HomeBT Newsสรุปข่าวธุรกิจในประเทศ ภาคเช้า 6 กุมภาพันธ์ 2566

สรุปข่าวธุรกิจในประเทศ ภาคเช้า 6 กุมภาพันธ์ 2566

Airbnb เผยไทยแชมป์จุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยวจีน

ข้อมูลของ Airbnb แสดงให้เห็นว่าภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากประกาศของรัฐบาลจีนที่ยกเลิกมาตรการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศเมื่อ 26 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยรั้งอันดับ 1 จุดหมายปลายทางที่ชาวจีนมีการค้นหามากที่สุดบน Airbnb (อ้างอิงจากรายงานผลการค้นหา บน Airbnb ของนักเดินทางชาวจีนบน วันที่ 27 ธ.ค. 2565 (1 วันหลังจากรัฐบาลจีนได้ประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ)
โดยจุดหมายปลายต่างประเทศที่มีการค้นหามากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่ 1.ประเทศไทย 2.สหรัฐอเมริกา 3.อังกฤษ 4.ญี่ปุ่น 5.ออสเตรเลีย 6.แคนาดา 7.เกาหลี 8.ฝรั่งเศส 9.มาเลเซีย 10.อิตาลี ขณะที่จุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองชั้นนำและเมืองชายทะเลยังคงเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา เป็นจุดหมายปลายทางในประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนค้นหามากที่สุด บน Airbnb

บวท. คาดปี 66 บินจีนเข้าไทยกว่า 3.6 หมื่นเที่ยว

- Advertisement -

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้ (6 ก.พ.) เป็นวันแรกที่ทางการจีนจะเริ่มอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวแบบหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ได้ใน 20 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้กำชับหน่วยงานในกำกับ ได้แก่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ตรวจความพร้อมในด้านต่างๆ สำหรับการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว

ตลอดจนการดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรค ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนประเมินสอดคล้องกันว่านักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะแม้จะมีการอนุญาตให้เดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์ไปต่างประเทศ แต่บริษัทท่องเที่ยวที่หยุดดำเนินการมานานเกือบ 3 ปี จะต้องใช้เวลาในการปรับตัว โดยบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ประเมินว่าปริมาณเที่ยวบินจากจีนมายังประเทศไทยตลอดปี 66 จะอยู่ที่ 36,896 เที่ยวบิน เพิ่มจากปี 65 ร้อยละ 227.6% หรือ 2 เท่า โดยเที่ยวบินจะเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าจะกลับมาเท่ากับปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด19 ได้ในปี 67

กาตาร์แอร์เพิ่มเที่ยวบินเข้าไทย สะท้อนแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของอาเซียน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขตลาดท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจากตัวเลขของกลุ่มธุรกิจให้บริการคมนาคมขนส่ง บริษัท Grab ประเทศไทย ได้รายงานตัวเลขผู้ใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันของ Grab ในกลุ่มชาวต่างชาติช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 45 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
และยังเผยผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องจุดหมายปลายทางยอดนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเป็นที่นิยมในอันดับ 1 ใน 3 ประเทศที่นักท่องเที่ยวอยากไปมากที่สุด ซึ่งอีก 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น อีกตัวชี้วัดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้แก่ สายการบินระดับโลก กาตาร์ แอร์เวย์ส เพิ่มเที่ยวบินระหว่างกรุงโดฮา-ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 อีก 3 เที่ยวบินต่อวัน รวมกับของเดิมระหว่างกรุงโดฮา-กรุงเทพฯ 4 เที่ยวบินต่อวัน จึงทำให้มีเที่ยวบินสู่ประเทศไทยรวม 7 เที่ยวบินต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมจากทั่วโลก

รัฐบาลผุด Smart City ต่อเนื่อง วางเป้าเพิ่มอีก 15 แห่งปีนี้

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นหมุดหมายสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง สามารถลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564-2565) มีเมืองที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) กว่า 30 แห่ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในปี 2566 รัฐบาล และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า (depa)

ตั้งเป้าเพิ่มเมืองอัจฉริยะอีก 15 แห่ง เช่น ในพื้นที่บ้านฉาง จ.ชลบุรี และ พื้นที่เทศบาลในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ รวมถึงบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้มีเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นเป็น 45 แห่ง สำหรับการพิจารณาเมืองอัจฉริยะมีหลายลักษณะ ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 3. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 4. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 5.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ 7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) โดยเมืองอัจฉริยะยังได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี รวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาทั้งพื้นที่ ระบบ และนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะอีกด้วย

กนอ. เข้มนิคมอุตสาหกรรม ระวังฝุ่น PM2.5 กระทบสุขภาพพนักงาน-ชุมชน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษมาตั้งแต่ปี 2549 พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน ซึ่งเป็นไปตามโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบ กำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. ผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้วย ขณะที่การจัดการสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compounds : VOCs) กนอ. ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชุมชน นำมาตรการหลักปฏิบัติที่ดี (Code of Practice) มาใช้กำกับดูแลการประกอบกิจการเกี่ยวกับการจัดการสารอินทรีย์ระเหย

ซึ่งเป็นการใช้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญการศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำหลักปฏิบัติที่ดีประกาศใช้เป็นกฎหมาย จำนวน 3 ฉบับ โดย กนอ. ได้นำประกาศดังกล่าวมาใช้ในการบริหารจัดการโรงงานในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย 6 นิคมอุตสาหกรรม และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม คือ  นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล (RIL) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด นอกจากนี้ กนอ. กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งแผนการซ่อมบำรุง รวมถึงการจัดการกากของเสีย น้ำเสีย มาตรการควบคุมการปล่อย หรือระบายสารเคมีสู่บรรยากาศ และมาตรการในการควบคุมหอเผาก๊าซด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยต่อโรงงานหรือชุมชน โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News