ดีเดย์!กรุ๊ปทัวร์จีน ททท.ตั้งเป้าไตรมาสแรก 3 แสนคน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยภายหลัง ททท. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และสายการบินสปริงแอร์ไลน์ จัดพิธีต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์คณะแรก ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ว่าการกลับมาของตลาดระยะใกล้อย่าง ตลาดนักท่องเที่ยวจีน นับเป็นสัญญาณบวกและมีนัยยะสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และถือเป็นความท้าทายของททท.
โดยในปีนี้ จากสถิติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2566 นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 99,429 คน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 มีจำนวนเที่ยวบินและที่นั่ง (Seat Capacity) จากท่าอากาศยานในเมืองต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศไทย อาทิ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว หางโจว หนานจิง เฉิงตู เซี่ยะเหมิน คุนหมิง เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 2,000 เที่ยวบิน จำนวน 445,655 ที่นั่ง ซึ่ง ททท. คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในไตรมาสแรก (เดือนมกราคม-มีนาคม 2566) จำนวน 300,000 คน
อัตราเงินเฟ้อ ม.ค. ชะลอตัวระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 108.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 103.01 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 5.02 (YoY) ชะลอตัวจากเดือนธันวาคม 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.89 อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา
เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2565) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี และเม็กซิโก รวมถึงประเทศในอาเซียน ลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยเงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 32 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 6.08 (AoA) ต่ำเป็นอันดับที่ 33 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข
สศอ. คาดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 66 ขยายตัว 2.5-3.5%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยห่วงโซ่อุปทานสามารถกลับมาดำเนินได้ตามปกติ และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประกอบการผลิตคลี่คลายลง
จะส่งผลให้ภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีการทยอยเข้ามาลงทุนภายในประเทศ นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อและระดับราคาสินค้าเริ่มชะลอตัวลงในหลายประเทศ อาจเป็นปัจจัยหนุนให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้ามีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต ตลอดจนการเปิดประเทศของจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้การผลิตรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศมีโอกาสเติบโตต่อไปได้
“คลัง” เล็งใช้มาตรการภาษีหนุนภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าสู่การเป็น สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2548 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว ส่งผลให้มีประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะต้องมีมาตรการมาสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ เช่น กระทรวงการคลังจะมีการใช้มาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นการจ้างงานในฐานะที่มีประสบการณ์มาเป็นผู้สอนงาน ไม่ใช่การใช้กำลังทำงาน
BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 33.20-33.80 หลังดอลลาร์ฟื้นตัวชั่วคราว
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.99 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 32.65-33.09 บาท/ดอลลาร์
สำหรับเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ม.ค.ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากถึง 517,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 53 ปี โดยช่วงกลางสัปดาห์ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 4.50-4.75% ตามคาดและระบุว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป