กกร.แสดงความกังวลเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอาจขยายตัวต่ำกว่าคาด จากการขาดปัจจัยหนุน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนัก จี้รัฐบาลเร่งหามาตรการแก้ไข ประเมิน GDP ทั้งปี 2.9% – 3.3% ส่งออกคาดติดลบ1.0% – 1.0% ส่วนเงินเฟ้อประเมินอยู่ที่ 0.8%-1.2%
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดประชุมรอบเดือน ก.ย.62 โดยมีตัวแทนทั้ง 3 หน่วยงานประกอบด้วยนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย, นายกลินทร์ สานสิน ประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม ร่วมแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นวาระประชุม
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนแรกของช่วงครึ่งปีหลัง แรงส่งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ ยังคงหดตัว ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนยังอยู่ในภาวะทรงตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากช่วงครึ่งปีแรก แม้การท่องเที่ยวจะขยายตัว แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน
หากมองไปในช่วงที่เหลือของปี 62 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยกดดัน ทั้งจากภาคต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และปัญหาการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ความเสี่ยงจากประเด็น Brexit รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยโดยตรง
ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภายในประเทศก็ถูกกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และล่าสุดเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิม ช้อป ใช้ รวมถึงมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญๆ อาจมีแรงบวกที่จะสามารถชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันข้างต้น
นอกจากนี้ อานิสงส์จากการที่ภาครัฐเตรียมจะออกมาตรการเพื่อดึงดูดการย้ายฐานการลงทุนจากผลกระทบเรื่องสงครามการค้า ก็อาจต้องใช้เวลา และคงจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจที่มากพอสำหรับนักลงทุน ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องค่าเงินด้วย
ที่ประชุม กกร. จึงมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดปัจจัยหนุน และมีโอกาสมากขึ้นที่ทั้งปี 62 เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ ยังกังวลต่อเรื่องเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีกหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกและการลงทุนของไทย จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว
ด้าน นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุดปรับตัวลดน้อยลง เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าเทียบกับค่าเงินหยวนกว่า 10% หากเทียบแบบ YTD ขณะที่ค่าเงินดองของเวียดนามยังอยู่ในช่วงทรงตัว ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหันไปเที่ยวประเทศเวียดนาม และประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งหากปัญหาเงินบาทแข็งค่านานอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย
ทั้งนี้ กกร. จะติดตามและทบทวนประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจต่าง ๆ อีกครั้งในเดือนหน้า โดย กกร.ได้ประเมิน GDP ปี 62 อยู่ระหว่าง 2.9-3.3 ขณะที่ตัวเลขการส่งออกคาดว่าจะอยู่ระหว่าง -1.0-1.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดอยู่ที่ระดับ 0.8-1.2