รุนแรง โดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์เพื่อชนะใจหรือเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมนั่นๆ หรือโอบรับวัฒนธรรมนั้นๆ เข้ามา แต่ซอฟต์พาวเวอร์ที่เรากำลังทำเราต้องการให้เป็นโกลบอลมากขึ้น โดยเฉพาะ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่เราเคยแถลงเอาไว้ ที่เราต้องการให้มีการพัฒนามากขึ้น
“รังสิมันต์” รับโดน “สว.อุปกิต” ฟ้องปิดปาก
รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เพิ่งรับทราบว่าอุปกิต ปาจรียางกูร สว. ฟ้องตนเพิ่มอีก 1 คดี เป็นคดีแพ่ง ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย 20 ล้านบาท โดยการที่อุปกิตฟ้องคดีตนในครั้งนี้รวมถึงคดีก่อนหน้า เป็นการฟ้องเพื่อตั้งใจกลั่นแกล้ง และในฐานะที่อุปกิตเป็นนักการเมือง เป็น สว. ซึ่งต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะจากภาคส่วนไหน ดังนั้น การฟ้องตนครั้งนี้ จึงมองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากว่านายอุปกิตต้องการฟ้องปิดปาก ไม่ต้องการถูกตรวจสอบ รวมทั้งอาจใช้โอกาสนี้พยายามวิ่งเต้นคดีต่อไปอีกด้วย

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลต่าง ๆ ที่ตนนำมาชี้แจงให้พี่น้องประชาชนทราบ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นข้อหาที่มีการแจ้งต่ออุปกิตจริง ไม่ว่าจะเป็นข้อหาฟอกเงิน อาชญากรข้ามชาติ รวมทั้งข้อหาสมคบค้ายาเสพติด ที่ตนก็ยังไม่ทราบว่าอุปกิตได้ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนแล้วหรือไม่ ตอนนี้ปิดสมัยประชุมแล้ว ถ้าอุปกิตยังไม่ไปตามหมายเรียก ตนจะติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการออกหมายจับอุปกิตในข้อหาสมคบค้ายาเสพติดต่อไปหรือไม่ รวมทั้งคำขอคุ้มครองชั่วคราวที่ได้ขอมานั้น คือประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุด ว่าไม่ต้องการให้ตนนำเรื่องที่นักการเมืองระดับ สว. ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มาชี้แจงให้สังคมได้รับทราบ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมควรติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง
“สุทิน” ไม่หนักใจปมภรรยาครอบครองหุ้น ชี้ทำตามกฎหมาย
สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณี ที่เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ร้อง กกต. สอบการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ที่ภรรยา อาจครอบครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด เกิน 5% ตามที่กฎหมายกำหนด เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว กำหนดครอบคลุมไปถึงคู่สมรสด้วย ว่า เรื่องนี้เชื่อว่าไม่เป็นอุปสรรค กระทบกับการทำหน้าที่ เรื่องหุ้นไม่ยาก ไม่มีอะไรหนักใจ เพราะว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอยู่ เพียงแต่ยังไม่จบ

ส่วนมองว่าเป็นการเตะตัดขาหรือเป็นเกมการเมือง หรือไม่นั้น สุทิน ระบุว่าก็ไม่คิดขนาดนั้น ก็คิดว่าคนที่ร้อง เขาก็ทำอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เป็นประจำ เป็นงานเขาอยู่ ส่วนที่ผู้ถูกร้องมีสังกัดพรรคนั้นนายสุทิน ระบุว่า ไม่รู้ทำในนามพรรค หรือทำในนามส่วนตัว เราก็แยกแยะไม่ออก แต่เราก็มีหน้าที่ชี้แจง
เมื่อถามย้ำถึง จำนวนหุ้นของภรรยา พอจะชี้แจงได้หรือไม่นั้น สุทิน ระบุว่า มันก็มีที่มาจากลูกชายที่ลงสมัครสส. ก็อาจจะปรับหุ้นระยะหนึ่ง แต่ปรับแล้วเราก็กำลังจะปรับของแม่ตามกฎหมาย แต่ว่ามันยังไม่จบกระบวนการ ซึ่งเวลายังมีอยู่ตามกฏหมาย และยืนยันว่าไม่หนักใจ และไม่ได้คิดเป็นอื่นคิดว่าคนที่ร้อง เขาก็เคยร้องอย่างนี้กับทุกคน
“สมศักดิ์” ดันเพิ่มบทบาท ป.ป.ท.แก้ทุจริตท้องถิ่น
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ได้มีการเสนอปรับปรุงกฎหมาย ในส่วนของพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 จากเดิมที่มี 67 มาตรา ซึ่งจะมีการปรับแก้ 29 มาตรา บัญญัติใหม่ 14 มาตรา ยกเลิก 1 มาตรา รวมทั้งสิ้นจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 80 มาตรา

โดยกฎหมายนี้ มีการใช้มาแล้วถึง 16 ปี ซึ่งควรจะมีการปรับให้เข้ากับสมัย โดยกฎหมายฉบับนี้ ขณะร่างแก้ไขนั้นได้ออกแบบ รวมถึงให้กฤษฎีกา ตรวจสอบแล้ว ซึ่งจะมีการปรับให้มีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. จะสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ ก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ส่งมอบให้เท่านั้น ดังนั้น ป.ป.ท.เอง ก็ถือเป็นหน่วยงานในการตรวจสอบของฝ่ายบริหาร จึงควรมีการปรับแก้ ให้การทำงานไม่เกิดความทับซ้อน แต่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ในเรื่องการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ โดยจะสามารถไต่สวนชี้มูลได้ด้วยตนเอง ซึ่งตนมองว่า การทำในลักษณะนี้ จะเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตได้
สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กฎหมาย ป.ป.ท.ปัจจุบัน ไม่มีบทบัญญัติ ในเรื่องของหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะมีให้เปิดเผยได้ถึง 3 ขั้นตอน คือ 1.ก่อนการไต่สวน 2.เมื่อได้ดำเนินการไต่สวนแล้ว และ 3.คณะกรรมการ ป.ป.ท.ชี้มูล พร้อมกันนี้ ยังมีอำนาจในเรื่องการออกหมายจับ โดยสามารถขอศาลออกหมายจับได้เอง รวมถึงดำเนินการจับ ปล่อยตัวชั่วคราว หรือ จะมอบพนักงานสอบสวนทำแทน ซึ่งหากยกตัวอย่าง เช่น เราเป็นผู้ประกอบการ จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ก็ยังไม่มีการอนุมัติ ป.ป.ท.ก็สามารถเข้าไปดูถึงเหตุผลได้ เพื่อป้องกันการเรียกรับเงิน โดยก็จะทำให้ภาคธุรกิจมีความโปร่งใสมากขึ้น
ครม.สั่งรับข้อเสนอดูแลความปลอดภัยรถนักเรียน
คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.รับทราบรายงานกรณีที่หน่วนงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง มาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน

กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อคว่ามปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค พบว่า ในปี 2565 มีอุบัติเหตุทางถนนและความไม่ปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียนมากถึง 30 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 274 ราย เสียชีวิต 2 ราย และมีปัญหาการลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพตัวรถที่ชำรุดทรุดโทรม ขาดการตรวจสภาพรถอย่างต่อเนื่อง และรถรับ-ส่งนักเรียนจำนวนมากไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นรถรับ-ส่งนักเรียนกับกรมการขนส่งทางบกเนื่องจากรถรับ-ส่งนักเรียนจะต้องได้รับการรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกภาคการศึกษา ซึ่งเป็นเงื่อนไขการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่า มีรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นรถรับ-ส่งนักเรียนทั่วประเทศเพียง 3,342 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566) ทำให้ไม่สามารถจัดทำฐานข้อมูลที่แท้จริงได้ และไม่มีระบบการบริหารจัดการและขาดการติดตามกำกับที่มีประสิทธิภาพ
นายคารม กล่าวต่อไปว่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดแนวทาง เรื่อง มาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน โดยกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน เป็นอีกประเด็นหนึ่งของนโยบายระดับชาติ และจัดตั้งคณะทำงานภายใต้กลไกคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนของแต่ละจังหวัดเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนความปลอดภัยและแก้ไขกฏระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบจัดการรถรับ-ส่งนักเรียน ให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ กำกับดูแล และให้คำแนะนำการจัดทำมาตรการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน และความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถรับ-ส่งนักเรียน เฝ้าระวังความเสี่ยง เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุ สนับสนุนการออกมาตรการนโยบายระดับจังหวัด
เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของเครือข่าย โดยกำหนดให้มีโครงสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อบูรณาการการจัดทำแผนความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัด สนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียน รวมถึงด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้การสนับสนุนในการดำเนินโครงการให้คำปรึกษาเชิงวิชาการ กำหนดให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จังหวัดมีคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัดและมีการกำหนดวาระการรายงานต่อเนื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ และผู้ประกอบการ