รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหวนิ่งขึ้นมาก โดยเริ่มเห็นสัญญาณที่จะทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนเริ่มปรับมุมมองว่าเงินบาทอาจแข็งค่าไปได้มากกว่านี้แล้ว
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทของประเทศไทยแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันในภาคการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เข้าประเทศที่ใหญ่อันดับต้น ๆ
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินนโยบายหลายเรื่อง รวมถึงเข้าแทรกแซงค่าเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งทาง ธปท. ยังได้ดำเนินการและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้นักลงทุนต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อค่าเงินบาท เนื่องจากค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า นอกจากนี้เงินบาทเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่นิ่งมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดเริ่มเล็งเห็นว่าเงินบาทไม่อาจจะแข็งค่าไปได้มากกว่านี้แล้ว ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวกลับด้านทางอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้ายังมีปัจจัยบวกที่หนุนให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประกอบด้วยแรงกดดันค่าเงินเริ่มลดลง, ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลน้อยลง และยังมีผลของการลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 2 ครั้ง ในปี 62
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้แรงจูงใจที่นักลงทุนจะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินในประเทศไทยลดน้อยลง จากความเชื่อว่าค่าเงินบาทอาจไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียอีกแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์จากปัจจัยดังกล่าวที่ได้กล่าวมา ทำให้ประเมินได้ว่าค่าเงินบาทต่อจากนี้ไม่ได้มีทิศทางแข็งค่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเคลื่อนไหวทั้งอ่อนค่า และแข็งค่า ได้ทั้งสองแบบ แต่ประเมิณว่าโอกาสที่ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่าอาจมีโอกาสมากกว่า
อ่านข่าวอื่น สงครามการค้ายากยุติ ลากยาวหลังเลือกตั้งสหรัฐปีหน้า