นายกฯ มาเลเซียเยือนไทย ส่งเสริมลงทุนพัฒนาศก.ชายแดน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Honourable Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมด้วยภริยา มีกำหนดเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2566 ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
มีกำหนดการเข้าพบหารือกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศจะหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมและเชื่อมโยง การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทยกับ 4 รัฐ ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ทั้งด้านการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุน และด้านคมนาคมขนส่ง รวมทั้งเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 โดยอาศัยกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ เพื่อลดอุปสรรคและการอำนวยความสะดวกด้านการค้า และการส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพระหว่างไทยและมาเลเซีย เช่น อุตสาหกรรมยางพารา อาหารฮาลาล พลังงาน และในมิติใหม่ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว
ส่งออกอัญมณีพุ่ง 29.54% แนะผู้ประกอบการเน้นขายดีไซน์-รักษ์โลก
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.) หากไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,987.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.54% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 15,057.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.82% สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งปี 2565 เติบโตได้ดี มาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญปรับเปลี่ยนนโยบายกลับคืนสู่ภาวะปกติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติการผลิตของโลกและกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และช่วงกลางปีมีการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ
ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และยังได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2566 ยังคงต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ ปัญหาราคาพลังงาน เงินเฟ้อที่หลายประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และอียู จะต้องปรับตัวโดยมุ่งเน้นเจาะตลาดด้วยดีไซน์ที่ตรงใจและงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งใช้จุดขายการรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และต้องมองหาโอกาสจากตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน จะเป็นอีกช่องทางให้ธุรกิจไปต่อได้ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนเช่นนี้
ดัชนีหุ้นไทยวันนี้ยังแกว่งไซด์เวย์ไร้ปัจจัยใหม่ หลังปิดลบ 6.25 จุด
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการสายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บล.บัวหลวง กล่าวถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (7 ก.พ.) คาดดัชนีแกว่งไซด์เวย์ไร้ปัจจัยใหม่หนุน และยังคงรอปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้าที่จะมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยให้แนวต้าน 1,690 จุด แนวรับ 1,675 จุด หลังจากเมื่อวานนี้ (6 ก.พ.) ปิดที่ 1,682.11 จุด ลดลง 6.25 จุด (-0.37%) มูลค่าการซื้อขาย 47,903.55 ล้านบาท ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน โดยทำจุดสูงสุด 1,687.78 จุด และต่ำสุด 1,680.22 จุด
ดัชนีปรับลงตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ และตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากความกังวลรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือน ม.ค.ดีกว่าคาด อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯเกิน 5% อาจไปที่ 5.25% ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นอีกครั้งกดดันตลาดหุ้น แม้ว่าปัจจัยในประทศรายงานเงินเฟ้อไทยเดือน ม.ค.66 ออกมาต่ำกว่าคาดก็ตาม
พาณิชย์คุยยูเออีเพิ่มออเดอร์ 3 หมื่นล้านทดแทนตลาดหลัก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะภาครัฐและภาคเอกชนไทย เดินทางเยือนเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธุ์ ประชุมร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประมาณ 15 ราย เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทย–สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัว ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออก โดยภาคเอกชน กกร. ประเมินว่าส่งออกไทยโตแค่ 1-2% จากปีก่อน 5.5% จึงต้องเร่งแก้ปัญหาและออกมาตรการเชิงรุกมากขึ้นให้ตลาดโตได้ดี โดยเฉพาะ 3 ตลาด คือ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และซีแอลเอ็มวี โดยวันนี้ (7 ก.พ.)
มีกำหนดการประชุมกับ ดร.ธานี บิน อาเหม็ด อัล เซยูดี (H.E. Dr. Thani Bin Ahmed Al Zeyoudi) รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งรับผิดชอบและเป็นคนสำคัญในการตัดสินใจเรื่องการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อหารือการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement : CEPA) ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หากประสบความสำเร็จจะเกิดมูลค่าการค้าเพิ่มอีก 30,000 ล้านบาทภายใน 1 ปี และยังเป็นสักขีพยานลงนาม MOU ระหว่างบริษัท DP World ที่เป็นบริษัทบริหารท่าเรือและธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจรระดับโลก กับสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขยายการส่งออกและกระจายสินค้าไทยเชื่อมโยงการขนส่งกับท่าเรือทั่วโลก78 ท่าเรือและสนามบินทั่วโลก 240 สนามบิน
สร้าง “ท่าเรือสำราญ” เกาะสมุยรองรับ Cruise
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปัจจุบันเกาะสมุยยังไม่มีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรือสำราญที่ต้องการเทียบท่าที่เกาะสมุยจึงต้องทอดสมอบริเวณหาดหน้าทอน และให้นักท่องเที่ยวโดยสารเรือเล็กเพื่อขึ้นชายฝั่งโดยมีนักท่องเที่ยวเพียงประมาณ 50% ที่ลงจากเรือสำราญเพื่อขึ้นชายฝั่ง การพัฒนาท่าเทียบเรือจะเป็นการช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
จากนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรมเจ้าท่าเร่งโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือ รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี (Cruise Terminal) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาตามงบปี 2563-2565 เพื่อทำ PPP (การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน) สำหรับโครงการท่าเรือสำราญเกาะสมุย เป็นโครงการตามทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด อยู่บริเวณทางตอนใต้เกาะสมุย ที่แหลมหินคม งานศึกษาจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม 2566 นี้ ซึ่งจะดำเนินการนำเสนอรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นชอบ ก่อนเสนอ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินการในรูป PPP ต่อไป