HomeBT News"เศรษฐกิจไม่ฟื้น" ฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคร่วงต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี

“เศรษฐกิจไม่ฟื้น” ฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคร่วงต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี

ม. หอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2562 ยังไม่ฟื้น ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9

ปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค หลักๆ คือที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับผู้บริโภคยังกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ขณะที่สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ปัญหา Brexit และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง ยังส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกแลภาคการท่องเที่ยว

(ซ้าย) ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย (ขวา) นายปรีดา โพธิ์ทอง รองผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

ผลสำรวจระบุดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.4 65.4 และ 85.6 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนตุลาคม ที่อยู่ในระดับ 57.9 67.0 และ 87.3 ตามลำดับ

- Advertisement -

ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) สะท้อนผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

การปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือน หรือ 5 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557

ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 46.5 มาอยู่ที่ระดับ 45.2 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 218 เดือนหรือ 18 ปี 2 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 81.3 มาอยู่ที่ระดับ 79.6 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 40 เดือน หรือ 3 ปี 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559

ทั้งนี้ ม. หอการค้าไทย ระบุว่าการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงของดัชนีทุกรายการต่อเนื่อง จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นนั้น คาดว่าจะยังส่งผลให้ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้คาดว่าผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า ดังนั้นข้อเสนอคือ “รัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจัยบวกและลบต่อเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยบวก
– คณะกรรมการนโยบายการเงินจาก 1.50% เป็น 0.25%
– มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและประชาชน
– เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย จาก 30.667 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 30.244 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย. 62)

ปัจจัยลบ
– สศช. คาด GDP 2562 อยู่ที่ระดับ 2.6% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2557 และส่งออกปี 2563 จะขยายตัว 2.3% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
– ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ
– ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
– ตลาดหุ้นในเดือน พ.ย. 62 ปรับลดลง 10.90 จุด
– สหรัฐฯ ตัด GSP สินค้าไทย 573 รายการ มีผลบังคับใช้ 25 เม.ย. 63
– ผู้บริโภครู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News