เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือน ก่อนพลิกแข็งค่ากลาง-ปลายสัปดาห์ ตามทิศทางเงินหยวนหลัง PMI จีนแข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามสัญญาณจากประธานเฟด (7-8 มี.ค.) หลังปรับตัวรับโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดไปมากแล้ว SET Index ร่วงลงตลอดสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบหลักๆ มาจากความกังวลว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย และตัวเลขส่งออกไทยที่หดตัวมากกว่าคาด
สำหรับภาวะเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (6-10 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน จาก ADP เดือนก.พ.

ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนม.ค.-ก.พ. ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. ของจีนด้วยเช่นกัน
ขณะที่ตลาดทุนสัปดาห์ถัดไป (6-10 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,575 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,620 และ 1,630 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย ถ้อยแถลงของประธานเฟด ประเด็นการเมืองภายในประเทศ รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนก.พ. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค