เดินหน้าโครงการ ‘ชลประทานอัจฉริยะฯ ระยะที่ 1’ แก้ปัญหาแบ่งจ่ายน้ำ-เพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ
กรมชลประทาน เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการชลประทานอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ระยะที่ 1
โดยดำเนินการในพื้นที่ “โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน” ที่มีพื้นที่จัดการน้ำราว 45,000 ไร่ มุ่งแก้ไขปัญหาการแบ่งจ่ายน้ำและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำสู่การเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ (Water Productivity) ที่สูงขึ้น

โครงการฯ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย:
- งานพัฒนาระบบ “จัดการการเพาะปลูกอัจฉริยะ (SMART FARM)” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และ IoT พร้อมจัดรูปแปลงและปรับปรุงระบบส่งน้ำแบบ Onfarm แบบอัตโนมัติ เพื่อจัดการน้ำและปุ๋ยแก่พืชตลอดฤดูการเพาะปลูก ในพื้นที่แปลงสาธิตจำนวนกว่า 10 ไร่
- งานพัฒนา “ระบบควบคุม” การแบ่งจ่ายน้ำอัจฉริยะ จากอาคาร Outlet ไปยังระบบคลองส่งน้ำหลัก เพื่อแบ่งจ่ายน้ำสู่พื้นที่จัดการน้ำ โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกลในอาคาร Outlet อุปกรณ์ควบคุมอาคารบังคับน้ำปากคลอง LMC และ RMC รวมทั้งคลอง 4L-RMC และคลองส่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง
- งานพัฒนา “ระบบชลประทานอัจฉริยะ” เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีการวัดระยะไกล และ IoT หรือระบบ “RID Meesuk” พร้อมจัดรูปแปลงและปรับปรุงระบบส่งน้ำแบบ Onfarm ในพื้นที่จัดการน้ำเพื่อการเกษตรนำร่อง 337 ไร่
- การส่งเสริม “วิธีการเพาะปลูกพืช” และการจัดการน้ำอย่างเหมาะสม โดยการเตรียมแปลงเพาะปลูก การเตรียมดินเพื่อการปลูกข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวหอมปทุมธานี 1 ข้าวกข41 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น และพืชหลังฤดูกาล เช่น ปอเทือง กระจับ และถั่วเหลือง
ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ:
- “ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น” จากการจัดการน้ำและการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม
- “รายได้เพิ่มขึ้น” จากการปลูกพืชเศรษฐกิจเสริมหลังฤดูเพาะปลูกและสร้างรูปแบบการทำเกษตรกรรม
- เกษตรกรได้รับน้ำเข้าแปลงนาตรงเวลา
- ลดความขัดแย้งในการใช้น้ำของกลุ่มเกษตรกร
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังสามารถขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ชลประทานควบคู่กับการส่งเสริมเชิงพาณิชย์ เช่น
- การพัฒนาตลาดข้าวเพื่อการปศุสัตว์
- การพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปและการตลาดดิจิทัลในพื้นที่โดยใช้โมเดล BCG และวิสาหกิจเพื่อสังคม
สำเร็จ! ‘ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน’ ได้กว่า 103,056,000 ตัว
กรมประมง เผยความสำเร็จของโครงการ “ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน” ที่ได้ดำเนินการมากกว่า 3 ปี เพื่อพัฒนาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่หนองหาร จ.สกลนคร, กว๊านพะเยา จ.พะเยา และบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ พบว่า

- เพิ่มจำนวนประชากร “ปลาไทยประจำถิ่น” ได้ถึง 103,056,000 ตัว
- ประชาชนในชุมชนโดยรอบแหล่งน้ำกว่า 49 ชุมชน ได้ใช้ประโยชน์ในการทำประมง
- สร้างรายได้กว่าปีละ 10.31 ล้านบาท
- ต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ภายใต้โครงการ “ปล่อยปลาลงทุ่ง” ในช่วงฤดูน้ำหลากกว่า 15 พื้นที่ลุ่มต่ำและลุ่มเจ้าพระยา
สำหรับการดำเนินโครงการในปี 66 ได้ริเริ่มดำเนิน “โครงการปล่อยปลาลงทุ่ง” เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งสุโขทัย ทุ่งบางระกำ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง ประกอบด้วย
- ทุ่งบางระกำ
- ทุ่งเชียงราก
- ทุ่งชัยนาท-ป่าสัก (ฝั่งซ้าย)
- ทุ่งท่าวุ้ง
- ทุ่งบางกุ่ม
- ทุ่งป่าโมก
- ทุ่งบางกุ้ง
- ทุ่งบางบาล-บ้านแพน
- ทุ่งผักไห่
- โครงการชลประทานโพธิ์พระยา
- ทุ่งเจ้าเจ็ด
- โครงการชลประทานพระยาบันลือ
- โครงการชลประทานรังสิตใต้
ทั้งนี้ การดำเนินการ 2 โครงการดังกล่าว จะช่วยฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ และสร้างความมั่นคงของแหล่งอาหารชุมชน สร้างอาชีพสร้างรายได้จากการทำประมงของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรประมงจนเกิดความยั่งยืน
พัฒนาแอปฯ ‘ไทยมีงานทำ’ เพิ่มความสะดวกให้ ปชช. ครบจบในแอปฯ เดียว
กรมการจัดหางาน ได้พัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน “ไทยมีงานทำ” ให้มีฟังก์ชันครบครัน โดยเฉพาะ “การขึ้นทะเบียนว่างงาน” ให้สามารถใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือได้

เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ “กำลังว่างงาน” ไม่มีรายได้ สามารถใช้บริการได้สะดวก รวดเร็ว และรับเงินชดเชยกรณีว่างงานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางติดต่อราชการ
นอกจากนี้ ระบบยังรองรับการรายงานตัว ติดตามสถานะการจ่ายเงิน และสามารถตรวจสอบประวัติการขึ้นทะเบียนได้ในช่องทางเดียวกัน
รวมทั้ง สามารถอัปโหลด “หน้าบัญชีเงินฝากธนาคาร” หรือเลือกรับเงินผ่านพร้อมเพย์ (เลขบัตรประชาชน) แทนการเดินทางไปยื่นเอกสารที่สำนักงาน
สำหรับประชาชนที่ไม่สะดวกใช้งานผ่านระบบออนไลน์ สามารถใช้บริการได้ที่:
- สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
- สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
- สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
- สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
ไทยเนื้อหอม! เอกชนเกาหลีใต้ บินตรงหารือบีโอไอ สนใจลงทุนอุตสาหกรรม EV
บีโอไอ เผยว่าเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 66 นายกเทศมนตรีเมืองยองกวาง (เมืองที่มีอัตราการใช้รถยนต์ สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของเกาหลีใต้) พร้อมคณะภาคเอกชนจากสมาคมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเกาหลีใต้กว่า 20 ราย ได้เดินทางมาหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงโอกาสการร่วมลงทุนกับพันธมิตรบริษัทไทย

เนื่องจากภาคเอกชน EV เกาหลีใต้ เห็นว่า “ไทยเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรม EV ของภูมิภาค” มีห่วงโซ่อุปทานของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ครบวงจร แนวโน้มตลาด EV ในไทยมีการเติบโตสูงที่สุดในอาเซียน จึงสนใจเดินทางมาศึกษาและหารือโอกาสร่วมลงทุนกับพันธมิตรบริษัทไทย โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและรถเชิงพาณิชย์ที่ใช้สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์
ทั้งนี้ ไทยและเกาหลีใต้เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญมายาวนาน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 61 – มิ.ย. 66) เกาหลีใต้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วรวม 144 โครงการ มูลค่ากว่า 58,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ และดิจิทัล
หากมีการลงทุนในอุตสาหกรรม EV จากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้อุตสาหกรรม EV ของไทย มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตอบโจทย์การใช้งานในหลายรูปแบบ
บสย. เร่งขยายฐาน Start up สายกรีนในงาน ‘Plant Based Festival 2023’
นายกิตติพงษ์ บุรณศิริ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมงาน “Plant Based Festival 2023” มหกรรมอาหารแห่งอนาคต พร้อมต้อนรับ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร ประธานเปิดงาน ในโอกาสเยี่ยมชมบูธ บสย. พร้อมร่วมพูดคุยแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านแหล่งทุน สำหรับผู้ประกอบการ Start up

โดย บสย. ส่งทีมที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ Start up วงเงินค้ำเริ่ม 10,000 – 100,000 บาท และ Small Biz วงเงินค้ำเริ่มต้น 10,000 – 200,000 บาท ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs เข้มแข็ง (PGS10) ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำ 2 ปี ให้กับผู้ประกอบการ Start up ที่ต้องการเงินทุนภายในงาน
พร้อมขึ้นเวทีสร้างการรับรู้บทบาทและภารกิจของ บสย. ภายใต้แนวคิด “บสย. พร้อมค้ำฯ นวัตกรรมอาหาร ปั้น Start up Plant Based สร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่” ภายในงานพบนวัตกรรมอาหารจากพืชรูปแบบใหม่ ผลงานวิจัยจาก 3 สถาบันการศึกษาชื่อดัง และผลงานการพัฒนานวัตกรรมอาหารจากหน่วยงานวิจัยภาครัฐ ที่พร้อมให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจด้วย และสินค้าแฟชั่นรักษ์โลกเอาใจสาย Vegan กับ 5 แบรนด์รักษ์โลก อาทิ Marionsiam, ขวัญหวาน, Maddy Hopper, Keapaz และ SETS และผลิตภัณฑ์ Plant Based จากเหล่าคนดัง อาทิ คุณเอมี่ กลิ่นประทุม กับแบรนด์ Planto Monster ผลิตภัณฑ์ Plant Based Protein จากพืช ที่มาร่วมออกบูธ ระหว่าง 1-3 กันยายน 2566 ณ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์