กสทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ใน 5 ภูมิภาค 26 จังหวัด พบว่าคนไทยนิยมบริโภคสื่อเคลื่อนไหวมากที่สุด ถึงร้อยละ 85.9 สื่อทางเสียง ร้อยละ 55.6 สื่อภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ร้อยละ 51.5 และ สื่อสิ่งพิมพ์ร้อยละ 33.7
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีอิสระในการรับรู้ข่าวสารด้วยช่องทางที่หลากหลายขึ้น รวดเร็วขึ้น นอกจากนั้น ยังทำให้ทุกคนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่มีส่วนร่วมในการเสนอข่าว แสดงความคิดเห็นต่อข่าวและกระจายข่าวสาร
-กสทช. ยันเดินหน้าประมูล 5G ด้านเอกชนประสานเสียงนำคลื่น 3500MHz มาจัดสรร
-กสทช. เดินหน้าศูนย์ USO Net หนุนเด็กชนบทเข้าถึงการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ต
จากผลสำรวจโดยรวม พบว่า พฤติกรรมการบริโภคสื่อในประเทศไทยมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มอายุ โดยกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป (กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ.) ยังบริโภคสื่อในรูปแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 41 ปี หรือน้อยกว่า (กลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด) มีการบริโภคสื่อหลากหลายช่องทางมากขึ้น สำหรับกลุ่มเจเนอเรชันเอกซ์ (ช่วงอายุ 42-56 ปี) เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างทั้งสองกลุ่มข้างต้น ซึ่งความแตกต่างมีตั้งแต่ รูปแบบการบริโภค ช่องทางการติดตามข้อมูลข่าวสาร อุปกรณ์ และ อิทธิพลของสื่อต่อการตัดสินใจ
ความแตกต่างของกลุ่มอายุในการบริโภคสื่อ
จากข้อมูลพบว่า กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือมีอายุมากกว่า 57 ปี ขึ้นไป จะติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักข่าวมากที่สุด และติดตามผ่านช่องทางทีวีเป็นหลัก ด้าน เจเนอเรชันเอกซ์ (ช่วงอายุ 42-56 ปี) เป็นกลุ่มที่ติดตามข่าวทั้งจากทีวีและโซเชียลมีเดียในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ต่างกัน ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อย นิยมติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสมาร์ทโฟน จากการแชร์ของเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ จากบัญชีผู้ใช้ของนักข่าวบนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม มากกว่าติดตามจากสำนักข่าว
การรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านช่องทางดั้งเดิม อย่าง ผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม มีแนวโน้มลดลงตามกลุ่มเจเนอเรชันที่มีอายุน้อยลง ในทางตรงข้าม การรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้น สัดส่วนผู้ชมจะเพิ่มมากขึ้นตามกลุ่มอายุที่น้อยลง แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่รับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังคงรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวตามตารางออกอากาศค่อนข้างมาก ขณะที่คนรุ่นใหม่งนิยมการรับชมตามความต้องการ (On-demand) เพิ่มมากขึ้น
การฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่ง และการรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ เป็นประเภทสื่อที่เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มเจเนอเรชันได้ชัดเจนมากที่สุด โดยกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ. และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ มีสัดส่วนผู้ฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่ง และรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์น้อยมาก ขณะที่กลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด มีการบริโภคสื่อทั้งสองประเภทในสัดส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ 56.9 และ 84.4 ตามลำดับ
สื่อสิ่งพิมพ์ พบว่า กลุ่มกลุ่มเจเนอเรชันแซดและวายหันไปบริโภคข่าวผ่านทางเว็บไซต์มากกว่า โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 43.9 และ 31.5 ตามลำดับ ขณะที่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษสูงถึงร้อยละ 75.0 และ 65.3 ตามลำดับ

คนเสพสื่อดั้งเดิมควบคู่สื่อดิจิทัล ทีวียังไม่ตาย
ผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังคงรับชมสื่อผ่านทีวี วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ ควบคู่ไปกับอินเทอร์เน็ตด้วย ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มีเพียงสัดส่วนน้อยที่ใช้สื่อดิจิทัลอย่างเดียว
โดยกลุ่มเจเนอเรชันเอกซ์ ขึ้นไป เป็นกลุ่มหลักที่ยังรับชมโทรทัศน์ตามตารางออกอากาศเป็นหลัก ส่วนกลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด มีแนวโน้มการรับชมโทรทัศน์ตามตารางการออกอากาศและการรับชมตามความสะดวก
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคที่มีรายได้สูง จะเลือกเสพสื่อดิจิทัลทดแทนสื่อแบบดั้งเดิม โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ของครัวเรือนมากกว่า 20,000 บาท เลือกชมรายการที่ตัวเองต้องการมากกว่าชมตามผัง และอีกเหตุผลสำคัญคือกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกทำธุระอย่างอื่นมากกว่ารับชมรายการตามผัง โดยเนื้อหาที่ถูกรับชมย้อนหลังมากที่สุด 4 อันดับ คือ ละคร/ซีรีส์ วาไรตี้ ข่าว และ ภาพยนตร์
ฟังเพลงออนไลน์แซงวิทยุ
สื่อทางเสียงเป็นสื่อที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลมากที่สุด อย่าง Spotify Joox หรือ Podcast ต่าง ๆ ผลสำรวจพบว่าสัดส่วนการรับสื่อทางเสียงผ่านระบบสตรีมมิ่ง มากกว่าการฟังผ่านทาง FM หรือ AM ไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่รับฟังขณะเดินทางเป็นหลักโดยใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ต่อวัน ขณะที่คนฟังวิทยุจากคลื่นน้อยกว่า 1 ชม. ต่อวัน
ทั้งนี้ คลื่น AM ยังคงเป็นสื่อทางเสียงที่สำคัญสำหรับพื้นที่ห่างไกล หรือห่างไกลจากโครงสร้างพื้นฐาน และเข้าถึงสื่ออื่น ๆ ได้ยาก อย่าง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หนังสือพิมพ์-นิตยสาร ถูก Disruption มากที่สุด
ผู้บริโภคทุกช่วงวัยหันไปอ่านสื่อออนไลน์แทนการอ่านสื่อในรูปแบบกระดาษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด ที่มีการอ่านข่าว บทความ ผ่านอินเทอร์เน็ต มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษอย่างเห็นได้ชัด โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เปิดรับจะเป็นข่าวเบา ๆ หรือเนื้อหาบันเทิง
ทั้งนี้กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และ จี.ไอ. เป็น 2 กลุ่มที่ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษมากกว่าอ่านสื่อออนไลน์
โรงภาพยนตร์รอดเพราะคนรุ่นใหม่
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัล ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีบริการรับชมหนังผ่านอินเตอร์เน็ตแบบมีค่าบริการอย่าง NetFlix หรือแพลตฟอร์มดูละคร ซีรีส์ ออนไลน์ฟรีอย่าง Line TV เข้ามา แต่กลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด ยังคงชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ มากถึงร้อยละ 62.8 และ 84.8 ตามลำดับ ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์มีผลกับการที่คนใน 2 กลุ่มนี้ไปรับชมภาพยนตร์สูงถึง ร้อยละ 66.5
“ถึงแม้ว่าประชากรอายุน้อยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคสื่อผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ในขณะที่ประชากรสูงวัยยังคงบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต พบว่า การลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมไม่ลดลงอย่างรวดเร็วนัก
ประชากรสูงอายุของไทยจะยังคงมีความต้องการรับสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ กล่าวคือ อีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรยังมีแนวโน้มรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการอยู่”
