HomeBT NewsVirtual Banking ปฎิวัติธนาคารบน “มือถือ”

Virtual Banking ปฎิวัติธนาคารบน “มือถือ”

อุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างมากในช่วงหลายปีหลังมานี้ และถือเป็นหนึ่งใน “กลุ่มเสี่ยง” ที่มีโอกาสถูก Technonloy Disrupt มากที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทายครั้งใหญ่กับการมาของ “ธนาคารเสมือนจริง” หรือ Virtual Banking

รูปแบบของธนาคารเสมือนจริงคือการให้บริการการเงินโดยที่ไม่จำเป็นต้องมี “สาขา” ธนาคารแม้แต่แห่งเดียว ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้บนอินเทอร์เนตหรือบนสมาร์ทโฟน 

ไม่ว่าจะเป็นบริการโอนเงินทั้งในและข้ามประเทศ บริการด้านสินเชื่อ รวมถึงการจัดการลงทุน ประกันภัยและประกันชีวิต เราอาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้บริการกับพนักงานธนาคารที่เป็น “มนุษย์” อีกต่อไป แต่จะคุยกับหน้าจอมือถือแทน!!

- Advertisement -

จุดเด่นของธนาคารออนไลน์ก็คือ “ต้นทุน” การดำเนินงานที่ลดลงจากการให้บริการแบบมีสาขาเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัดค่าใช้จ่ายเรื่องของสถานที่รวมถึง “พนักงาน” ลงไป แต่ใช้งบประมาณกับการพัฒนาระบบไอทีให้มีประสิทธิภาพแทน โดยผู้เล่นที่เข้ามาในสนามนี้เป็นสตาร์ทอัพทางด้านการเงิน (Fintech) ไม่ใช่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย

ธนาคารในสหรัฐฯและยุโรป ต่างได้รับผลกระทบจากการเติบโตของเทคโนโลยีการเงินมาได้ระยะหนึ่งแล้ว คนการเงินในตลาดวอลสตรีทถึงกับมีคำพูดว่า “Silicon Valley Is Coming” แปลความหมายได้ว่าคนสายเทคโนโลยีจากซิลิค่อนวัลเล่ย์ฝั่งตะวันออกกำลังรุกคืบเข้ามาในธุรกิจการเงินที่คนฝั่งตะวันตกยึดครองพื้นที่มายาวนาน

Bloomberg ได้รายงานข่าวว่าธนาคารขนาดใหญ่ของโลกโดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตกได้ปลดพนักงานไปแล้วกว่า 60,000 ราย โดยล่าสุดธนาคารเอชเอสบีซีของอังกฤษได้ประกาศที่จะลดพนักงานกว่า 10,000 ราย ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานการเงินกำลังเป็นอาชีพที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุดอาชีพหนึ่ง

ทางฝั่งตะวันตกยังได้เกิด Fintech จำนวนมากที่เติบโตจนมีมูลค่ากิจการแตะระดับพันล้านเหรียญซึ่งให้บริการทางการเงินไม่ต่างกับธนาคารดั้งเดิม แต่ชูจุดแข็งที่ค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าหรือไม่คิดค่าธรรมเนียมเลย รวมถึงบริการก็มีความรวดเร็วกว่าเพราะทำงานด้วยเทคโนโลยี Blockchain,AI และ Big Data  

กล่าวได้ว่าแบงก์ฝั่งตะวันตกได้เพรี้ยงพร้ำต่อเทคโนโลยีไปเรียบร้อยแล้ว 

ขณะที่แบงก์จากฝั่งตะวันออก อาจยังไม่เห็นผลกระทบที่รุนแรงเช่นการปลดพนักงานจำนวนมากเหมือนกับฝั่งตะวันตก แต่ได้มีการปรับตัวครั้งใหญ่โดยได้บทเรียนจากฝั่งตะวันตกโดยมุ่งเน้นทำงานร่วมกับ Fintech เพื่อนำเทคโนโลยีมาเสริมการบริการ 

อย่างไรก็ตาม สองประเทศที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางด้านการเงินรวมถึงเทคโนโลยีของโลกอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง ไม่ยอมที่จะตกกระแส Technology Disrupt และมองไปข้างหน้าแล้วว่าอนาคตธนาคารจะไม่มี “สาขา” และ “พนักงาน” อีกต่อไป จึงเริ่มเปิดให้ใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banking) ให้กับทั้งธนาคารดั้งเดิมและ Fintech ให้มาขออนุญาตดำเนินธุรกิจ

โดยฮ่องกงออกกฎให้ธนาคารเสมือนจริงต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 300 ล้านเหรียญฮ่องกง แต่ค่าเฉลี่ยของผู้ขอใบอนุญาตมีทุนจดทะเบียนที่ 1,900 ล้านเหรียญฮ่องกง ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัททางด้านเทคโนโลยีและธนาคาร ส่วนสิงคโปร์ก็ได้ออกใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริงออกมาเช่นกัน โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตไป 5 ราย ทั้งนี้แนวโน้มของผู้ประกอบการไปในทิศทางเดียวกับฮ่องกงคือเป็นการจับมือร่วมกันระหว่างธนาคารและบริษัททางด้านเทคโนโลยี

Fitch Rating บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกได้ออกบทวิเคราะห์ว่าการเปิดตัวธนาคารเสมือนจริงอาจส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของธนาคารขนาดใหญ่สามแห่งนั่นคือ DBS,UOB และ OCBC เนื่องจากอาจเกิดการแข่งขันทางด้านค่าธรรมเนียมที่ต่ำลงเพื่อดึงดูดลูกค้า

สองยักษ์ใหญ่ด้านการเงินของเอเชียอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ได้ออกตัวนำทางด้านธนาคารเสมือนจริง ไปแล้ว ต้องจับตาต่อไปว่าประเทศอื่นๆในเอเชียจะมีแนวทางปฎิบัติอย่างไรต่อไป

เทคโนโลยีอินเทอร์เนตจุดเปลี่ยนสำคัญธนาคารบนมือถือ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกบทวิเคราะห์ออกมาว่าผู้คนประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งในเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาใต้ ซึ่งมีอัตราการเข้าถึงบัญชีธนาคารต่อจำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกคือ  65% แต่การมาถึงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเทอร์เนตความเร็วสูงและสมาร์ทโฟนจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้การเข้าถึงธนาคารเพิ่มสูงขึ้นโดยจะเป็นในรูปแบบของ Virtual Banking

The Mobile Economy ได้ออกบทวิเคราะห์ออกมาว่าภายในปี 2025  คนทั้งโลกจะเข้าถึงเทคโนโลยี 4G ถึง 67% จากปัจจุบันที่มีผู้เข้าถึงเพียง 4% และภายใน 5 ปีจากนี้สัดส่วนผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เนต 2G จะเหลือเพียงแค่ 5% ความเร็วของอินเทอร์เนตจะทำให้การทำธุรกรรมการเงินบนออนไลน์มีความสะดวกยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน Standard&Poor’s Financial Service ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลกถึง 82% จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 54% ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการเติบโตของธนาคารบนโลกออนไลน์

แนวโน้มในอนาคต เราจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกับบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่จะเดินเข้าสู่อุตสาหกรรมธนาคารไปพร้อมๆกัน รวมถึงธุรกิจการเงินอื่นๆอย่างเช่นการจัดการลงทุน ประกันภัยและประกันชีวิต 

แต่กว่าจะถึงตอนนั้น บุคลากรในแวดวงการเงิน มีความเสี่ยงสูงอย่างมากที่จะถูก Technology Disrupt

ธนาคารใหญ่ของโลกปลดพนักงานแล้วกว่า 70,000 คน

ดอยทช์แบงก์ เยอรมนี 18,000 คน

เอชเอสบีซี อังกฤษ 14,000 คน

ซานตาแดร์ สหรัฐฯ 5,433 คน

คอมเมิร์ซแบงก์ เยอรมนี 4,300 คน

เอชเอสบีซี อังกฤษ 14,000 คน

บาร์เคลย์ อังกฤษ 3,000 คน

อัลฟาแบงก์ รัสเซีย 3,000 คน

เคบีซี เบลเยียม 2,150 คน

โซเชียลเจอเนรัล ฝรั่งเศส 2,130 คน

ไซซ่า สเปน 2,023 คน

ที่มา: Bloomberg

—————————————————————————

อัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินต่อประชากรทั้งหมดของประเทศในเอเชียแปซิฟิค

ออสเตรเลีย 100%

สิงคโปร์ 97%

ฮ่องกง 95%

ไทย 81%

จีน 80%

ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 65%

อินโดนีเซีย 49%

บังคลาเทศ 41%

ฟิลิปปินส์ 31%

เวียตนาม 30%

กัมพูชา 19%

ข้อมูล:Global Findex Database

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : บิทคอยน์ ยังคว้าแชมป์ผลตอบแทนสูงสุดปี 2019

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News