“พาณิชย์” โล่งใจ เงินเฟ้อเดือน ก.พ. ชะลอตัวชัดเจน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เท่ากับ 108.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.10 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 3.79 ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

เริ่มใกล้เข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ สาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อขยายตัวไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ ที่อาจจะส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เอฟทีเอดันการค้า “ไทย-ออสเตรเลีย” พุ่ง 186%
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 4 เพื่อติดตามการดำเนินงานตามความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-ออสเตรเลีย

ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 พบว่า FTA ช่วยให้การค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นถึง 186% จากมูลค่า 6,427 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 เป็น 18,389.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการที่ออสเตรเลียและไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกือบทุกรายการ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามการจัดทำแผนกระชับความร่วมมืออีก 8 สาขา ได้แก่ เกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ เศรษฐกิจดิจิทัล โดยตั้งเป้าให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2566
แบงก์ชาติเปิด 10 อันดับจังหวัดฝากเงินสูงสุด
ธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมข้อมูลเงินฝากในปี 2565 ประเทศไทยมีเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,897,574 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปี 2564 มาจากแรงส่งทั้งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โดย 10 จังหวัดที่มียอดเงินฝากสูงสุดในปี 2565 ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร ยอดเงินฝากสูงสุด 10.58 ล้านล้านบาท 2.นนทบุรี 586,002 ล้านบาท 3.สมุทรปราการ 583,762 ล้านบาท 4.ชลบุรี 551,649 ล้านบาท 5.ปทุมธานี 345,482 ล้านบาท 6.เชียงใหม่ 291,601 ล้านบาท 7.นครปฐม 230,548 ล้านบาท 8.สมุทรสาคร 196,036 ล้านบาท 9.สงขลา 194,187 ล้านบาท และ 10.ระยอง 190,014ล้านบาท
ส.อ.ท.แนะค่าไฟเดือน พ.ค.-ส.ค. ต้องไม่เกิน 4.72 บาท/หน่วย
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังศึกษาตัวเลขที่เหมาะสมของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 หลังจากงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ได้ปรับราคาขึ้นมา 13% โดยค่าไฟฟ้าในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย

ส.อ.ท.เห็นว่าแนวทางการบริหารค่า Ft ภาคธุรกิจ งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ควรปรับลดให้กลับมายืนราคาไม่เกิน 93 สตางค์ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าของภาคธุรกิจไม่สูงกว่า 4.72 บาท/หน่วย เหมือนงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 โดยวันที่ 8 มีนาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะประชุมพิจารณาสรุปตัวเลขค่า Ft งวดใหม่
ปตท. ขึ้นแท่นแบรนด์แข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้รับการจัดอันดับหนึ่งใน 500 แบรนด์แรกของโลกที่มีมูลค่าสูงสุด กว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก จากการประเมินของ Brand Finance Global บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก

ตอกย้ำศักยภาพการขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติ นับเป็นความภาคภูมิใจของ ปตท. ที่แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน