อุตฯ พลาสติกชีวภาพไทยขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของโลก
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกต่อจากสหรัฐฯ เนื่องจากมีวัตถุดิบคือ อ้อยและมันสำปะหลังภายในประเทศจำนวนมาก ศักยภาพกำลังการผลิตของประเทศอยู่ที่ 95,000 ตันต่อปี และมีแผนจะเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 75,000 ตันต่อปี

โดยกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเป็นไปเพื่อการส่งออก ส่วนที่เหลือจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งการผลิตพลาสติกชีวภาพไม่เพียงแต่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทยเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกด้วย
11 มี.ค. ปิดปรับปรุงระบบพร้อมเพย์
บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวกลางที่ให้บริการพร้อมเพย์ร่วมกับธนาคารสมาชิก มีแผนปรับปรุงระบบพร้อมเพย์ ในช่วงเวลา 02.00 – 02.30 น. ของวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ การปรับปรุงระบบดังกล่าว จะส่งผลให้ลูกค้าไม่สามารถทำรายการโอนเงินหรือ Scan QR Code เพื่อทำธุรกรรมข้ามธนาคารได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ลูกค้ายังสามารถทำธุรกรรมข้ามธนาคารผ่านตู้ ATM/CDM รวมถึงร้านสะดวกซื้อที่เป็นตัวแทนของแต่ละธนาคารที่ยังเปิดให้บริการได้ โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมภายในธนาคารเดียวกันผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ตามปกติ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานพร้อมเพย์ประมาณ 67 ล้านบัญชี และปริมาณธุรกรรมสูงสุดอยู่ที่ 60 ล้านรายการต่อเดือน
อัตราว่างงานดีขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับช่วงก่อนโควิด
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับการจ้างงานในไตรมาส 4 ปี 2565 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลง มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.15 ขณะที่ภาพรวมทั้งปีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.32 จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม

ซึ่งภาพรวมด้านแรงงานปี 2565 อัตราการมีงานทำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด ขณะที่ในส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ซึ่งนายกรัฐมนตรีพอใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
3 ปีสาธารณสุขใช้งบรับมือ “โควิด” 4.44 แสนล้านบาท
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานคณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 รวมทั้งสิ้น 444,294 ล้านบาท เป็นค่าบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโควิด อาทิ ค่าตรวจคัดกรอง ค่ารักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน ในสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 260,174 ล้านบาท

คิดเป็น 59% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตามด้วยการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน 77,987 ล้านบาท คิดเป็น 17% และค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง 57,499 ล้านบาท คิดเป็น 13% ส่วนที่เหลือเป็นค่ายา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ และองค์กรการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
คัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีวันสตรีสากล
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐกมนตรี กล่าวว่า ทุกวันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล จึงขอเชิญชวนผู้หญิงไทยช่วงอายุ 30-60 ปี เข้ารับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ที่สถานพยาบาลตามสิทธิได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อห่างไกลโรคร้ายดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทย อันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม

โดยผู้มีสิทธิบัตรทอง ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถตรวจสอบหน่วยให้บริการได้หลายช่องทาง ได้แก่ สายด่วน สปสช. 1330, ไลน์ สปสช. ไอดี @nhso และ เฟซบุ๊ค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ