เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว เดือน มิ.ย. ไตรมาสที่ 2 ปี 66 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุด ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รวมทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทรงตัว

สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงหลังจากเร่งไปแล้วในเดือนก่อน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนสำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่มูลค่าการส่งออกปรับดีขึ้น ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน
ส่วนไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากการผลิตยานยนต์และหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับเงินเฟ้อในหมวดพลังงานลดลง ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากการส่งกลับกำไรและรายรับด้านการท่องเที่ยวที่ลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลลดลง
ท่องเที่ยวไทย 7 เดือนทำรายได้รวมแล้ว 1.084 ล้านล้าน ต่างชาติเดินทางเข้าไทย 15 ล้านคน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รายงานถึงข้อมูลการท่องเที่ยวไทยที่ขณะนี้เป็นภาคเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง เป็นแรงสนับสนุนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยใน 7 เดือนแรกของปี 66 (ม.ค.-ก.ค.) ภาคการท่องเที่ยวสร้างภายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติรวมกัน 1,084,575 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 638,161 ล้านบาท

ทางด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ก็คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึง 30 ก.ค. 66 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 15,322,175 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 384 เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปี 65 ซึ่ง 5 อันแรกของประเทศต้นทางที่เดินทางมาไทยมากที่สุด ได้แก่ 1)มาเลเซีย 2,439,710 คน 2) จีน 1,839,660 คน 3)เกาหลีใต้ 907,463 คน 4) อินเดีย 885,772 คน และ 5) รัสเซีย 854,946 คน
รัฐบาลโปรโมทความสำเร็จโลจิสติกส์ กลไกเชื่อมภูมิภาคอาเซียน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผลให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแก่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รัฐบาลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ TILOG-LogistiX 2023 ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2566 ณ อาคาร 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อเป้าประสงค์ในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร จับคู่ทางธุรกิจของผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคการส่งออก ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ TILOG – LOGISTIX 2023 เป็นความร่วมมือของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับบริษัท RX Tradex และภาคเอกชน ภายใต้แนวคิด “Smart and Green Logistics for Sustainable Tomorrow : ขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่อนาคตสีเขียวด้วยโลจิสติกส์อัจฉริยะรักษ์โลก” เพื่อเป็นเวทีแสดงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก โดยมุ่งเน้นการปรับตัวในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีโลจิสติกส์ยุคใหม่ พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการปรับตัวภายใต้แนวคิดเรื่อง Green โดยในงานนี้มีผู้จัดแสดงกว่า 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีผู้เข้าชมงานกว่า 9,000 ราย พร้อมตั้งเป้ามูลค่าเจรจาทางธุรกิจกว่า 4,000 ล้านบาท
EXIM BANK ปรับกลยุทธ์เชิงรุก ‘รับมือ ช่วยเหลือ เติมกำลังใจ’ ลูกค้า SMEs
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มอบนโยบายและประชุมร่วมกับผู้บริหารและพนักงานสาขาและธุรกิจ SMEs ของ EXIM BANK ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566

โดยบอกเล่าภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า จากจำนวน SMEs ไทยกว่า 3 ล้านราย ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ล้านรายเท่านั้นที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จำนวน 7.4% และมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่แม้ยังไม่ปิดกิจการแต่เริ่มมีสัญญาณที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือที่เรียกว่า Zombie Firms และหากสถานการณ์เศรษฐกิจยังคงอึมครึมเช่นนี้ คาดว่าในสิ้นปีนี้ จำนวน NPLs และ Zombie Firms จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอีก ดังนั้น EXIM BANK จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ “รบอย่างมีกลยุทธ์” ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ต่อสู้กับความท้าทายและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น โดยดูแลทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่อย่างเต็มที่ และนำเสนอทางแก้ไขปัญหาธุรกิจอย่างครบวงจร (Total Solutions) ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่าง ๆ นโยบายของ EXIM BANK ต่อลูกค้า SMEs คือ การ ‘รับมือ ช่วยเหลือ เติมกำลังใจ’ โดยเจ้าหน้าที่ EXIM BANK ต้องออกเยี่ยมลูกค้า SMEs ทุกราย เพื่อตรวจเช็กสุขภาพธุรกิจและสอบถามความต้องการที่จะให้ EXIM BANK ช่วยเหลือ โดยเฉพาะลูกค้าที่เก่งและดี EXIM BANK พร้อมสนับสนุนการขยายธุรกิจและให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การให้สินเชื่อต้องอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เงื่อนไขและหลักประกันเหมาะสม มีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม มุ่งยกระดับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจตลอดทั้ง Supply Chain อย่างเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้ EXIM BANK จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ สำหรับลูกค้า SMEs อย่างต่อเนื่องโดยสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า นำผลที่ได้รับจากออกไปเยี่ยมเยียนลูกค้ามาวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำการตลาดของธนาคารในการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่และสนับสนุนช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและสนับสนุน SMEs ไทยที่มีศักยภาพให้เติบโตและขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในปี 2566
ออมสินเปิดตัวเงินฝากปันน้ำใจ ดอกเบี้ย 1.20% ชวนลูกค้าปันดอกเบี้ยช่วยสังคมผ่าน 4 มูลนิธิ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากตัวใหม่ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษปันน้ำใจ” มีจุดเด่นคือ ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ เพื่อให้ผู้ฝากได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการปันดอกเบี้ยส่วนหนึ่งบริจาคให้กับมูลนิธิต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือดูแลสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการส่งต่อสิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมผ่านบริการเงินฝากของธนาคารออมสิน และยังได้ลดหย่อนภาษีด้วย

ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ได้นำภารกิจเชิงสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม (Social Mission Integration) เพื่อร่วมกับลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความยั่งยืน ตามกรอบ ESG ให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดลงทะเบียนฝากเงินและเลือกมูลนิธิที่จะบริจาคได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ต.ค.2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคาร คือ เว็บไซต์ www.gsb.or.th และ Line : gsbsociety และติดต่อฝากเงินที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ
เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษปันน้ำใจ เปิดรับฝากสำหรับบุคคลธรรมดาอายุ 7 ปีขึ้นไป ผู้ฝาก 1 ราย เปิดได้เพียง 1 บัญชี ขั้นต่ำ 10,000 บาท ไม่จำกัดวงเงินฝากสูงสุด ระยะเวลาฝากเงิน 6 เดือน ให้อัตราดอกเบี้ย 1.20% ต่อปี ผู้ฝากจะได้รับอัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี ไม่หักภาษี ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน และอีก 0.20% ต่อปี ผู้ฝากเลือกบริจาคให้กับมูลนิธิที่เข้าร่วมโครงการรวม 4 แห่ง (เลือกได้มากกว่า 1 แห่ง) ได้แก่ มูลนิธิบ้านนกขมิ้น มูลนิธิสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีแนวทางสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ด้านขจัดความยากจน ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ด้านลดความเหลื่อมล้ำ และด้านการปกป้อง ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เงินที่บริจาคจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีอีกด้วย โดยมูลนิธิที่ผู้ฝากเลือกบริจาคจะบันทึกข้อมูลการบริจาคผ่านระบบ e-Donation ผู้ฝากสามารถตรวจสอบการบริจาคได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร ติดตามรายละเอียดที่ www.gsb.or.th หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ GSB Contact Center โทร. 1115.