“ศาลรัฐธรรมนูญ” เลื่อนวินิจฉัย ปมมติรัฐสภาขวางชงชื่อ ‘พิธา’ โหวตนายกฯซ้ำ
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 เวลา 09.30 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ รอบสอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาเรื่องพิจารณาที่ ต. 24/2566 กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กรณีรัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัย (เพิ่มเติม) ของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 27 ก.ค.2566 แล้วมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบแล้ว
เห็นว่า คำร้องนี้มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและมีประเด็นเชิงหลักการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม จึงให้เลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้อง และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
สำหรับคำขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ให้รอสั่งในคราวเดียวกันกับการพิจารณาสั่งคำร้อง
ทั้งนี้ให้ผู้ร้องระบุสถานะบุคคลของคณะผู้ร้องเรียนที่ 3 ทุกรายว่า เป็นประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภา โดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566 ให้นัดพิจารณาคำร้องนี้ในวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 19.30 นาฬิกา
“วันนอร์”สั่งเลื่อนโหวตนายกฯ รอศาล รธน.ชี้คำร้องผู้ตรวจฯ เอาวาระแก้ รธน.ขึ้นมาก่อน
เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง เป็นการกระทำที่เข้าข่ายยื่นญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 หรือไม่

โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคมว่า สำหรับการประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.)
ทั้งนี้คงต้องเลื่อนวาระโหวตรัฐมนตรีออกไป และจะนำระเบียบวาระที่ 2 เรื่องการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกแทน ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรี คงต้องรอหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะมีคำสั่งอย่างไร ในวันที่ 16 ส.ค.นี้อีกครั้ง
“จุรินทร์” เผยประชาธิปัตย์ยังไม่คุยตั้งรัฐบาลกับ “เพื่อไทย”
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกระแสข่าวจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยว่า ยังไม่ได้มีการพิจารณา เพราะการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคใด สมัยใด พรรคมีข้อบังคับอยู่ จะต้องผ่านมติที่ประชุม สส. และคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประชุมกัน

ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เคยมอบหมายใครให้ไปเจรจาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ส่วนกระแสข่าวว่า จะมี สส. บางส่วนจะไปร่วมรัฐบาล และบางส่วนจะไม่เข้าร่วม ยังไม่เคยได้ยิน
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยจะเป็นการเสียอุดมการณ์หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่ายังไม่ได้แปลว่าจะไปร่วมหรือไม่ร่วม ขอให้เป็นมติที่ประชุมพรรค ขอไม่ออกความเห็น พรรคก็มีอุดมการณ์ เชื่อว่าผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์มีศักดิ์ศรี การจะดำเนินการทางการเมืองใดๆ ต้องเป็นความเห็นของที่ประชุมพรรค เหมือนที่เราเคยปฏิบัติมาในทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนปัจจัยที่จะทำให้ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ขอไม่ให้ความเห็นคนเดียว ให้ที่ประชุมเป็นผู้พิจารณา หัวใจสำคัญคือเรื่องมาตรา 112 และหลักการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมพรรคจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ
“พรรคเป็นธรรม” พร้อมจับมือ “ก้าวไกล” เป็นฝ่ายค้าน
กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่าพรรคพร้อมสนับสนุนพรรคก้าวไกล และพร้อมเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล ตามที่เคยประกาศไว้ พรรคเป็นธรรมยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่วนการใช้สิทธิโหวตนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 4 สิงหาคมนั้น ตนจะใช้เอกสิทธิ์ 1เสียง เลือก นายกฯ ตามมติของประชาชน

กรณีที่พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมกับพรรคอื่น ที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ ตนไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ เพราะเท่ากับเป็นการคืนอำนาจให้กับเผด็จการ พรรคเป็นธรรมจึงไม่สามารถเข้าร่วม เพราะไม่ต้องการร่วมสืบทอดอำนาจให้เผด็จการ
ทั้งนี้กัณวีร์ ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวด้วยว่า ตนได้รับโทรศัพท์จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แจ้งผลการประชุมระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลแล้ว โดยการจัดตั้งรัฐบาลครั้งใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกล
“ก้าวไกล” ขอสภาฯแบ่งโควต้ากรรมาธิการ 35 คณะ ไม่ต้องรอจัดตั้งรัฐบาล
พริษฐ์ วัชร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือว่าขอให้พิจารณานัดประชุมตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อประชุมแบ่งโควต้ากรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ 35 คณะโดยไม่ต้องรอให้การจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย เหมือนที่เคยปฏิบัติ

เนื่องจาก สภาผู้แทนราษฎรมีวาระที่ต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน ดังนั้นกลไกของกมธ.จะช่วยแก้ปัญหาได้ อีกทั้งกลไกของสภาฯ แยกส่วนจากรัฐบาล อีกทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งกับพรรคการเมืองว่าสามารถแบ่งสัดส่วนกมธ.ตามพรรคการเมืองได้
ด้านสุธรรม แสงประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายคัดค้านเนื่องจากมองว่ากระบวนการของกมธ. ควรยึดประเพณีหลังจากที่ตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ อย่างไรก็ดีตนเห็นด้วยกับข้อกังวลของสส.ก้าวไกล แต่มองว่าควร
ขณะที่จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ ปี2562 ซึ่งบังคับใช้มาโดยอนุโลมมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ตนมองว่าควรตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขโดยเฉพาะข้อ90 ว่าด้วยกมธ.สามัญ ว่าจะมีจำนวนกี่คณะก่อน
อย่าไรก็ดีมีความเห็นแย้งจากณัฐวุฒิ บัวประทุม มองว่าการบังคับใช้ข้อบังคับการประชุมดังกล่าวเป็นฉบับถาวร และที่ผ่านมาไม่เคยมีการเสนอแก้ไข หรือเสนอญัตติแก้ไข ดังนั้นตนมองว่าควรแจ้งให้วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เร่งนัดประชุมตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อหารือต่อการแบ่งจำนวนกมธ.สามัญให้กับแต่ละพรรคการเมือง