“กลุ่มมิลเลนเนียลเที่ยวบ่อยสุด ปีละไม่ต่ำกว่า 6 ครั้งก็จริง ขณะที่ชาวเบบี้บูมเมอร์เที่ยวแค่ปีละ 4 ครั้งต่อปี
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ชาวมิลเลนเนียลใช้จ่ายค่าที่พักน้อยกว่าครึ่งของชาวเบบี้บูมเมอร์
สอดคล้องกับสถิติของ Hostelworld group ผู้ให้บริการจองโฮสเทลออนไลน์อันดับ 1 ระบุว่า ผู้เข้าพักโฮสเทลมากกว่า 70% เป็นชาวมิลเลนเนียล”
จากข้อมูลข้างต้น คงพอสะท้อนให้เห็นภาพว่า ทำไมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โฮสเทลถึงเป็นธุรกิจที่มาแรง…ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้เกิดโอกาสใหม่ในธุรกิจท่องเที่ยว และก่อให้ธุรกิจโฮสเทลในไทยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ยังไม่รวมเชนโฮสเทลที่เข้ามาเปิดตลาด เช่น Mad Monkey hostel, Slumber Party Hostels ฯลฯ ที่พาให้สมรภูมิธุรกิจนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อหวังช่วงชิงนักท่องเที่ยว
จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อโฮสเทลผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลบน TripAdvisor ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) พบว่า 9 จังหวัดที่มีจำนวนโฮสเทลมากที่สุดประกอบด้วย กรุงเทพฯ, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่, กระบี่, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงราย, ประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) และแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ
โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนโฮลเทลต่อจำนวนที่พักทั้งหมดมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 17% จากที่พักทั้งหมดกว่า 3,000 แห่ง รองลงมาคือ เชียงใหม่ 12% และสุราษฎร์ธานี 9%
จากสภาพการแข่งขันที่เกิดขึ้น เมื่อบวกกับข้อจำกัดของโฮสเทล ที่มีจำนวนเตียงค่อนข้างน้อย เหมาะสำหรับลูกค้าประเภท F.I.T (Free Independent Travelers : นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพักลำพัง หรือนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก ๆ) รับลูกค้าประเภทกรุ๊ปทัวร์ได้ยาก แถมกลุ่มลูกค้ายังค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา ทำให้การปรับตัวของโฮสเทลไทยเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งทางด้านงบประมาณในการดำเนินกิจการและการทำตลาด อาจทำให้ผู้ประกอบการอยากถอดใจ ดังนั้น EIC จึงได้นำเสนอ 3 อาวุธสำคัญที่ผู้ประกอบการโฮลเทลน่าจะนำไปปรับใช้ได้
1.ต้องมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ากลุ่มลูกค้ามักมีความต้องการที่ต่างกัน เช่น นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมักมองหาที่พักที่สงบ เหมาะแก่การพักผ่อน มีโต๊ะทำงาน มีที่จอดรถและ Wi-Fi ขณะที่นักท่องเที่ยว Backpacker ต้องการพื้นที่พูดคุยกับผู้เข้าพักอื่น เช่น มี Mini bar สำหรับการแบ่งปันเรื่องราวการเดินทาง บางกลุ่มชอบปาร์ตี้ ชอบการทำกิจกรรม บางกลุ่มชอบห้องพักที่ตกแต่งสวยงาม ทันสมัย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อโฮสเทลสามารถหาจุดยืนที่ชัดเจนและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มแล้ว ผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนการตลาด และเจาะกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุดในงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด
2.ประสบการณ์การเข้าพักของนักท่องเที่ยว เสน่ห์ของโฮสเทลที่ใช้มัดใจนักท่องเที่ยวได้อยู่หมัด ไม่ใช่ข้าวของเครื่องใช้ที่ครบครันเหมือนการไปพักโรงแรม แต่เป็นประสบการณ์การเข้าพักที่พาให้ประทับใจจนอยากบอกต่อ ซึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยสร้างประสบการณ์ดีๆ นี้ สร้างได้จากความเป็นมิตรของพนักงานที่โฮสเทล ต้องสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวความคิด วัฒนธรรม พื้นฐานสังคมได้อย่างดี รวมถึงการบริการที่เป็นกันเอง ความเอาใจใส่ และความเข้าใจถึงความต้องการของผู้เข้าพัก หรือจะสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับชุมชน โดยสื่อสารผ่าน การตกแต่ง การบอกเล่า หรือการทำให้สิ่งแวดล้อมมีความเป็นชุมชน เช่น การจัดกิจกรรม หรือ Workshop ต่าง ๆ ร่วมกับชุมชน เป็นต้น ผลจากความพึงพอใจนี้เอง จะนำไปสู่การบอกต่อความรู้สึกดี ๆ และประสบการณ์ระหว่างเข้าพัก เป็นการทำการตลาดแบบปากต่อปาก หรือที่เรียกว่า “Word of Mouth”
3.เพิ่มยอดจองโดยตรงกับโฮสเทล ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊กแชท โทรศัพท์ อีเมล เว็บไซต์ของโรงแรม และอื่น ๆ นับเป็นช่องทางการจองโดยไม่ผ่านตัวกลาง ทำให้ที่พักไม่ต้องแบกรับคอมมิชชั่น แต่ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในการทำตลาดบนโซเชียลมีเดียควบคู่ไปด้วย
โฮลเทลยังมีอนาคต?
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วธุรกิจโฮสเทลยังหอมหวานหรือไม่ ถ้าพิจารณาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2561 พบว่า ประเทศไทยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 38.3 ล้านคน หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากนักท่องเที่ยวในช่วงอายุ 25 ถึง 34 ปี (กลุ่มมิลเลนเนียล) จากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คิดเป็นกว่า 28% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามายังประเทศไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 12.5% ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2560 ขณะที่กลุ่มอายุอื่นอยู่ที่ 9% เท่านั้น
ดังนั้นตราบที่กลุ่มมิลเลนเนียลยังครองตลาดท่องเที่ยว โฮสเทลก็ยังเติบโตได้ แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ถ้าอยากยืนหนึ่งในใจนักท่องเที่ยว จำเป็นต้องปรับตัวอยู่เสมอ…